xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเทรนด์มือถือจาก TME2017เมื่อแบรนด์ขนจอยาว-กล้องคู่ประชันกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ย้อนกลับไปมองตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้น คือ เรื่องเทรนด์ของการนำกล้องคู่มาใส่ไว้บนมือถือ เพื่อช่วยให้การถ่ายภาพจากมือถือสามารถทำหน้าชัดหลังเบลอได้ รวมถึงการเพิ่มรายละเอียดจากเซ็นเซอร์ของภาพขาว-ดำ และภาพมุมกว้าง

ทำให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้นำนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล หัวเว่ย ต่างเข็นสมาร์ทโฟนที่มีกล้องคู่ออกมาแข่งขันกัน ตามด้วยแบรนด์รองอย่างโมโตโรล่า โนเกีย รวมถึงแบรนด์จากจีนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นออปโป้ วีโว่ เสี่ยวมี่ ที่เริ่มนำกล้องคู่มาใส่ในสมาร์ทโฟนเช่นเดียวกัน

กับอีกเทรนด์ที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงนี้ คือ เรื่องของจอแสดงผลในอัตราส่วน 18:9 ซึ่งซัมซุง กลายเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่นำสัดส่วนจอดังกล่าวออกมาใช้งานบน Samsung Galaxy S8/S8+ และทำให้ผู้บริโภคเริ่มรู้จักกันในวงกว้าง รวมถึง LG G6 ที่เปิดตัวออกมาในช่วงใกล้เคียงกัน แต่เพิ่งได้ฤกษ์เข้ามาทำตลาดในไทย

โดยเสียงตอบรับส่วนใหญ่ในช่วงแรกจะกลับมองว่า จอในสัดส่วน 18:9 หรือ 18.5:9 ทำให้รูปลักษณ์ของสมาร์ทโฟนเปลี่ยนไปแข่งกันยาวขึ้น แทนที่จะกว้างออกทางด้านข้างเพื่อให้จอใหญ่ แต่กลับเป็นว่า สัดส่วนดังกล่าวกลับได้รับความนิยมมากขึ้น จากการขยายจอให้รับกับคอนเทนต์วิดีโอสมัยใหม่ที่มากับสัดส่วน 16:9 ทำให้รับชมวิดีโอได้เต็มจอมากขึ้น

เมื่อเป็นเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในฝั่งของผู้ผลิตจอภาพก็ผลักดันอย่างเต็มที่ให้จอดังกล่าวออกสู่ตลาด ทำให้เห็นได้ว่า ในช่วงนี้แบรนด์สมาร์ทโฟนในช่วงราคาประมาณ 1 หมื่นบาท เริ่มนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใส่ จากจอแสดงผลที่เรียกว่า FullVision

ทำให้ FullVision กลายเป็นคำที่ได้ยินบ่อยขึ้น ต่อจาก Infinite Display บน Galaxy S8 เมื่อสมาร์ทโฟนทุกแบรนด์ที่เร่งเปิดตัวสินค้าอย่างเป็นทางการในไทย เพื่อให้ทันมาจำหน่ายภายในงานไทยแลนด์โมบายเอ็กซ์โป ที่จะเป็นโค้งสุดท้ายของปีนี้ ที่เหล่าแบรนด์ และโอเปอเรเตอร์ จะได้แข่งกันทำโปรโมชั่นมานำเสนอ

โอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด ผู้จัดงาน Thailand Mobile Expo 2017 ครั้งที่ 28 ให้ความเห็นในไปทิศทางเดียวกันว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีการเปิดรับวิดีโอคอนเทนต์มากขึ้น ทำให้สมาร์ทโฟนจอกว้างกลายเป็นที่นิยม และผู้บริโภคหันมาเลือกใช้งานมากขึ้น

เช่นเดียวกับเรื่องของกล้องคู่ที่กลายเป็นว่า เมื่อผู้บริโภคได้ลองใช้ จะพบถึงความต่างในการใช้งาน และทำให้ไม่อยากกลับไปใช้งานในรูปแบบเดิม ๆ ที่สำคัญ คือ เมื่อทุกแบรนด์ต่างนำเทคโนโลยีมาใส่ในเครื่องระดับราคาที่จับต้องได้ ทำให้กลายเป็นจุดน่าสนใจของงานในครั้งนี้

