กลายเป็นมหากาพย์ที่ได้รับความสนใจในกลุ่มวัยรุ่น และคอ “นิยายวาย” ชายรักชาย เมื่อผู้เขียนนิยายติดอันดับแห่งเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม เรื่อง “ข้านี่แหละจวิ้นอ๋อง” ถูกกล่าวหาว่า โกงเงินพรีออเดอร์หนังสือจากแฟนคลับนับ 6 แสนบาท ข้อหานี้ไม่เพียงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองปวดหัว แต่ทำให้เกิดคำถามถึงหลายฝ่าย ด้านเว็บไซต์เด็กดี ยืนยันได้รับผิดชอบแล้ว ด้วยการขึ้นข้อความเตือนตั้งแต่แรกที่ได้รับเรื่องร้องเรียนช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
***แฟนคลับ 470 คนโอนเงินให้ เพราะ “เชื่อใจ”
ต้นเหตุของเรื่องนี้ คือ นักเขียนที่ใช้ชื่อ “วินน์” ผู้แต่งนิยายติดอันดับในเว็บไซต์เด็กดี ซึ่งถูกแฟนคลับตั้งกระทู้ว่า หายเงียบไปหลังจากได้รับเงินพรีออเดอร์หนังสือที่แต่งไปได้แค่ครึ่งเรื่อง โดยอ้างว่า ตนเองได้งานทำ ไม่ค่อยมีเวลา ทำงานไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ทำงานในพื้นที่ของออฟฟิศที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต เข้าโรงพยาบาลถ่ายรูปบนเตียงโรงพยาบาลมาให้ดู
“จนสุดท้ายมีคนจะแจ้งความ นักเขียนก็ฝากคนทำปกมาแจ้งว่า “พ่อ died” แต่จากเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างในช่วงการพรีนิยายทำให้คนไม่เชื่อกัน มีคนจะแจ้งความมากขึ้น”
เบื้องต้น วินน์ชี้แจงความเคลื่อนไหวว่า รายชื่อผู้ที่โอนเงินมีประมาณ 470 คน แม้จะบอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่โอนเงินมา 1,700 บาท แต่เงินรวมที่ได้นั้น “ไม่เกินหกแสนบาท”
“จากเหตุการณ์ที่มีคนขอคืนเงินก่อนหน้านี้ วินน์คืนเงินไปแล้วประมาณ 350 คน ดังนั้น จำนวนเงินที่เหลือ และต้องคืนไม่เกินสองแสนบาทค่ะ แน่นอนว่าเงินสองแสนไม่ใช่น้อย ๆ ไม่คืนก็ถือว่าโกง ข้อนี้วินน์ ทราบ และเข้าใจดี” แต่ก็ไม่สามารถทำนิยายต่อไปได้แล้ว เพราะไม่มีเงินทุน
“เนื่องจากมีคนไปแจ้งข่าวกับทางบ้าน ทำให้ที่บ้านรู้ว่า จะทำหนังสือ อาจเคยบอกไว้แล้วว่า ที่บ้านไม่รู้เรื่องที่แต่งวาย และค่อนข้างแอนตีเรื่องนี้พอสมควร แต่ตรงนั้น ไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่ากับการที่มีการบอกว่า วินน์โกงเงินไปเกือบล้าน มันถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ และทำให้เราได้รับผลกระทบ จากเดิมทีที่เคยแจ้งกำหนดส่งนิยาย ช่วงเวลานั้น เราต้องกลับบ้าน ถูกควบคุมไม่ให้ยุ่งกับโซเชียลใด ๆ และแน่นอนว่าต้องลาออกจากงานปัจจุบัน” วินน์ ชี้แจงผ่านบริการ GoogleDocs
แม้วินน์ จะบอกว่า ใช้ค่าใช้จ่ายพิมพ์นิยายเล่ม 1-2 ไปมากกว่า 6 หมื่นบาท ค่าวาดปกสี่ปก และรูปตัวละครอีกประมาณ 2 หมื่นบาท (ปกนี้ถูกโฆษณาว่า ออกแบบให้ผู้อ่านถือได้แบบไม่ต้องห่วงสายตาผู้ปกครอง) แต่แฟนคลับยืนยันว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อใด ๆ จากนักเขียน โดยคนที่ยังต้องการหนังสือเพียง 2 คนเท่านั้นที่เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือแล้ว
เมื่อแฟนคลับ ซึ่งเป็นเยาวชนไปแจ้งกับ ปอท. หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก็ได้รับการแจ้งว่า คดีนี้ไม่ถือเป็นคดีฉ้อโกง เพราะมีการติดพิมพ์นิยายจริง อ้างอิงจากรูปที่นักเขียนถ่าย
“เมื่อมีสินค้า มีการลงทุนจริง มีการส่งหนังสือ (ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าส่งจริง หรือเท็จ แม้ในใจเรา และหลาย ๆ คนรู้ว่า เท็จ) จึงไม่ถือว่าผู้กระทำผิดโกงเงินเรา อาจเป็นได้แค่คดีแพ่ง ต้องจ้างทนายจัดการ หรือทางตำรวจแนะนำให้หาที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ แล้วทำการบุกบ้านเจรจาให้ยอมรับสภาพหนี้” ผู้ตั้งกระทู้ในเด็กดีผ่านนามปากกาชื่อ “Noir” ระบุ
ปัญหา คือ ไม่มีใครรู้ว่า วินน์เป็นใคร มีเพียงข้อมูลว่า “คนเขียนเรียนนิติศาสตร์ จบแล้ว ปัจจุบันอายุ 25-26 ปี” โดยกระทู้มีการระบุว่า ผู้เขียนจวิ้นอ๋องฯ กำลังเล่นแง่กับช่องโหว่ทางกฎหมาย เนื่องจากนักเขียนกลับมาตอบหลังจากหายเงียบไปในช่วงแรก จะช่วยยืดอายุความออกไป เพราะถือว่านักเขียนยังไม่ตั้งใจจะฉ้อโกง
ประเด็นนี้ ตัวแทนเว็บไซต์เด็กดี ให้สัมภาษณ์ว่า เด็กดีต้องส่งหลักฐานข้อมูลนักเขียนให้ตำรวจ ไม่ใช่ส่งให้ผู้เสียหาย โดยเว็บไซต์มีเก็บข้อมูลนักเขียนในระดับมาตรฐานไม่ต่างจากเว็บไซต์พันทิป มีไอพีแอดเดรส, อีเมล, เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรอให้มีคำสั่งราชการส่งถึง โดยกรณีที่เกิดขึ้น เว็บไซต์เด็กดี ได้ขึ้นข้อความเตือนตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการร้องเรียน คาดว่าตั้งแต่นั้นไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นอีก
“เด็กดีเป็นแพลตฟอร์มให้คนอ่าน แต่การซื้อขายมักไปคุยกันเองตามช่องทางอื่น อย่าง เฟซบุ๊ก” ตัวแทนเว็บไซต์เด็กดีระบุ “เว็บไซต์เด็กดีไม่ได้ให้บริการร้านขายนิยาย”
วินน์ ระบุในคำชี้แจงล่าสุดว่า ตอนนี้เลือกจะขอคืนเงินทุกคนที่เหลืออยู่ และจะทำเป็นอีบุ๊ก (e-book) แทน เพื่อจะได้นำเงินรายได้มาหมุนคืนเงินในส่วนคนที่รอคืนเงินอยู่ แต่ทุกอย่างสายเกินไป คอนิยายวายเด็กไทยมองว่า เป็นแค่ข้ออ้าง เพราะมีแนวโน้มว่า วินน์ คือ นักเขียนคนเดียวกับนามปากกาไซเลนส์ซีริน (Silence Serin) ผู้แต่งนิยายเจ้าปัญหาเรื่องรูท-ไลบ์ (Route Liebe) บนเว็บไซต์เด็กดี ที่ถูกกล่าวหาว่า เชิดเงินไปเหมือนกัน
