ผู้ผลิตเรือเดินสมุทรของญี่ปุ่น จับมือกับบริษัทเดินเรือร่วมกันพัฒนาเรือที่สามารถกำหนดทิศทางได้ด้วยตัวเอง (Self-navigating Ship) แล้ว โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี ค.ศ.2025 และหวังว่า จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางทะเลลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของสถิติปัจจุบัน
การร่วมมือกันดังกล่าวของบริษัท มิตซุย O.S.K. ไลน์ส และบริษัท นิปปอน ยูเซ็น มีขึ้นเพื่อต้องการลดค่าใช้จ่าย และแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญระหว่างกัน เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีครั้งนี้คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายหลัก 10,000 ล้านเยน เป็นอย่างต่ำ
โดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์คอยควบคุมการเดินเรือนี้อาจใช้เทคโนโลยีอื่น เช่น Internet of Things เป็นตัวช่วยเพิ่มเติมเพื่อรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศในทะเล ตลอดจนสิ่งกีดขวางที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเรือ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์สามารถใช้ข้อมูลนี้พลอตเป็นเส้นทางที่ประหยัดพลังงานที่สุด เร็วที่สุด และใช้เวลาในการเดินทางที่สั้นที่สุดขึ้นมาได้
เรือเดินสมุทรอัจฉริยะนี้ยังต้องสามารถทำนายการเกิดการทำงานผิดพลาด หรือปัญหาอื่นๆ ได้ล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางทะเลได้ด้วย โดยปัจจุบันมีการเกิดอุบัติเหตุทางทะเลปีละประมาณ 2,000 ครั้งเลยทีเดียว และหากมีเรืออัจฉริยะเกิดขึ้นมา ก็คาดว่าจะช่วยลดตัวเลขความสูญเสียนี้ลงได้ประมาณครึ่งหนึ่ง
การร่วมมือกันระหว่างบริษัทเดินเรือกับบริษัทผู้ผลิตเรือนี้ยังเป็นการทำให้ญี่ปุ่น มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่ต้องการของโลก โดยที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทผู้ผลิตเรือของญี่ปุ่นนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้สำเร็จก็คาดว่า จะกลับขึ้นมามีส่วนแบ่งตลาดที่ 30 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่หล่นลงมาอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์แล้วในปัจจุบัน
การจับมือกันของสองพาร์ตเนอร์ยังเพิ่มปริมาณข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวมด้วย ซึ่งยิ่งมีข้อมูลมาก ก็ยิ่งช่วยในการพัฒนาให้เร็วมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะญี่ปุ่นที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างเรืออัจฉริยะ ประเทศนอร์เวย์ รวมไปถึงบริษัทโรลล์ส-รอยซ์ ของอังกฤษ ก็มีแผนดังกล่าวเช่นกัน