xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายชื่อ 7 อุปกรณ์เสี่ยงถูกเจาะระบบในยุค IoT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การมาถึงของ IoT อาจหมายถึงความสะดวกสบายจากเซนเซอร์ต่างๆ และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ในการมอนิเตอร์สิ่งรอบตัวแทนมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การใช้งานอุปกรณ์ IoT ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากๆ ก็อาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะกรณีที่ตัวเครื่องถูกเจาะระบบโดย “แฮกเกอร์”

วันนี้เราจึงรวบรวมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการที่อุปกรณ์ IoT ถูกเจาะระบบมาฝากกัน ดังนี้

1.เครื่องมือมอนิเตอร์หัวใจ

ในยุค IoT แฮกเกอร์อาจสามารถล่วงรู้ถึง “สุขภาพของหัวใจ” ของคุณได้มากกว่าใคร โดยอุปกรณ์เช่น สายรัดข้อมือสุขภาพ เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนสามารถตกเป็นเครื่องมือของแฮกเกอร์ได้ง่ายๆ และที่ผ่านมา เคยมีการเรียกคืนอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ เนื่องจากปัญหาด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีมาแล้ว ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

2.รถยนต์

จะเป็นอย่างไร หากรถยนต์อยู่ในความควบคุมของบุคคลอื่นผ่านอินเทอร์เน็ต คงต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่อยากคิดเลย ยิ่งในวันที่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้รับการยกย่องเป็นนวัตกรรมด้านการเดินทางสำหรับคนยุคใหม่ แต่ความหวาดวิตกนี้ อาจทำให้กระทบต่อยอดขายของรถอัตโนมัติได้ ฟากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ จึงพยายามหาแนวทางป้องกันไม่ให้ระบบถูกเจาะได้โดยง่าย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีการตั้งคำถามที่น่าสนใจนั่นคือ นักพัฒนาคอมพิวเตอร์ต่อสู้กับไวรัส และแฮกเกอร์มาหลายสิบปี ทุกวันนี้ก็ยังปราบไม่ได้ แล้วรถยนต์คิดว่า จะสามารถปรับแก้ข้อบกพร่องนี้ได้โดยไวเช่นนั้นหรือ

3.บ้านอัตโนมัติ

ยุคนี้เป็นโจรก็ยังปรับตัว เพราะพวกเขากำลังจะเจอกับบ้านอัตโนมัติที่ควบคุมทุกอย่างได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่ซึ่งประตูหน้าบ้านถูกเปิดได้จากคำสั่งทางไกล ประตูโรงรถก็สั่งได้ อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิก็ถูกเจาะได้ ดังนั้น ข้าวของในบ้านก็มีโอกาสหายได้เช่นกัน

4.ทริปท่องเที่ยว

การจองทริปท่องเที่ยวที่ไม่ได้ใช้เว็บไซต์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ อาจทำให้มีบุคคลอื่นเข้ามาหาประโยชน์ได้ ยกตัวอย่างเช่น สองสามีภรรยาคู่หนึ่งจองห้องพัก และจ่ายเงินเรียบร้อย จากนั้น ก็ขอให้เจ้าของบ้านพักส่งรหัสผ่านมาให้ ปรากฏว่า เมื่อพวกเขามาถึงห้องพัก รหัสผ่านนั้น กลับใช้ไม่ได้ และเมื่อเจ้าของห้องตัวจริงมาถึง ก็เพิ่งถึงบางอ้อว่า ที่แท้แล้ว มีใครบางคนแอบนำข้อมูลของห้องพักนี้ไปขายบนอินเทอร์เน็ต เพื่อเชิดเงินจองไปง่ายๆ นั่นเอง

5.ลูกอาจมีภัย

การติดอุปกรณ์ GPS ไว้กับเด็กๆ หรือสัตว์เลี้ยง อาจทำให้คนใจร้ายบางคนล่วงรู้ความเคลื่อนไหว และรู้ว่าเวลาไหนเหมาะสมที่ควรจะลงมือ

6.โทรศัพท์มือถือถูกเรียกค่าไถ่

ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือของเราถูกใช้เป็นที่เก็บข้อมูลสำคัญมากมาย ดังนั้น เป็นไปได้ว่า สักวันหนึ่งอาจถูกมัลแวร์เรียกค่าไถ่เล่นงานให้เปิดไม่ได้จนกว่าจะจ่ายเงินค่าไถ่ด้วยเช่นกัน

7.ข้อมูลไบโอเมทริกซ์อาจถูกนำไปขาย

ในวันที่เรามีการใช้งานข้อมูลไบโอเมทริกซ์มากมายเพื่อยืนยันตัวตน ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ข้อมูลสำคัญ เช่น ไบโอเมทริกซ์ จะไม่ถูกเอาไปหาประโยชน์ในสักวันหนึ่งเหมือนเช่นที่อีเมลโดน

เทคโนโลยีมีประโยชน์ก็จริง แต่ฝั่งโทษนั้น ก็แหลมคมมากไม่แพ้กัน ดังนั้น การใช้งานเทคโนโลยีจึงควรหาจุดสมดุลกับชีวิตให้ได้ รวมถึงถามตนเองถึงความจำเป็นในการใช้งานก่อนตัดสินใจใช้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น