xs
xsm
sm
md
lg

AIS Business Cloud ดึงความแข็งแรงเครือข่าย สู่ลูกค้าธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปรัธนา ลีลพนัง รักษาการ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ เอไอเอส เล็งเห็น และเริ่มปรับตัวจากที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลเซอร์วิส ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ การมาของดิจิทัลที่ไม่ได้ค่อยๆ มา แต่มาแล้วพลิกรูปแบบของธุรกิจ จนทำให้ผู้ที่ตกขบวนไม่สามารถอยู่รอดได้

แน่นอนว่า พื้นฐานสำคัญของดิจิทัล คือ สิ่งที่โอเปอเรเตอร์อย่างเอไอเอสมี และไม่ใช่แค่มีแบบธรรมดา แต่เป็นการมีแบบที่แข็งแรง และไม่มีผู้ให้บริการรายใดในประเทศไทยที่มีครบเท่า ซึ่งก็คือ การเชื่อมโยงของโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงทั้งแบบมีสาย และไร้สายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

ปรัธนา ลีลพนัง รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เล่าให้เห็นภาพว่า การที่เอไอเอสหันมาโฟกัสในการเป็นดิจิทัล ไลฟ์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ หรือการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแบบครบวงจร ถือเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นพร้อมกับโอเปอเรเตอร์หลายๆ ที่ในโลก

“เมื่อพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการเข้าถึงแอปพลิเคชัน หรือการทำงานต่างๆ อย่างการใช้งานไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ หรือระบบไอทีในบริษัท มีการเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์อยู่แล้ว เชื่อว่าเป็นช่วงที่การหันมาโฟกัสบริการสำหรับลูกค้าองค์กรที่ถูกที่ และถูกเวลา”

โดยที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กรของเอไอเอส จะสร้างรายได้อยู่ที่ราว 9-10% แต่เชื่อว่าในอนาคตก็มีโอกาสที่จะขยับเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัวแล้ว รายได้ในส่วนนี้สูงถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ของรายได้

“ช่วงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรม จากเดิมที่บริการพื้นฐานอย่างการใช้งานวอยซ์ เป็นบริการหลักที่สร้างรายได้ให้แก่โอเปอเรเตอร์ และปัจจุบันเปลี่ยนเป็นรายได้จากการให้บริการดาต้า ซึ่งในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ถ้าบริการดิจิทัลต่างๆ จะมาสร้างรายได้หลักให้แก่ผู้ให้บริการ”
สัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กรของเอไอเอส จะสร้างรายได้อยู่ที่ราว 9-10%
***ดึงจุดแข็งพันธมิตร เสริมด้วยโครงข่ายอันดับ 1

เพียงแต่ว่า ด้วยแนวคิดของเอไอเอส ในการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กร คือ การทำงานร่วมกับพันธมิตรไอทีชั้นนำระดับโลก เพื่อนำระบบไอที และโซลูชันต่างๆ มาให้บริการแก่ลูกค้าองค์กร โดยเอไอเอส จะเป็นผู้ที่เชื่อมต่อบริการต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน ผ่านโครงสร้างพื้นฐานของเอไอเอสที่ถือเป็นผู้นำในประเทศไทย

จากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน เอไอเอส มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อไร้สาย ที่ปัจจุบันให้บริการทั้ง 3G และ 4G ครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว การขยายบริการเครือข่ายแบบมีสาย (AIS Fibre) ปัจจุบันก็ครอบคลุมพื้นที่ถึง 5 ล้านครัวเรือน

ดังนั้น เมื่อนำโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 2 รูปแบบมารวมกับดิจิทัลเซอร์วิสต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนคลาวด์ จะทำให้เอไอเอส กลายเป็นผู้ให้บริการที่ครบทั้งโซลูชันในการใช้งานสำหรับลูกค้าองค์กรในทุกๆ กลุ่ม ที่ต้องการปรับธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล

โดย 4 ปัจจัยหลักที่เอไอเอส มองว่า บิสิเนส คลาวด์จะมาช่วยผู้ประกอบการ คือ การที่องค์กรธุรกิจหันมาใช้งานระบบคลาวด์ จะช่วยให้ 1.เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น (Fast Time to Market) 2.ต้นทุนต่ำลง (Lower Cost of Ownership) 3.มีความปลอดภัยบนมาตรฐาน (Better Security) และ 4.การเปิดกว้างสำหรับอีโคซิสเตมส์ (Open Ecosystem for Partner)

“เอไอเอสจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ ตั้งแต่การคิด ให้คำปรึกษา การวางแผน ลงมือทำ รวมถึงการช่วยย้ายระบบจากเดิมที่ใช้อยู่ ไปอยู่บนระบบใหม่ และปิดท้ายด้วยการบริการหลังการขาย จากพนักงานกว่า 400 คน ที่จะมาดูแลลูกค้าองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะ ไม่นับรวมกับทีมงานของพันธมิตรทางธุรกิจ”

