สำนักงาน กสทช. ลงนามโครงการเน็ตชายขอบแล้ว 8 สัญญา เร่งเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้ ย้ำคิดอัตราค่าบริการไม่เกินเดือนละ 200 บาท พร้อมเดินหน้าประมูลเน็ตในที่ห่างไกลวงเงิน 13,000 ล้านบาท เดือน พ.ย. นี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามในสัญญาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา วงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการหลังจากที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติโครงการ และให้เร่งดำเนินการจ้างบริการ เพื่อให้เปิดใช้งานได้ตามเป้าหมายภายในปีนี้ โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการจะสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30/10 Mbps ได้ในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ จะมี USO แพกเกจรุ่นเล็ก ความเร็ว 15 Mbps ราคาไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน และ USO แพกเกจรุ่นจิ๋ว ความเร็ว 10 Mbps ราคาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยไม่เกิน Mbps ละ 10 บาท เพื่อให้บริการสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย และมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วต่ำกว่า 30 Mbps
ส่วนการให้บริการที่ไม่เสียค่าบริการเพื่อสาธารณะ ได้แก่ ไวไฟสาธารณะ 3,149 จุด เฉลี่ยหมู่บ้านละ 1 จุด อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหน่วยงานภาครัฐทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวม 1,317 แห่ง รวมทั้งมีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ 763 ศูนย์ พร้อมผู้ดูแลประจำศูนย์อย่างน้อย 1 คน ซึ่งทั้งหมดจะให้บริการฟรี ตลอดระยะเวลา 5 ปี
นายฐากร กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ต่ำกว่า 30 Mbps เปิดบริการไม่น้อยกว่า 588 หมู่บ้าน ภายในเดือน ธ.ค. 2560 และอีก 2,352 หมู่บ้าน ภายในเดือน เม.ย. 2561 ก่อนเปิดให้บริการครบ 100% ในเดือน ส.ค. 2561
สำหรับสัญญาแต่ละสัญญามีผู้ชนะการประกวดราคา ดังนี้
1. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,812,014,000 บาท
2. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบหมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,103,800,000 บาท
3. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์ เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบหมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,492,599,999 บาท
4. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบหมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,868,235,000 บาท
5. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,889,999,927 บาท
6. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 786,549,600 บาท
7. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 532,064,800 บาท
8. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 504,423,740 บาท
“การดำเนินโครงการเน็ตชายขอบครั้งนี้สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 624.93 ล้านบาท จากราคากลางโครงการ 13,614.62 ล้านบาท ผมเชื่อว่า โครงการนี้จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตราคาถูก และมีโอกาสเหมือนคนเมือง ถือเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักงาน กสทช. ในการดูแลผู้บริโภคอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม”
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับการประมูลโครงการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล จำนวนราว 14,000 หมู่บ้าน ภายใต้วงเงิน 13,000 ล้านบาท คาดว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะกำหนดราคากลางการประมูลมายัง กสทช. ในเดือน ต.ค. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดประมูลในช่วงเดือน พ.ย. และลงนามในสัญญาได้ในเดือน ม.ค. 2561 และคาดว่า การวางโครงข่ายจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2561 โดยในส่วนของราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะอยู่ในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือนหรือไม่ เนื่องจากต้องมีการคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์ และในด้านความสนใจในการลงทุนของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งการที่อินเทอร์เน็ตชายขอบ มีราคาค่าใช้บริการถูก เนื่องจากภาคเอกชนไม่มีแนวคิดไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยในพื้นดังกล่าวมีไม่มากนักด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตชายขอบ และอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล 2 โครงการของ กสทช. รวมกันจะมีมูลค่าสูงถึงราว 25,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ลงทุนอีกราว 15,000 ล้านบาท จะทำให้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สูงถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า การลงทุนครั้งนี้จะมีความคุ้มค่าในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่