xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอที จับมือ มจธ. ด้านเทคโนโลยี-นวัตกรรมรองรับไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงดีอี หนุน มจธ.-ทีโอที ร่วมมือวิชาการนำเทคโนโลยี-นวัตกรรมต่อยอดเชิงพาณิชย์ ขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 ที่บริษัท ทีโอที สำนักงานใหญ่ แจ้งวัฒนะ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับบริษัท ทีโอที โดยมี รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. และนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของการสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศไทย สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาส่งเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0

นายพิเชฐ รมว. ดีอี กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะสนับสนุนให้แผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2560-2564) หรือดิจิตอลไทยแลนด์ สู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาล โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนไปเร็วมาก ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลให้ไทยได้รับผลประโยชน์ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ดิจิทัลในการขับเคลื่อน

โดยการปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัล เกิดจากการบูรณาการจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนร่วมมือกันภายใต้นโยบาย “SIGMA” โดย “S (Security)” จะคอยปกป้อง คุ้มครองทั้งปัจเจกชน หน่วยงาน “I (Infrastructure)” โครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศ ที่สำคัญที่สุด คือ ส่วนที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น หมู่บ้านประชารัฐ “G (Government)” คือ การอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจทำงานได้ง่ายขึ้น ประชาชนก็เข้าถึงภาครัฐได้ดียิ่งขึ้น “M (Manpower)” หมายถึงกำลังคนที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นดิจิตอล 4.0 และสุดท้าย คือ “A (Application)” ที่มาเปิดโลกธุรกิจ อุตสาหกรรมประเทศไทย โดยมีแอปพลิเคชันเป็นสื่อกลาง ทั้งธุรกิจที่มีอยู่แล้วในตลาด และธุรกิจใหม่ ซึ่งความร่วมมือระหว่าง มจธ. และทีโอที จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับขีดความสามารถ เป็นการสร้างคนไทย 4.0 ที่มีคุณภาพที่มาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นดิจิทัล 4.0

รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นภารกิจด้านงานวิจัยที่มีคุณค่าและมีความหมาย สร้างนวัตกรรมที่นําไปสู่การพัฒนาประเทศ และการผลิตบัณฑิตที่เก่งและดีมีคุณภาพสู่สังคม ความร่วมมือกับทีโอที ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมชั้นนําของประเทศ ในวันนี้เป็นความร่วมมือที่นําเอาจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมาร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นวาระที่สําคัญในการวางรากฐานของประเทศในระยะยาว โดย มจธ. มีความพร้อมทั้งในส่วนขององค์ความรู้ และบุคลากร ในการสนับสนุนความร่วมมือทางด้านวิชาการ งานวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การเรียนการสอนเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัป และ Digital Entrepreneur และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมงานของทีโอที

นอกจากนี้ ตลอดเวลากว่า 3 ปี มจธ. มีความชัดเจนและต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะและบ่มเพาะผู้ประกอบการระดับนักศึกษา และบุคลากร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีศักยภาพพร้อมเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของสังคม ความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถพัฒนานักศึกษาเข้าสู่อุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนเชื่อมโยงการเรียนการสอนงานวิจัยให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล และนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมขยายฐานความร่วมมือ และใช้ประโยชน์ Co-working space ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นต้นแบบในการพัฒนานำเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางวิชาการ มาต่อยอดใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เป็นการกระจายความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลนำประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศแล้ว ยังมีเป้าหมายเป็นการพัฒนาและเพิ่มความแข็งแกร่งในการให้บริการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันให้กับทีโอที เพื่อให้ก้าวสู่ธุรกิจบริการดิจิทัลตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความร่วมมือนี้ จะเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์สู่ดิจิทัล โดยการพัฒนาหลักสูตร สร้างองค์ความรู้ ทั้งในด้านระบบงาน กระบวนการในการพัฒนาบุคลากรของประเทศ การพัฒนา ซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชัน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงกับตลาด นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อต่อยอดตอบโจทย์กลุ่มสตาร์ทอัป ส่งเสริมให้เกิดการกระจายความเจริญด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ภูมิภาคในการพัฒนาบุคลากรของประเทศ

รวมถึงการร่วมกันจัดตั้ง co-working space ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการ และแนวทางการประกอบธุรกิจปัจจุบันและอนาคต การสร้างโรดแมปงานวิจัยของกลุ่มสตาร์ทอัป เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชน และประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และข้อมูลงานวิจัยระหว่างบุคลากรของ มจธ. และทีโอที รวมถึงนักศึกษากลุ่มสตาร์ทอัป ที่มีแนวโน้มที่จะเริ่มกิจการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีที่เพิ่มโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาให้กับชุมชนและประชาชน และการจัดหลักสูตรในด้านดิจิทัลร่วมกันเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ และสร้างสรรค์
กำลังโหลดความคิดเห็น