แม้ว่า เอไอเอส จะไม่มีการเปิดเผยเงินลงทุนที่ชัดเจนในการให้บริการลูกค้าองค์กร เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ก็ถือเป็นหน่วยธุรกิจที่ต้องมีการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำบริการมาตอบโจทย์ในกลุ่มลูกค้าองค์กร
เอไอเอส ระบุว่าได้ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยเพิ่มเติมเป็น 4 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 2 แห่ง
***ขยายดาต้า เซ็นเตอร์ รับการเติบโตเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

ล่าสุด เอไอเอส ได้มีการลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ในประเทศไทยเพิ่มเติมเป็น 4 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 2 แห่ง โดยเป็นการเพิ่มส่วนให้บริการแก่ลูกค้าองค์กร แยกส่วนกับดาต้า เซ็นเตอร์ที่เอไอเอสใช้ในการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ

โดยแห่งแรก AIS Data Center TELLUS ตั้งอยู่ที่นวนคร ปทุมธานี และ AIS Data Center SILA ตั้งอยู่ที่บางปะกง ฉะเชิงเทรา ซึ่งพื้นที่ให้บริการแห่งแรกมีการใช้งานเต็ม 100% แล้ว ส่วนแห่งที่ 2 ใช้งานไปแล้วประมาณ 20%

ส่วนแห่งที่ 3 และ 4 จะเป็นการออกไปตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ ในส่วนของภูมิภาค เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจในต่างจังหวัดมีความต้องการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า โดยเอไอเอส เลือกที่จะเปิดดาต้า เซ็นเตอร์เพิ่มที่แก่นนคร จังหวัดขอนแก่น หาดใหญ่ จังหวัด สงขลา เพิ่มเติม

“ถ้าดูจากการเติบโตของเศรษฐกิจจะเห็นว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงตะวันออก มีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง ทั้งจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก รวมถึงในช่วงชายแดน ที่เริ่มเห็นธุรกิจที่ติดต่อกับเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งก็เป็นธุรกิจที่มีความต้องการใช้งานโซลูชันต่างๆ เช่นกัน”
อีกหนึ่งความน่าสนใจของบริการคลาวด์เอไอเอส คือ การที่เป็นพันธมิตรกับทางไมโครซอฟท์ ในการให้บริการ Azure
***เชื่อมคลาวด์ระดับโลก

อีกหนึ่งความน่าสนใจของบริการคลาวด์เอไอเอส คือ การที่เป็นพันธมิตรกับทางไมโครซอฟท์ ในการให้บริการ Azure ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ต่อยอดมาจากการให้บริการไมโครซอฟท์ Office 365 เดิม ซึ่งระหว่างเอไอเอส และไมโครซอฟท์ ได้มีการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารเข้าหากัน

ทำให้ลูกค้าที่ใช้งานคลาวด์ของไมโครซอฟท์ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในดาต้า เซ็นเตอร์ทั้งสิงคโปร์ และฮ่องกง ได้รวดเร็วเหมือนการเชื่อมต่อดาต้า เซ็นเตอร์ในประเทศ สอดคล้องต่อเทรนด์การใช้งานคลาวด์ที่เกิดขึ้นในองค์กรใหญ่ๆปัจจุบันที่เริ่มต้องการไฮบริดคลาวด์มากขึ้น

“องค์กรในไทยบางทีมีข้อมูลที่ต้องเก็บไว้ใช้งานภายในประเทศ และบางข้อมูลก็สามารถนำขึ้นไปเก็บในคลาวด์ระดับโลกได้ ซึ่งก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และยังเปิดโอกาสให้สามารถขยายบริการออกไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น”

***สภาพการแข่งขันในกลุ่ม End 2 End Solutions

แน่นอนว่า การเข้ามาให้บริการลูกค้าในกลุ่มองค์กรธุรกิจของเอไอเอส ไม่ได้เป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกที่ทำ แต่ปัจจุบัน ก็จะมีทั้งรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่ให้บริการอยู่ ซึ่งแต่ละรายก็จะมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ไม่นับรวมกับผู้ประกอบการไอทีโซลูชันต่างๆ อีกจำนวนมาก

เพียงแต่ว่าในแง่ของการแข่งขันแล้ว สิ่งที่ลูกค้าคำนึงถึง คือ จะเลือกใช้บริการอะไรที่ดีกว่า สามารถเข้าไปตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย เสริมสร้างความพร้อมในการแข่งขัน รวมถึงบริการหลังการขายที่สำคัญไม่แพ้กัน

เมื่อประกอบกับการที่จากเดิมองค์กรธุรกิจต้องเลือกใช้งานหลายๆ โซลูชัน แล้วนำมาประกอบใช้งานทีละส่วนกับผู้ให้บริการที่ให้บริการครบทั้งโซลูชัน อย่างหลังก็จะตอบโจทย์ธุรกิจได้มากกว่า บนความยืดหยุ่นที่สามารถปรับแต่งได้.

กำลังโหลดความคิดเห็น