'ในงานนี้จะเห็นเทรนด์ของกล้องคู่ และจอในสัดส่วน 18:9 ที่มีให้เลือกตั้งแต่เครื่องระดับราคาไม่ถึง 1 หมื่นบาท ไปจนถึงในรุ่นไฮเอนด์ระดับ 3 หมื่นบาท ที่กลายเป็น 2 ตลาดหลักของงานในครั้งนี้ ผู้บริโภคที่อยากได้สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ก็จะหันมาเล่นเครื่องในระดับหมื่นบาทมากขึ้น'

***คาดเงินสะพัดภายในงานแตะ 2,000 ล้านบาท

โอภาส กล่าวต่อว่า จากการที่สภาพตลาดรวมของมือถือในปีนี้ที่ค่อนข้างซบเซา ทำให้แต่ละแบรนด์ต่างมีการทำโปรโมชั่น ในการขายเครื่องให้แก่ดีลเลอร์เพื่อทำราคา ทำให้ดีลเลอร์แต่ละรายคาดหวังในงานครั้งนี้มาก จนทำให้ในงานจะค่อนข้างฮาร์ดเซลมากขึ้นกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

ประกอบกับการที่โอเปอเรเตอร์เริ่มเปลี่ยนวิธีการจำหน่ายสมาร์ทโฟนจากเดิมที่ต้องซื้อเครื่อง พร้อมผูกแพกเกจใช้งาน มาเป็นการเซ็นสัญญาว่าจะอยู่กับเครือข่ายต่อไปขั้นต่ำ 6 เดือน ก็จะได้ส่วนลด 3,000-4,000 บาท ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น

ไม่นับรวมกับบัตรเครดิตที่มีการทำโปรโมชั่นทั้งผ่อน 0% สูงสุดถึง 36 เดือน รวมถึงการแลกแต้มบัตรเครดิตรับส่วนลดเพิ่มสูงสุดถึง 20% ยิ่งทำให้ผู้ที่มีบัตรเครดิตตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้น แต่ละดีลเลอร์ที่เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้จึงคาดหวังค่อนข้างมาก

'คาดว่า ยอดเงินสะพัดภายในงานครั้งนี้จะเพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วประมาณ 10% หรือจากเดิมประมาณ 1,800 ล้านบาท จะเป็น 2,000 ล้านบาทในครั้งนี้ ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกในรอบสิบปีที่กลับมาแตะระดับ 2,000 ล้านบาท จากยอดผู้เข้าชมงานประมาณ 6 แสนราย'

***หัวเว่ย เชื่อสุดท้ายตลาดเหลือไม่เกิน 5 แบรนด์

ขณะเดียวกัน ในมุมของหัวเว่ย ให้ความเห็นที่น่าสนใจจากการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนช่วงนี้ว่า มีการแข่งขันที่ดุเดือดในทุกระดับราคา ทำให้เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว จะเหลือแบรนด์ใหญ่ที่อยู่รอดในตลาดไม่เกิน 5 แบรนด์ที่จะกลายเป็นตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภค

ทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าสังเกตตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงหลัง ๆ จะพบว่า แต่ละแบรนด์เริ่มมีสัดส่วนตลาดที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยเฉพาะในอันดับที่ 2-5 ที่มีการสลับขึ้นลงตามยอดขายในแต่ละเดือน

'ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว ในตลาดสมาร์ทโฟนจะเหลือแบรนด์หลัก ๆ อยู่ประมาณ 5 แบรนด์เท่านั้น ส่วนแบรนด์อื่น ๆ ถ้ายังอยู่รอด ก็จะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีฐานคนใช้กลุ่มเดิม ๆ อยู่ ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็จะตัดสินใจเลือกจากนวัตกรรม และการตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า'



***ตรึงราคา โอเปอเรเตอร์ ไม่ลดไปกว่านี้

ด้านปริศนา รัตนสุวรรณศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจโพสต์เพด กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวถึงการทำโปรโมชั่นลดราคาเครื่องของโอเปอเรเตอร์ที่เกิดขึ้นภายในงานครั้งนี้จะพบว่า แต่ละรายจะไม่ทำราคาลดค่าเครื่องสูงเหมือนครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่จะปรับแนวเป็นการให้มูลค่าเสริมจากบริการอื่น ๆ แทน

โดยให้เหตุผลว่า เมื่อโอเปอเรเตอร์แต่ละรายต่างเจ็บตัวจากการลดราคาค่าเครื่อง และทำให้อุตสาหกรรมไม่เติบโต แต่ละรายจึงกลับมาคุมระดับราคาส่วนลดให้อยู่ในแนวทางปกติ ซึ่งทางผู้บริโภคก็จะได้รับความคุ้มค่าทั้งจากแพกเกจที่ใช้งาน และหรือการนำเบอร์มงคลมาพ่วงด้วยแทน

ทำให้ในงานครั้งนี้ส่วนใหญ่ การทำโปรโมชั่นส่วนลดสูงสุดจะอยู่ที่ราว 1 หมื่นบาท โดยจะรวมทั้งส่วนลดค่าเครื่อง และส่วนลดค่าบริการที่ชำระล่วงหน้า โดยเฉพาะใน iPhone 7 และ iPhone 7 Plus ที่ปรับราคาตามการมาของ iPhone 8 ที่เปิดตัว และวางจำหน่ายแล้วในต่างประเทศ



***โนเกีย สร้างสีสันด้วย 3310

อีกตลาดที่น่าสนใจ คือ การกลับมาทำตลาดฟีเจอร์โฟนของ HMD Global บริษัทแม่ของ โนเกีย (Nokia) ที่ใช้พื้นที่ภายในงานเปิดตัวฟีเจอร์โฟนอย่าง 3310 ที่รองรับการใช้งาน 3G โดยระบุว่าจะเริ่มจำหน่ายในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2560 ในราคา 1,790 บาท

ซานดีฟ กุพทา ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค เอชเอ็มดีโกลบอล กล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ 3310 เข้ามาทำตลาด เนื่องจากมองเห็นว่า ผู้บริโภคในไทยมีความต้องการใช้งาน และเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี

เบื้องต้น โนเกียจะเปิดให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนให้ความสนใจผ่านหน้าเว็บไซต์ก่อน ซึ่งยังไม่ระบุชัดเจนว่า เมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ เพิ่มเติมจากการเข้าไปซื้อตามช่องทางจำหน่ายปกติในช่วงกลางเดือนตุลาคม
มร.ซานดีฟ กุพทา ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล


***จีโอนี ขอเวลา 1 ปี เป็นที่รับรู้ในประเทศไทย

หยู ป่าวชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีโอนี ไทยแลนด์ ให้ข้อมูลว่า ในประเทศจีน จีโอนีถือเป็น 1 ใน 4 แบรนด์สมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมใกล้เคียงกับหัวเว่ย ออปโป้ และวีโว่ ทำให้เชื่อว่า เมื่อ 3 แบรนด์ดังกล่าวสามารถเข้ามาทำตลาด และประสบความสำเร็จในประเทศไทย ก็จะขาดจีโอนีไปไม่ได้

โดยทางจีโอนี ตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 1 ปีจะกลายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครับรู้ ขณะที่เป้าหมายของการทำตลาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้ 2% หลังจากเริ่มทำตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการทุ่มงบประมาณราว 120-150 ล้านบาท เพื่อทำตลาด และเพิ่มช่องทางจำหน่าย

ปัจจุบัน จีโอนีวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนแล้ว 4 รุ่น ประกอบไปด้วย X ซีรีส์ 2 รุ่น และ A ซีรีส์อีก 2 รุ่น พร้อมกับในเดือนพฤศจิกายน จะเพิ่มรุ่นไฮไลท์อย่าง M7 Power ที่มากับจอ Full View และกล้องคู่ เพื่อให้ครอบคลุมระดับราคาตั้งแต่ 4,990-11,990 บาท

ทั้งนี้ งานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป 2017 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 28 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 28 กันยายน-1 ตุลาคม 2560 ระหว่างเวลา 10.00-20.00 น.
แต้ว ณฐพร พรีเซนเตอร์ Gionee และ คุณหยู ป่าวชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Gionee

กำลังโหลดความคิดเห็น