กสทช. เปิดตัวแอปพลิเคชัน “กันกวน” ใช้ปิดกั้นเบอร์รบกวน หลังพบมีเรื่องร้องเรียนวันละ 300 เรื่อง คาดยอดดาวน์โหลดเดือนแรก 40,000 ดาวน์โหลด
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำแอปพลิเคชัน “กันกวน” เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือด้วยวิธีการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ที่โทร. เข้ามารบกวนก่อให้เกิดความรำคาญ เช่น การกลั่นแกล้ง, การขายตรง, การขายประกัน และการติดตามทวงหนี้
สำหรับเบอร์โทร. การขายตรง ขายประกัน และเบอร์สำหรับทวงหนี้ กสทช. จะได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการอัปเดตข้อมูลตลอดเวลา เนื่องจากโดยปกติแล้ว จะมีการเปลี่ยนเบอร์ประมาณ 50,000 เลขหมายต่อวัน หากเบอร์ที่เคยถูกใช้โทร. ในกรณีข้างต้นถูกเปลี่ยนไปใช้งานกับคนทั่วไปก็จะได้ไม่ถูกปิดกั้นในการโทร. ออกหาผู้ที่ดาวโหลดแอปพลิเคชัน “กันกวน”
แต่อย่างไรก็ตาม เบอร์ที่ใช้โทร. ขายตรง ขายประกัน และทวงหนี้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การโทร. ทวงหนี้มี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 กำหนดให้สามารถโทร. ทวงถามหนี้ได้ ในเวลา 08.00-20.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ หลังจากนั้น ระบบถึงจะปิดกั้นได้ ส่วนการขายประกัน มี พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง ระบุให้สามารถโทร. หาได้วันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.30-19.00 น.
“ที่ผ่านมา มีประชาชนร้องเรียนเรื่องเบอร์ และเอสเอ็มเอสกวน จำนวนมากถึง 300 เรื่องต่อวัน ดังนั้นคาดว่าในช่วงเดือนแรก จะมียอดดาวน์โหลดประมาณ 40,000 ดาวน์โหลด หากมีการรายงานเบอร์เข้ามายังสำนักงาน กสทช. ผ่านระบบหน่วยตรวจสอบก็จะเช็กว่า หมายเลขนั้นมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากจริงหรือไม่ ก่อนปิดกั้นเบอร์ เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ” นายฐากร กล่าว
สำหรับวิธีการใช้งาน ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้จาก App Store และ Play Store ผ่านการ Search “กันกวน” เมื่อทำการดาวน์โหลด และติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ระบบจะให้กรอกข้อมูลยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันการกลั่นแกล้งกรณีแจ้งระงับเบอร์ และใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบข้อมูลทั้งผู้แจ้งให้ปิดกั้นเบอร์ และผู้ถูกปิดกั้นเบอร์
ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า แอปพลิเคชันกันกวน จะแบ่งระบบการจัดการออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า บัญชีสีขาว (White list) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ White list ที่สามารถปิดกั้นได้ เช่น การขายที่ไม่พึงประสงค์ การขายประกัน ขายสินเชื่อ และขายตรง ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนเข้าระบบแอปพลิเคชันกันกวน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงเลขหมายที่มีการโทร. เข้า และเลือกรับสายได้
สำหรับ White list ที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ แต่สามารถโทร. ได้ในช่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนแก่ประชาชน เช่น การติดตามทวงหนี้ ทวงถามการชำระเงินจากผู้ประกอบการด้านการสื่อสาร สถาบันการเงิน ธุรกิจประกัน และธุรกิจบัตรเครดิต
ส่วนที่ 2 เรียกว่า บัญชีสีดำ (Black list) สำหรับเบอร์ที่สร้างการรบกวน เกินเวลาที่กำหนด โดยสำนักงาน กสทช. จะทำการรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่รบกวน ส่งไปให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม ทุกค่าย เพื่อตรวจสอบ และตักเตือน