ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า ดีแทคพยายามสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้า ไล่ตั้งแต่การพลิกอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เริ่มจากการแนะนำแพกเกจ Go No Limit ออกสู่ตลาด และสื่อสารแบบง่าย ๆ ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถใช้งานโทรฟรีในเครือข่าย ใช้เน็ตได้ไม่อั้น ตามความเร็วที่กำหนด
จนถึงวันนี้ ลูกค้าโดยเฉพาะในส่วนของเติมเงินมีแนวโน้มหันมาใช้งานแพกเกจในตระกูล Go No Limit เพิ่มมากขึ้นในระดับ 2 ล้านราย ภายในระยะเวลา 6 เดือน และยังมีฐานลูกค้าในกลุ่มเติมเงินอีกกว่า 6 ล้านราย ที่ตามพฤติกรรมการใช้งานแล้วเหมาะกับแพกเกจดังกล่าว
จุดขายหลักของ Go No Limit ที่ยังเป็นเจ้าแรก และเจ้าเดียวในเวลานี้ คือ การกำหนดราคา ให้ลูกค้าสามารถเลือกสมัครใช้งานได้ทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน บนพื้นฐานหลัก คือ โทรฟรีในเครือข่าย และใช้เน็ตได้แบบไม่จำกัด บนความเร็วที่กำหนด
พร้อมกับย้ำว่า ดีแทคมีเงื่อนไขการใช้งานแพกเกจที่ชัดเจน ไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความซับซ้อน เข้าใจได้ยาก ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วงที่ผ่านมา และไม่มีผู้ให้บริการเจ้าใดที่ยอมเข้าไปแก้ไข Pain Point ดังกล่าว
กับอีกส่วนหนึ่ง คือ ปัญหาในการใช้งานอินเทอร์เน็ตในแพกเกจทั่วไป ที่เมื่อใช้งานครบแล้ว ความเร็วจะลดลง ทำให้ลูกค้าไม่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตามที่ต้องการ จนเกิดความหงุดหงิด และส่งผลที่ไม่ดีกับแบรนด์
ในวันที่ดีแทค ลุกขึ้นมาพลิก จึงเหมือนเป็นการเปลี่ยนอุตสาหกรรมในทันที และโอเปอเรเตอร์รายอื่น ก็จะมีทำแพกเกจในลักษณะที่ใกล้เคียงกันออกมาให้เลือก ในหลากหลายราคา เพียงแต่ว่า ส่วนใหญ่จะไปจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ อย่างใช้แพกสูงสุดที่ใช้เน็ต 4G ไม่จำกัดแทน
กลับกัน ในความเป็นจริง ลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือทั่วไป ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริการเกือบ ๆ พันบาท เพื่อให้ได้ใช้เน็ตความเร็วสูงแบบไม่อั้น ถ้าผู้บริโภคเข้าใจพฤติกรรมการใช้งาน ก็สามารถเลือกใช้แพกเกจที่คุ้มค่าเหมาะสม กับพฤติกรรมการใช้ บนพื้นฐานที่สำคัญสุด คือ โทรไม่อั้น
โดยดีแทคจะแบ่งพฤติกรรมลูกค้าในการใช้งานเติมเงินหลัก ๆ ออกเป็นตั้งแต่ 256 Kbps ที่เป็นความเร็วเริ่มต้น สำหรับลูกค้าเติมเงิน จะเน้นที่การใช้งานแชตเป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้งาน LINE เพื่อการสนทนา เฟซบุ๊กแมสเซนเตอร์ หรือทวิตเตอร์
ถัดมา คือ แพกเกจ 512 Kbps ที่มีความเร็วสูงขึ้นมาหน่อย ก็จะเหมาะกับการใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม ที่เน้นการไล่อ่านฟีด ติดตามข้อมูลข่าวสาร หรืออัปโหลดรูป
แต่ถ้าการใช้งานจะเน้นที่การดูคลิปวิดีโอ โดยไม่ได้กังวลว่า คอนเทนต์ที่ได้ต้องคมชัด หรือเล่นไฟล์ขนาดใหญ่ แต่เน้นการดูต่อเนื่องในระยะยาว ลื่นไหล ไม่สะดุด ก็จะมีแพกในระดับความเร็ว 1 Mbps ให้เลือกใช้
หรือถ้าต้องการความเร็วที่สามารถเล่นไฟล์ระดับ HD ใช้ดูวิดีโอ ละคร หรือรายการบันเทิงย้อนหลัง ผ่านยูทูป หรือนั่งดู Facebook Live พ่อค้าแม่ค้าบนขายของ ให้กด CF ได้แบบไม่พลาด ก็อาจจะเลือกความเร็วในระดับ 4 Mbps ขึ้นไป
ขณะที่ลูกค้ารายเดือนจะเริ่มที่แพกเกจระดับความเร็ว 1 Mbps และเพิ่มไม่จนถึงระดับความเร็วสูงสุดแบบไม่จำกัด โดยจะเลื่อนระดับจาก 4 Mbps เป็น 10 Mbps ที่จะรองรับการสตรีมมิ่งทั้งวิดีโอ และเพลง จากผู้ให้บริการอย่าง Netflix, iFlix, Youtube ในระดับความละเอียดสูงได้สบาย ๆ หรือจะเลือกฟังเพลงระดับ Hi-Fi จาก Joox หรือ Spotify รวมถึงการเล่นเกมออนไลน์แบบลื่น ๆ ได้สบาย ๆ
สุดท้ายคือแพกที่ได้ความเร็ว 3G/4G สูงสุดแบบไม่จำกัด ที่สามารถสตรีมมิ่งวิดีโอคอนเทนต์ได้ถึงในระดับ 4K หรือจะนำมาใช้เล่นเกมออนไลน์ Live สดในระดับความละเอียดสูงได้แบบไม่จำกัด
เมื่อเห็นถึงความสามารถของเน็ตที่ทำได้ในแต่ละระดับความเร็วแล้ว ก็ควรหันกลับมามองว่า การใช้งานในชีวิตประจำวันมีพฤติกรรมแบบใด แล้วเลือกแพกเกจในการใช้งานให้เหมาะสม ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนเกิน และได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด