กสทช. ประกาศผู้ชนะการประมูลเน็ตชายขอบแล้ว พบทีโอที ได้โครงการมากสุด ลั่นเดินหน้าต่อตามคำสั่งนายกฯ ส่วนหนังสือตอบ สตง. ใช้เวลา 2-3 วันยกร่างก่อนส่ง ชี้ทุกอย่างทำตามกฎหมาย ราคาเชื่อมต่อเข้าบ้านต้องไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน เอกชนรายไหนทำไม่ได้ ไม่ต้องเซ็นสัญญา
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 2/2560 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยืนยันให้เดินหน้าโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน หรือโครงการเน็ตชายขอบ เพื่อให้สามารถทำโครงการเสร็จภายในกำหนดเดิม คือ ติดตั้งไม่น้อยกว่า 15% ในวันที่ 16 ธ.ค. 2560, ติดตั้งเสร็จ 60% ในเดือน มี.ค. 2561 และติดตั้งครบ 100% ภายในเดือน ก.ค. 2561
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ฝากให้ดูในส่วนของข้อกฎหมายด้วยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีอำนาจหน้าที่อย่างไรในการท้วงติงโครงการ เพราะจริง ๆ แล้ว ควรไปท้วงติงโครงการที่ส่อการทุจริตต่าง ๆ มากกว่าจะมาท้วงติงแบบนี้ไม่เช่นนั้นโครงการพังหมด
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ขอเวลา 2-3 วัน เพื่อยกร่างคำตอบถึง สตง. ก่อนจะส่งให้ สตง. จากนั้น จะเดินหน้าเซ็นสัญญาโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 10 ก.ย. นี้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม
“ส่วนเรื่องของราคานั้น กสทช. ทำตามประกาศ กสทช. ข้อ 27 ซึ่งระบุว่า หากให้บริการแบบสายแยกส่วน ก็ต้องมีการคิดราคาแยกว่ารัฐลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ เอกชนกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เอกชนที่ชนะการประมูลต้องทำราคาต้นทุนมาเสนอว่า ภายใต้วงเงิน 12,000 ล้านบาท แล้วเอกชนจะมีต้นทุนลงทุนเพิ่มเติมเท่าไหร่ หากเอกชนลงทุนเพียง 15% ค่าบริการเข้าสู่ครัวเรือนจะอยู่ที่เดือนละ 180 บาท และหากในอนาคตค่าบริการในท้องตลาดลดจากเดือนละ 590 บาท เป็นราคาที่ถูกกว่า ราคาที่ต่อเข้าครัวเรือนของโครงการเน็ตชายขอบ ก็ต้องลดลงด้วย โดย กสทช. จะมีการเจรจากับผู้ชนะการประมูลก่อนว่าสามารถทำตามเงื่อนไขการประมูลนี้ได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้'
นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. จึงได้รับรองผลการประมูล 8 สัญญาได้แก่ 1. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,812,014,000 บาท
2. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,103,800,000 บาท
3. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,492,599,999 บาท
4. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,868,235,000 บาท
5. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,889,999,927 บาท
6. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 786,549,600 บาท
7. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 532,064,800 บาท
8. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 504,423,740 บาท
***ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้เห็นชอบแนวทางการทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นอัตราใหม่ที่มีการปรับลดจากอัตราเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการจัดเก็บตามอัตราขั้นบันไดของรายได้ ดังนี้ รายได้ 0-100 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 0.125% (จากเดิมเก็บ 0.25%), รายได้เกิน 100-500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 0.25% (จากเดิมเก็บ 0.5 %), รายได้เกิน 500-1,000 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 0.5% (จากเดิมเก็บ 1.0 %), รายได้เกิน 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 0.75% (จากเดิมรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.5 %) และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.5%
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. หวังว่า อัตราค่าธรรมเนียมใหม่ที่จัดเก็บจะส่งผลให้ประชาชนได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตในราคาที่ถูกลง พร้อมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป รวมถึงให้สำนักงาน กสทช. ไปพิจารณาทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเช่นกัน
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของช่องสปริงนิวส์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ได้แก่ ใบอนุญาตกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตบริการธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ รอบบัญชี 2558 ในอัตราลดหย่อน 15 % ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่พึงชำระ
โดยสำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบและวิเคราะห์แล้วพบว่า สำหรับใบอนุญาตกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ช่องสปริงนิวส์ มีการนำเสนอเนื้อหารายการในสัดส่วนที่เป็นข่าวสาร หรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตลอดทั้งปี จำนวน 61.87% และสำหรับใบอนุญาตบริการธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ช่องสปริงนิวส์ ก็มีการนำเสนอเนื้อหารายการในสัดส่วนที่เป็นข่าวสาร หรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตลอดทั้งปี จำนวน 61.87% เช่นกัน ซึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสาร หรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตลอดทั้งปีเกินกว่า 50% แต่ไม่เกิน 90% ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์สำหรับให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สามารถขอลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในแต่ละปีได้ตามอัตรา หลักเกณฑ์ และวิธีการตามระเบียบ
สำหรับกิจการที่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ (ประเภทบริการทางธุรกิจ) ที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตลอดทั้งปีเกินกว่า 50% แต่ไม่เกิน 90% สามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตรา 15% ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่พึงชำระ
กรณีที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตลอดทั้งปีเกินกว่า 90% สามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตรา 50% ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่พึงชำระ
สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งไม่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตลอดทั้งปีเกินกว่า 50% แต่ไม่เกิน 90% สามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตรา 15% ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่พึงชำระ
กรณีที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตลอดทั้งปีเกินกว่า 90% สามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตรา 75% ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่พึงชำระ ส่วนช่องอื่น ๆ ที่มีการนำเสนอเนื้อหา สัดส่วนรายการเข้าระเบียบก็สามารถยื่นขอลดหย่อนค่าทำเนียมรายปีได้เช่นกัน