xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-รัสเซีย เซ็นความร่วมมือลดค่าบริการดาต้าโรมมิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงาน กสทช. และกระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชนสหพันธรัฐรัสเซีย ร่วมลงนามความร่วมมือลดค่าบริการดาต้าโรมมิ่งระหว่างไทย-รัสเซีย ที่กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ขณะเดียวกัน ยังได้หารือร่วมกันถึงเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตีของทั้ง 2 ประเทศด้วย

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมกรรมการ กสทช.ประกอบด้วย นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร และ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วยนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เข้าร่วมประชุมหารือและลงนามความร่วมมือ (Joint Statement) ระหว่างสำนักงาน กสทช. และกระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชนสหพันธรัฐรัสเซีย (Ministry of Telecom and Mass Communications of the Russian Federation) ตามคำเชิญของ นายนิโคลัย นิกิโฟรอฟ (Nikolay Nikiforov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคมฯ

นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าร่วมด้วยที่กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย

นายฐากร กล่าวว่า สาระสำคัญของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเน้นความร่วมมือ และส่งเสริมให้มีการลดอัตราค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติสำหรับบริการดาต้าโรมมิ่ง ระหว่างประเทศไทย และสหพันธรัฐรัสเซีย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีในส่วนของความปลอดภัยในการใช้บริการโทรคมนาคม โดยในครั้งนี้ได้มีการประชุมระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ของไทยและของสหพันธรัฐรัสเซีย ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์รวดเร็วยิ่งขึ้น

การดำเนินการต่อจากนี้จะสนับสนุนโอเปอเรเตอร์ของไทยให้เจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของสหพันธรัฐรัสเซีย ถึงความเป็นไปได้ในการลดต้นทุนการให้บริการดาต้าโรมมิ่งที่เรียกเก็บระหว่างกัน หรือ Inter-operator tariff (IOT) เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในตลาดค้าปลีกบริการดาต้าโรมมิ่งทั้งการใช้งานในประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศไทย โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดค่าบริการดาต้าโรมมิ่งที่เสนอขายให้แก่ผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จะส่งผลดีต่อการสนับสนุนการท่องเที่ยว และการดำเนินธุรกิจระหว่างสองประเทศ

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้แนวทางเดียวกับความร่วมมือ ซึ่งสำนักงาน กสทช.ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558

นอกจากนั้น ยังมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีกับหน่วยงานต่างๆ ตามคำเชิญของกระทรวงโทรคมนาคมฯ ได้แก่ Federal State Unitary Enterprise, Kaspersky Lab และ InfoWatch ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญ และได้รับการยอมรับในระดับโลกในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีของสหพันธรัฐรัสเซีย

ด้านนายนิโคลัย กล่าวว่า กระทรวงโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชน สหพันธรัฐรัสเซีย เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานทางด้านโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการด้านไปรษณีย์ โดยจะพัฒนา และดำเนินงานตามแนวนโยบายจากทางภาครัฐ และกำกับดูแลในด้านต่างๆ เช่น การจัดสรร และกำกับดูแลคลื่นความถี่ การกำกับดูแลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมไปถึงการพัฒนาอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และวิทยุ รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการให้บริการโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และสื่อต่างๆ ได้

ในช่วงปี 2012-2018 กระทรวงโทรคมนาคมฯ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้สำเร็จตามแผน ได้แก่ 1.ด้านโทรคมนาคม ให้มีการเข้าถึงการใช้บริการบรอดแบรนด์มากกว่า 90% ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการ 4G และคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตของเด็ก 2.ด้านการไปรษณีย์ ทำให้การขนส่งทางไปรษณีย์ในชุมชนมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ส่งภายใน 24 ชั่วโมงสำหรับพื้นที่ชุมชน และใกล้เคียง และระหว่างเมืองภายใน 3 วัน นอกจากนั้น มีจุดให้บริการเกี่ยวกับภาครัฐ และการให้บริการทางด้านการเงินในที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 42,000 แห่งทั่วสหพันธรัฐรัสเซีย 3.ด้านสื่อ มี Free TV จำนวน 20 ช่องสำหรับประชากรทั้งประเทศ โดยมีเนื้อหาที่เหมาะสม และเข้าถึงง่าย และบริการโสตทัศน์ดิจิตอล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

4.ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร รัสเซียมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมากถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในส่วนของภาคอุตสาหกรรม IT นั้น มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่า GDP ของรัสเซีย มากถึง 3 เท่า และ 5.การให้บริการภาครัฐโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประชากรรัสเซียใช้บริการของภาครัฐจากทางอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 70 % และรัฐจัดให้มีการให้บริการทางภาครัฐทั้งหมดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
กำลังโหลดความคิดเห็น