xs
xsm
sm
md
lg

เน็ตประชารัฐ สวยแต่รูปจูบไม่หอม !?! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการเน็ตประชารัฐ ภายใต้กรอบงบประมาณ 15,000 ล้านบาท นับเป็นวงเงินสูงที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ไม่เคยได้รับมาก่อน กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมอีกครั้งหนึ่งว่าเดินมาถูกทางหรือยัง เพราะสิ่งที่กระทรวงพยายามเร่งเครือข่ายหลักให้ครบจำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จภายในสิ้นปี 2560 นั้น สุดท้ายแล้วชาวบ้านจะใช้ได้จริงหรือไม่

***ชาวบ้านชะเง้อรอ อยากใช้งานที่บ้าน

ทุกครั้งที่มีการพาสื่อมวลชนไปสำรวจความสำเร็จในการติดตั้งบรอดแบนด์แต่ละหมู่บ้าน คือการไปทำพิธีส่งมอบที่จุดๆ หนึ่ง บางครั้งก็เป็นตลาดเล็กๆประจำหมู่บ้านที่มีเพียงหลังคา หรือบางครั้งก็เป็นศูนย์อะไรบางอย่างที่พื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก มีคนทำงานประจำศูนย์นั้นๆ อยู่แล้ว บ้างก็มีห้องน้ำ (น้อย) บ้างก็ไม่มี โดยจะมีการติดตั้งฮอตสปอต เพื่อปล่อยสัญญาณ ไว-ไฟ ให้ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นมาใช้งาน และให้มโนว่ามันคือจุดศูนย์รวมของประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน หากมานั่งทำงาน นั่งเล่น ไว-ไฟ ฟรีที่นี่ คงเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนได้มากโข แต่ในความเป็นจริง เป็นความต้องการของชาวบ้านหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้

มีเพียงสิ่งหนึ่งที่เห็นมากับตา ก็คือ ชาวบ้านต้องการลากสายบรอดแบนด์จากจุดหลักที่กระทรวงดีอีใช้งบทำให้ฟรีนั้นเข้าไปใช้งานในบ้านมากกว่าจะมานั่งตากแดด ตากลม หลังขดหลังแข็ง มาใช้งานที่จุดๆ เดียว เพราะนอกจากต้องแย่งที่กันนั่งแล้ว ยังต้องแย่งกันเข้าไว-ไฟด้วย บ้างก็เข้าไม่ได้ บ้างก็เข้าลำบาก เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะใช้งานได้ หรือบางครั้งหลุดบ่อยก็มี

อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อไว-ไฟ ของชาวบ้านคงไม่มีโน้ตบุ๊กมากางกันสวยหรูเหมือนคาเฟ่ร้านกาแฟในเมือง หากแต่เป็นเพียงสมาร์ทโฟน ราคาถูก ที่อาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานเท่าไหร่นัก ทั้งหน้าจอ สเปกความแรงของเครื่อง หรือความอึดของแบตเตอร์รี่ ที่ยิ่งใช้ไว-ไฟ แบตก็ยิ่งหมดเร็ว

แต่หากได้ใช้ที่บ้าน ความสะดวกสบายจะมีมากแค่ไหน จะนอน จะนั่ง จะกิน หรือเข้าห้องน้ำ อยู่พร้อมหน้าครอบครัว ชิลล์ๆอยู่ที่บ้านมันต่างกันมากนัก

นอกจากนี้ ชาวบ้านต่างเฝ้ารอคอยว่าเมื่อไหร่กระทรวงดีอีจะกำหนดแพกเกจออกมาให้ใช้งานตามบ้านเสียที ที่สำคัญต้องราคาถูกเพราะเมื่อหมู่บ้านเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เอกชนไม่ลงทุนเพราะกลัวไม่คุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว กระทรวงดีอีนำงบมาลงทุนให้ เอกชนเพียงแค่เชื่อมต่อจากจุดหลักไปยังครัวเรือนราคาจึงไม่ควรเท่าท้องตลาด แต่กระทรวงดีอีก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องราคาเสียที

'ยังไม่กำหนดราคา แต่ราคาต้องเป็นไปตามกลไกตลาด เราไม่รู้หรอกว่าบ้านใครรวย บ้านใครจน ไม่อยากให้เกิดความเหลื่อมล้ำ' เป็นคำพูดจากปากของ 'พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ที่ไม่ว่าจะถามสักกี่ครั้ง ก็ได้คำตอบเหมือนเดิม

***กสทช.โชว์ป๋าเน็ตต้องฟรี-ราคาถูก

ต่างจากฟากซอยสายลม อย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่แม้จะยังไม่ได้ลงมือทำโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบ ที่แต่ละพื้นที่แสนทุรกันดาร แต่ก็ออกตัวแรงให้ผู้ที่ชนะโครงการในแต่ละพื้นที่ต้องกำหนดแพกเกจอินเทอร์เน็ตในราคาไม่เกิน 100 บาท ให้ชาวบ้านได้ใช้งานตามบ้านด้วย แถมยังเตรียมจัดโปรชุดใหญ่ไฟกะพริบด้วยการนำงบจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ในการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการที่ขยายพื้นที่ในเขตนั้นๆ แทนประชาชนเองให้ชาวบ้านได้ใช้ฟรีก่อน 3-6 เดือนอีกต่างหากนับตั้งแต่โครงการเริ่มติดตั้งก่อนวันคริสต์มาสปีนี้

'ใช้งบประมาณไม่มาก หากคิดจากครัวเรือนที่มีอยู่จำนวน 3,920 หมู่บ้าน พบว่ามีครัวเรือนอยู่ประมาณ 600,000 ครัวเรือน หากคำนวณการคิดค่าบริการที่ผู้ให้บริการต้องคิดกับประชาชนอยู่ที่ 200 บาทต่อเดือน ก็จะใช้งบประมาณเพียง 120 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น แต่สร้างโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับประชาชนในการสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนได้มหาศาล คาดว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกสทช.ก่อน แจ้งเพื่อทราบในที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ซึ่งจะมีประชุมในวันที่ 1 กันยายน 2560'

ซานต้า 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการกสทช.พยายามส่งสัญญาณให้ฝั่งแจ้งวัฒนะทราบ เพราะกระทรวงดีอีเองก็มีเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ที่กสทช.ส่งให้ตามกฎหมายแล้วทั้งสิ้น 1,182.86 ล้านบาท

***นักวิชาการชี้เกาไม่ถูกที่คัน

ขณะที่ฝั่งนักวิชาการเอง ยังออกอาการงง และเกาหัวไม่หยุดถึงการตัดสินใจใช้เงินจำนวนมหาศาลนี้กับการขยายบรอดแบนด์มากกว่าการสนับสนุนให้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคลื่นโทรคมนาคมซึ่งน่าจะเข้าถึงประชาชนมากกว่า โดย พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึง 60% ซึ่งเท่ากับการเข้าถึงเฟซบุ๊ก แต่ในเชิงพื้นที่ในต่างจังหวัด ยังเข้าถึงได้น้อย ขณะที่อัตราการเข้าถึงโมบายอินเทอร์เน็ต สูงเกิน 100% มากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ ในปี 2558 มีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนถึง 86%

ดังนั้น นโยบายอินเทอร์เน็ตชุมชน หรืออินเทอร์เน็ตชายขอบ เป็นการเกาถูกที่คันหรือไม่ ถ้านำสายเข้าบ้าน แล้วไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ก็ลำบาก แต่หากมีการแจกโทรศัพท์มือถือจะเข้าถึงง่ายกว่าหรือไม่ เพราะคนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ดังนั้น ควรสนับสนุนให้มีการประมูลคลื่นความถี่น่าจะดีกว่า เพราะที่ผ่านมา นอกจากรัฐจะได้เงินจากการประมูลแล้ว เอกชนยังแข่งกันขยายเครือข่ายได้เร็วกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนดไว้เสียอีก

'กระทรวงดีอี ดูแลนโยบายที่เป็นภาพรวมดีแล้ว แต่ไม่ควรทำงานทับซ้อนกัน ไม่ควรใช้งบประมาณสิ้นเปลือง นโยบายนี้เกาถูกที่หรือไม่ ขณะที่คลื่นความถี่เรายังเหลืออีกมากที่ยังไม่ได้นำไปจัดสรร เช่น คลื่น 700 MHz ในประเทศยุโรป พบว่าแพงกว่าคลื่น 2600 MHz ถึง 70 เท่า ทำตรงนี้จะดีกว่าลากสายหรือไม่ รัฐไม่ต้องลงทุน แค่ประมูล รัฐได้เงิน เอกชนแข่งขันกันขยายเอง' พัชรสุทธิ์ ย้ำ

หากกำหนดเส้นชัยโครงการเน็ตประชารัฐที่สิ้นปี 2560 ถือว่าตอนนี้ผ่านมาครึ่งทางแล้วคำตอบของกระทรวงดีอีที่ควรตอบเพิ่มเติมนอกจากจุดติดตั้งไว-ไฟเหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานคนในพื้นที่จริงหรือไม่ หรือว่าแค่ติดแก้บนให้ครบตามเป้าหมาย แพกเกจราคาที่เหมาะสมกับการใช้งานจริงควรเป็นเท่าไหร่ และท้ายสุดควรต้องตอบให้ได้ว่าเน็ตประชารัฐมีประโยชน์และเกิดการใช้งานได้จริงในพื้นที่ที่ระบุไว้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น