***2-3 ปีมีครั้ง?
“กรณีแบบนีเกิดขึ้นน้อยมาก เรียกว่า 2-3 ปีจะมีครั้งหนึ่ง นักเขียนที่มีฝีมือเป็นกลุ่มที่มีอนาคต มักไม่ตั้งใจโกง แต่ที่ผิดพลาดก็อาจจะเป็นเรื่องหมุนเงิน” ตัวแทนเว็บไซต์เด็กดี ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ตำรวจสามารถตรวจสอบจากหมายเลขบัญชีของนอมินี ซึ่งนักเขียนใช้ชื่อบังหน้าด้วยอีกทาง
คำให้สัมภาษณ์นี้สะท้อนรูปการณ์ปกติของเว็บไซต์เด็กดี ที่จะล้อฟรีไม่มีส่วนรู้เห็นในกรณีเช่นนี้ เว็บไซต์เด็กดี วางตัวเป็นแพลตฟอร์มคนกลาง แล้วโยนบาปโทษเด็กไทยแฟนคลับ หรือนักเขียนเท่านั้น ทั้งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เว็บไซต์ก็เป็นหนึ่งในช่องทางทำให้การเอารัดเอาเปรียบ หรือการล่อลวงเกิดได้ง่ายขึ้น
“การซื้ออะไรต้องมีวิจารณญาณ การโกงในวงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ล้วนมีโอกาสเกิดขึ้น เพราะยังไม่เห็นสินค้าตัวจริง” ตัวแทนเว็บไซต์เด็กดี แสดงความเห็น พร้อมยอมรับว่า เด็กดีไม่คิดทำระบบระดมทุนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก
การถูกเชิดเงินของคอนิยายวายครั้งนี้แสดงถึงความล้าหลังของวงการหนังสือทำมือของไทย เพราะการไม่มีระบบมารองรับ คนที่ต้องการสนับสนุนหนังสือทำมือจึงเจ็บตัว เพราะไม่มีอะไรการันตี หรือหลักประกันว่า จะได้รับหนังสือตามที่จ่ายเงินจริง เรียกว่า มีแต่คำสัญญาให้เชื่อใจเท่านั้น
ทางออกของปัญหาเหล่านี้อาจจะอยู่ที่การพัฒนาระบบระดมทุนที่มีมาตรฐานเพื่อให้นักเขียนน้ำดีในไทยได้มีทางออก ขณะที่นักอ่าน ซึ่งอยากอ่านนิยายเถื่อน “ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบเต็มรูปแบบจากสำนักพิมพ์ที่ได้มาตรฐาน” ก็ไม่ควรเชื่อถือระบบลงชื่อแสนธรรมดา ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเจ็บตัวได้ตลอดเวลา
เหนืออื่นใด พ่อแม่เยาวชนไทยวันนี้ต้องไล่ตามเนื้อหา หรือ content ที่ลูกหลานอ่านให้ดี การที่ลูกหลานมีจิตใจกว้างขวางอยากสนับสนุนนักเขียนที่ตัวเองชื่นชอบนั้น ไม่ผิด แต่การอ่านนิยาย หรือหนังสือที่ไม่ผ่านการคัดกรองเลยนั้น ถือว่าอันตรายไม่น้อย นอกจากเว็บไซต์เด็กดี ที่บอกว่า ตัวเองเป็นคลังนิยายออนไลน์ใหญ่ที่สุดในไทย 400,000 เรื่อง ยังมีเว็บไซต์อื่นอย่างธัญวลัยดอทคอม (tunwalai.com) ที่เป็นอีกแหล่งใหญ่ของนิยาย 18+ โดยแม้ธัญวลัย จะขึ้นข้อความว่า เนื้อหา หรือรูปแบบการนำเสนอ เช่น ภาพประกอบ, เพศ, ภาษา อาจไม่เหมาะสมกับผู้อ่านที่เป็นเยาวชน และขอให้ผู้อ่านที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ควรใช้วิจารณญานในการอ่าน หรือควรได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ แต่เพียงคลิกเยส (yes) ก็สามารถผ่านไปอ่านได้ปกติ
ขณะเดียวกัน ก็ต้องระวังอย่าถูกตบตาด้วยหน้าปกหนังสือ ซึ่งดูเหมือนนิยายจีนกำลังภายในแสนธรรมดา.