xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มทรู มองธุรกิจ IoT ทำให้เกิดการแข่งขันของโอเปอเรเตอร์ที่แท้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“วิเชาวน์” เอ็มดีร่วมทรู ฉายภาพการแข่งของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือว่ากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากผู้บริโภคที่ใช้งานทั่วไป เข้าสู่ยุคของ IoT ที่จะเกิดขึ้นจากการที่แต่ละภาคธุรกิจจะนำการเชื่อมต่อไปใช้ ส่งผลให้ในระยะยาวปริมาณซิมจะเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด เซ็นเอ็มโอยู กรมการขนส่งทางบก นำ Bussiness IoT SIM พ่วงระบบ GPS เป็นทางเลือกในโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS”

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ (ขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงภาพรวมการแข่งขันของผู้ให้บริการในปัจจุบันว่า ในช่วงที่ผ่านมา โอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะแข่งขันกันในแง่ของการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เครือข่ายมีเสถียรภาพรองรับการใช้งานของผู้ประกอบการ OTT

แต่จากการมาของ IoT รวมถึง IoE ที่พึ่งการใช้งานโครงข่ายตามแต่ละอุตสาหกรรมในลักษณะแนวดิ่ง (Verticle Industry) ที่จะนำ IoT เข้าไปใช้งาน ด้วยการนำซิมการ์ดไปใส่ในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มาช่วยการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม

“เมื่อเข้าสู่ยุคของ IoT จากสถิติจำนวนผู้ใช้งานเลขหมายโทรศัพท์มือถือ เทียบกับจำนวนประชากรที่ 130% ในปัจจุบัน ก็จะเติบโตขึ้นแบบหลายเท่าตัว จากในปัจจุบันที่มีประชากร 60 ล้านคน ที่ใช้งานระดับ 90 ล้านเลขหมาย ก็จะเพิ่มขึ้นไปหลายร้อยล้านเลขหมายในอนาคต”

อย่างในภาคการขนส่ง ก็จะมีการนำ IoT ไปใช้ควบคู่กับระบบ GPS ในการระบุตำแหน่งของรถยนต์สาธารณะต่าง ๆ ในภาคการเงินการธนาคารที่จากเดิมนำซิมไปใช้เฉพาะการเชื่อมต่อตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องชำระบัตรเครดิตพกพา ก็จะถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์อื่น ๆ มากขึ้น

เมื่อทุกอุตสาหกรรมหันมาใช้งาน IoT ก็จะเป็นโอกาสดีของโอเปอเรเตอร์ที่ผู้ให้บริการ OTT ทั้งหลายไม่สามารถเข้ามาแย่งการใช้งานได้ ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการในระยะยาว และเป็นเทรนด์ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วจากผู้ให้บริการทั่วโลก

ขณะเดียวกัน จากการที่กลุ่มทรู มีการนำ IoT มาให้บริการ ล่าสุด จึงได้มีการทำบันทึกความตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสารตามโครงการ มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ระหว่างกรมการขนส่งทางบก และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นทางเลือกให้นำระบบ GPS ไปใช้งาน

นายสนิท พรหมวงษ์ (ซ้าย) อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันในภาคการขนส่งของประเทศไทยมีจำนวนรถบรรทุกราว 5 แสนคัน รถโดยสารสาธรณะราว 2 แสนคัน และรถแท็กซีราว 1 แสนคัน ที่กรมการขนส่งทางบกเริ่มบังคับให้ติดตั้งระบบ GPS และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562

โดยก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบกได้เริ่มดำเนินการให้รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกตั้งแต่สิบล้อขึ้นไป ต้องติดตั้ง GPS Tracking ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นมา และพบว่า ความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุก ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้

ส่วนรถแท็กซี่ ภายใต้โครงการอย่าง Taxi OK และ Taxi VIP จะเริ่มโครงการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งก็จะมีรถสาธารณะทยอยเข้ามาติดตั้ง ในช่วงที่ต่อทะเบียนรถ ไม่นับรวมกับรถโดยสารสาธารณะแบบนิติบุคคลรายย่อย ทำให้เชื่อว่า เป้าหมายการติดตั้ง GPS ในรถ 1 ล้านคันจะสามารถทำได้

ทั้งนี้ ในแง่ของความร่วมมือกลุ่มทรู ได้นำเสนอศักยภาพเครือข่ายทรูมูฟ เอช 4G+ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ GPS Tracking ในการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลออนไลน์ของศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กลาง และเติมเต็มการใช้งานในยุคดิจิทัลให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามการเดินรถผ่าน Application : DLT GPS

พร้อมนำเสนอโซลูชันที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการธุรกิจขนส่งได้อย่างคล่องตัว และช่วยบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย Business IoT SIM ที่จะมีค่าใช้จ่ายราวเดือนละ 500 บาท เพื่อนำอุปกรณ์ GPS และกล้อง เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลกลางที่จัดเก็บบนระบบคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์

ที่ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการ IoT SIM ได้ด้วยตัวเอง และยังมีโซลูชันTrue Smart Transport with DLT ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมการขนส่งทางบก ให้บริการ GPS Tracking มีอุปกรณ์ติดตั้งครบชุด สามารถบันทึกภาพความละเอียดสูง จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ พร้อมมีระบบแจ้งเตือน และระบบการรายงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจลอจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการไทยในยุคดิจิทัลได้อย่างครบวงจร
กำลังโหลดความคิดเห็น