ความหวังอันสูงสุด ทีโอที ได้เซ็นสัญญาพันธมิตรความถี่ 2100 MHz กับเอไอเอสภายในปีนี้ก่อนดีแทคแน่นอน หลังโดนมือที่มองไม่เห็นแต่ใหญ่คับฟ้า ดึงเรื่องดองเค็มไว้กว่า 2 ปี โดยเพิ่งส่งร่างสัญญาที่แก้ไขครั้งสุดท้ายให้อัยการตรวจสอบ “มนต์ชัย” ลั่นหากสัญญาพันธมิตรกับเอไอเอส และดีแทคสำเร็จ จะทำให้รายได้จากธุรกิจโมบายสูงถึงปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท ดันยอดทีโอที มีกำไรในปี 2562
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำสัญญาจริง กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz ว่า ในเดือน ก.ค.นี้ จะครบกำหนดการต่ออายุของสัญญาทดสอบ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเซ็นสัญญาจริงเลยหรือไม่นั้นยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากทีโอที ได้ส่งร่างสัญญาจริงให้อัยการสูงสุดตรวจสอบอยู่ หากมีหนังสือตอบกลับมาว่าสามารถลงนามได้เลย ทีโอทีก็จะไม่รีรอในการเซ็นสัญญาจริงร่วมกับเอไอเอส โดยคาดว่าน่าจะได้ลงนามในสัญญาจริงก่อนการลงนามร่วมกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในการเป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz
“เมื่อรวมรายได้จากการเป็นพันธมิตรกับดีแทค และเอไอเอส แล้ว ก็จะทำให้ทีโอที มีรายได้จากธุรกิจโมบายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 15,000 ล้านบาท ทำให้ทีโอทีกลับมามีกำไรในปี 2562 หลังจากที่เริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2559”
สำหรับสาเหตุที่สัญญาทดลองของเอไอเอสถูกขยายออกไปอีก จากเดิมที่จะต้องสิ้นสุดลงในเดือน พ.ค.นั้น มีเหตุผลหลายประการที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งอีกส่วนหนึ่งก็คือ ต้องรอให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบก่อน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ล่าสุด เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งมีมติเห็นชอบการในการเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาเช่าเสาและอุปกรณ์จาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด (AWN) เป็นบริษัท ซุปเปอร์บรอดแบนด์ เน็ตเวอร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เอไอเอส เช่นเดียวกัน
อนึ่ง ข้อตกลงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างทีโอที และเอไอเอส ประกอบด้วย 1.เสาส่งสัญญาณ ทีโอทีได้ค่าเช่าปีละ 3,600 ล้านบาท 2.อุปกรณ์ 2G จ่ายค่าเช่าอีกปีละ 2,000 ล้านบาท ดังนั้น ทีโอทีจะมีรายได้จากทรัพย์สินสัมปทานที่ เอไอเอส ส่งคืนทั้งหมดปีละ 5,600 ล้านบาท และ 3.นอกจากนี้ยังมีสัญญาโรมมิ่งบนคลื่น 2100 MHz อีกปีละ 3,900 บาท ทำให้ทีโอทีมีรายได้จาก เอไอเอส ปีละ 9,500 ล้านบาท