xs
xsm
sm
md
lg

Bluetooth Mesh เครือข่ายน้องใหม่เพื่อบ้านอัจฉริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การพัฒนาสมาร์ทโฮม หรือบ้านอัจฉริยะ นอกจากการแข่งขันในด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว เรื่องของเครือข่ายที่จะใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในบ้านอัจฉริยะก็มีการแข่งขันที่ดุเดือดเช่นกัน โดยรายงานจาก TheVerge ระบุว่า การแข่งขันระหว่างเครือข่ายไวไฟ (WiFi) กับเครือข่ายบลูทูธ (Bluetooth) ที่ยาวนานนั้น ได้มีมาตรฐานใหม่ปรากฏออกมาแล้วจากทางฝั่งของบลูทูธ นั่นคือ บลูทูธ เมซ (Bluetooth Mesh)
        
โดยผู้ที่ออกมาประกาศก็คือ บลูทูธ เอสไอจี (Bluetooth SIG หรือย่อมาจาก Bluetooth Special Interest Group) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พัฒนามาตรฐานบลูทูธที่ได้ออกมาตรฐานใหม่ในชื่อ บลูทูธ เมซ (Bluetooth Mesh) มาแล้วเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทำให้บลูทูธกลายเป็นอุปกรณ์ที่น่าสนใจสำหรับสร้างเครือข่ายให้กับบ้านอัจฉริยะในยุคต่อไปมากขึ้น

โดยหากให้ยกตัวอย่างการติดต่อสื่อสารบนเครือข่ายแบบปกติเทียบกับเครือข่ายเมซ อาจเป็นได้ดังนี้ สมมติเรามีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่งเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับเราเตอร์อยู่ ถ้าเราเขยิบโน้ตบุ๊กเครื่องนั้นออกไปเรื่อย ๆ จนเกินระยะของเราเตอร์แล้ว ก็จะไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้อีก

แต่ถ้าเป็นเครือข่ายแบบเมซ เมื่อสัญญาณจากเราเตอร์ตัวแรกไม่สามารถส่งไปถึงโน้ตบุ๊กเป้าหมายได้ มันก็จะลองให้เราเตอร์ตัวอื่นที่อยู่ในระบบเน็ตเวิร์กเดียวกันส่งสัญญาณไปแทน ซึ่งระบบจะพยายามเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้อมูลที่ต้องการจะเดินทางไปถึงอุปกรณ์เป้าหมายได้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นระบบเครือข่ายที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อให้สามารถส่งข้อมูลได้ไกลขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการพัฒนาไปในลักษณะนี้มีผลทำให้บลูทูธกลายเป็นอุปกรณ์ที่บ้านอัจฉริยะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีมากขึ้นเมื่อเทียบกับมาตรฐานบลูทูธแบบเดิม
        
นอกจากนั้น บลูทูธ เมซ ยังกินไฟต่ำ และทำให้อุปกรณ์ที่ทำงานร่วมด้วยสิ้นเปลืองพลังงานต่ำไปด้วย โดยเหตุที่ทำให้บลูทูธ เมซ กินไฟต่ำนั้น มาจากการที่มันค่อย ๆ หาเส้นทาง แล้วก็กระโดดไปเรื่อย ๆ จากอุปกรณ์นี้ไปอุปกรณ์โน้นจนถึงปลายทางในที่สุด
        
แต่ถ้าเป็นการส่งข้อมูลแบบเดิม เช่น การยิงข้อมูลจากฟากนี้ไปยังห้องอีกด้านหนึ่ง แบบนั้นจะสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
        
ส่วนข้อเสียก็คือ รายงานจาก TheVerge ระบุว่า อาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน จึงจะเริ่มเห็นการใช้งานจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น