กลับมาแล้วสำหรับ “กูเกิลกลาส” (Google Glass) โครงการพัฒนาแว่นอัจฉริยะที่หลายคนเคยเสียดายกับการปิดโครงการไปเมื่อหลายปีก่อน โดยในการกลับมารอบใหม่ กูเกิลกลาสจะเน้นไปที่การใช้งานในภาคธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งได้มีการปรับปรุงด้านอายุการใช้งานแบตเตอรีให้ยาวนานขึ้นกว่าเดิม รวมถึงดีไซน์ให้สวมใส่สบายกว่าเดิมด้วย
โดยกูเกิลกลาสเวอร์ชันปรับโฉมนี้ ยังเป็นแว่นในลักษณะเดิมที่มีจอแสดงผลแบบที่มองทะลุได้ และกล้องดิจิตอลแบบบิวด์อิน ซึ่งหัวหน้าโปรเจกต์คนใหม่อย่าง เจย์ โคทาริ (Jay Kothari) ที่มาแทนโทนี ฟาเดลล์ ที่ลาออกไปเมื่อปีที่ผ่านมา เผยว่ามองเห็นโอกาสของกูเกิลกลาสในหลาย ๆ ธุรกิจ เช่น ภาคการผลิต ลอจิสติกส์ การให้บริการ เฮลท์แคร์ ฯลฯ เนื่องจากสามารถแสดงผลข้อมูลได้โดยที่มือก็ยังทำงานอื่นได้ร่วมด้วย
โดยกูเกิลใช้เวลากว่า 2 ปีในการทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 คน เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะ ตลอดจนโซลูชันทางธุรกิจสำหรับแว่นตาที่จะมาอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานในฟิลด์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยรายชื่อของบริษัทที่ให้พนักงานร่วมทดสอบผลลัพธ์ในการทำงานร่วมกับการสวมแว่นกูเกิลกลาสเป็นกรณีพิเศษ 3 แห่ง ได้แก่ พนักงานในส่วนงานลอจิสติกส์ของ DHL, วิศวกรของ GE และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของ Dignity Health
โดยการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ของแว่นเวอร์ชันใหม่นี้ประกอบด้วย
- โปรเซสเซอร์ที่ทรงพลังมากขึ้น
- ใช้กล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล จากเดิม 5 ล้านพิกเซล
- กรณีการใช้งานปกติ จะใช้งานได้นานขึ้นเป็น 8 ชั่วโมงจาก 5 ชั่วโมง (ไม่นับรวมการทำวิดีโอสตรีมมิง)
โดยในเวอร์ชันแรกนั้น กูเกิลมีการขายแว่นในราคา 1,000 ปอนด์ แต่ในรุ่นล่าสุดนี้จะไม่มีการวางขายในแบบเดิมอีกแล้ว หากแต่จะบันเดิลไปกับเซอร์วิสของบริษัทต่าง ๆ แทน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ยูบิแมกซ์ สัญชาติเยอรมนี ที่พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจลอจิสติก์ และภาคการผลิต ที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกับกูเกิลกลาส โดยภาคการผลิตที่ต้องการซื้อจะจ่ายในราคา 1,500 เหรียญยูโร หรือประมาณ 1,735 เหรียญสหรัฐ และได้ทั้งแว่น และโซลูชัน กลับไปใช้งานทันที
การกลับมาของกูเกิลกลาสในครั้งนี้ทำให้มันกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงของแว่นโฮโลเลนส์ (HoloLens) ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) โดยไมโครซอฟท์เองก็เริ่มวางจำหน่ายแว่นโฮโลเลนส์เวอร์ชันนักพัฒนาแล้วเช่นกัน (เป็นแว่นที่ไฮเทค และมีราคาแพงกว่าแว่นโฮโลเลนส์ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี) แต่จุดด้อยของโฮโลเลนส์ก็คือ อายุการใช้งานแบตเตอรีที่ยาวนานแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น จากนี้ไปจึงอาจต้องติดตามดูกันว่า ในการใช้งานเชิงธุรกิจ ใครจะมีโอกาสมากกว่ากันระหว่างกูเกิลกลาส และโฮโลเลนส์