xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มซี ระดม 17 กูรูกระตุ้นองค์กรไทยให้เข้าใจ Blockchain

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สถาบันไอเอ็มซีเผยผลสำรวจทักษะบุคลากรด้านไอทีในประเทศไทย พบอัตราการใช้คลาวด์ และบิ๊กดาต้าในองค์กรไทยเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน สวนทางกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง Blockchain ที่อยู่ในระดับต่ำมาก ชี้ให้เห็น Blockchain ยังต้องการการผลักดันโดยพบว่า 15% ของธนาคารใหญ่ระดับโลกกำลังมีแผนประยุกต์ใช้ Blockchain เต็มรูปแบบในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 65% ใน 3 ปี ส่งให้มูลค่าตลาด Blockchain ทั่วโลก คาดว่าจะขยายตัวจาก 210 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 มาเป็น 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่องค์กรไทยควรตระหนัก และนำไปใช้ เพราะสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ไม่เพียงการโอนเงินที่ปลอดภัย และรวดเร็ว แต่ยังลดโอกาสที่ไวรัส หรือมัลแวร์จะทำลายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย

Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนให้ความสนใจ เพราะถูกมองว่า จะเหมือนกับอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบ อย่างมัลแวร์ WannaCry ถ้ามี Blockchain ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะข้อมูลถูกจัดเก็บหลายที่ โดย Blockchain เป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายหลายที่จนทำให้เกิดความปลอดภัยสูงทำให้ Blockchain มีแผนถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง

จุดเด่นของ Blockchain อยู่ที่การตรวจสอบความเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้องค์กรรับรู้ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างโปร่งใส ทำให้ Blockchain ไม่ได้เหมาะกับเพียงระบบโอนเงินเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกระบบที่ต้องการเก็บข้อมูล ทั้งรูปแบบจำกัดเฉพาะคนในองค์กร และแบบเปิดกว้างต่อสาธารณชน

ทั้งนี้ ในปี 2016 ไอบีเอ็ม เผยผลการสำรวจพบว่า 15% ของธนาคารใหญ่ระดับโลก กำลังมีแผนประยุกต์ Blockchain เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบในปี 2017 ก่อนที่ตัวเลขนี้จะขยับเพิ่มเป็น 65% ในอีก 3 ปี หรือปี 2019

ทั้งนี้ ไอเอ็มซีจึงจัดอบรมสำหรับทั้งนักพัฒนา และผู้บริหาร เพื่อต้องการให้หลายส่วนได้เรียนรู้ที่มาที่ไป โดยเชิญวิทยากร 17 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เคยสัมผัส Blockchain มาแล้ว มีประสบการณ์ตรง ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ รวมถึงข้อบังคับ และกฎหมายที่ต้องเตรียมปรับเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายอุตสาหกรรมยังไม่รู้ว่า Blockchain จะส่งผลกระทบอย่างไร ต้องติดตั้งระบบอื่นหรือไม่ และต้องเตรียมตัวอย่างไร

ดร.ธนชาติ ยกตัวอย่างว่า ในอนาคต ฐานข้อมูลทะเบียนรถยนต์ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับ Blockchain เพื่อให้ทุกคนได้เห็นการทำธุรกรรมที่โปร่งใสขึ้น เช่น ที่รัฐบาลเอสโทเนีย เริ่มนำ Blockchain มาเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการประชาชน ในส่วนอุตสาหกรรมการเงิน ธนาคารเริ่มจะนำ Blockchain มาใช้กับระบบเก็บสัญญา โรงงานที่ส่งออกสินค้าไปอียู (สหภาพยุโรป) ที่อยากพิสูจน์ตัวเองว่า ดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ Blockchain ก็สามารถช่วยได้ โดยคาดว่า 2-3 ปีข้างหน้า จะเห็น Blockchain ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในเมืองไทย

“ในภาพรวมมูลค่าตลาดบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain ทั่วโลก คาดว่าจะขยายตัวจาก 210 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 มาเป็น 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 โดยเม็ดเงินบางส่วนจะหมุนวนในกลุ่มผู้ให้บริการโซลูชัน และโครงข่ายเป็นหลัก”

สำหรับประเทศไทยนั้น เชื่อว่าการลงทุนเรื่อง Blockchain ควรจะเริ่มที่การพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะทำให้องค์กรไทยมีความพร้อมเพิ่มขีดความสามารถสู่ระดับโลก โดยองค์กรไทยต้องลงทุนเรื่องคน ให้มีความเข้าใจ ก่อนว่า Blockchain เข้ามาใช้ทำอะไรได้บ้าง การสำรวจล่าสุดของไอเอ็มซี พบว่า คนไอทีไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอย่างบิ๊กดาต้ามากขึ้น จากการสุ่มตัวอย่างมากกว่า 250 ราย พบว่า บุคลากรไอทีไทยมีความสนใจเรื่องบิ๊กดาต้า รวมทั้งยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกิน 40% เข้าใจ และเริ่มใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า โดยราว 56% ระบุว่า เคยใช้เทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้ง บุคลากรกลุ่มนี้ราว 40% บอกว่า เคยใช้งาน Apache Hadoop และ 30% เคยใช้งาน NoSQL

โดยสรุปผลการวิจัยนี้สะท้อนว่า บุคลากรไอทีไทยมีประสบการณ์การใช้เทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้ง และบิ๊กดาต้าดีขึ้นมาก โดยภาษา Java และ PHP ยังเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีใหม่อย่าง Spark, Microservices, Container หรือ DevOp ที่เริ่มใช้งานแพร่หลายในต่างประเทศ บุคลากรไอทีไทยยังไม่มีประสบการณ์มากนัก จึงควรที่จะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ รวมถึงประเทศไทยยังขาดประกาศนียบัตรระดับสากลที่จะทำให้บุคลากรไอทีไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น