เผยรายละเอียดการยื่นซองประมูลคลื่น 2300 MHz พบ ดีแทค ชนะทั้งในแง่เชิงเทคนิค และราคา ที่เสนอเหนือกว่าคู่แข่ง 30% หวังเซ็นสัญญาแล้วเสร็จภายในตุลาคม 2560 ด้านดีแทคเผยเครื่องที่ใช้งานในระบบ 4G กว่า 70% รองรับการใช้งาน 2300 MHz อยู่แล้ว
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz เนื่องจากให้ข้อเสนอทั้งด้านเทคนิค และรายได้เหนือกว่าผู้เข้าร่วมเสนอเงื่อนไขที่มีคะแนนเป็นอันดับ 2 ถึง 30% โดยจะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนมากกว่า 20,000 แห่ง ซึ่งมากกว่าที่ทีโอทีตั้งไว้
“ในเชิงของเทคโนโลยี ทางดีแทค มีการเสนอติดตั้งเทคโนโลยี LTE-TDD เวอร์ชัน 13 (Release 13) ในขณะที่รายอื่นเสนอให้ใช้งานบน Release 12 เช่นเดียวกับในแง่ของผลตอบที่ ที่ทางดีแทค ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนที่ 4,510 ล้านบาทต่อปี ทางดีแทค จึงได้คะแนนประเมินทั้งเชิงเทคนิค และรายได้”
หลังจากนี้ ทีมของทีโอที และดีแทคจะร่วมกันร่างสัญญาจริงเพื่อส่งให้คณะกรรมการกฎหมายของทีโอทีตรวจ ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการทีโอทีเห็นชอบภายในเดือน มิ.ย. จากนั้นต้องส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะส่งให้อัยการสูงสุดเห็นชอบ คาดว่าจะลงนามสัญญาจริงได้ภายในเดือน ต.ค.2560
สัญญาครั้งนี้ไม่ต้องส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความแต่อย่างใด เพราะเป็นสัญญาที่ทำถูกต้องตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.กสทช. ใช้รูปแบบการโรมมิ่งตามประกาศของ กสทช.และเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เคยมีการทำมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ จึงมั่นใจว่าจะไม่ล่าช้าเหมือนกรณีทำสัญญาทดลองกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในคลื่น 2100 MHz ซึ่งเป็นเรื่องที่ทีโอทีเพิ่งเคยทำ จึงทำให้การทำงานกับดีแทคจะเร็วขึ้นเพราะทีโอทีมีประสบการณ์แล้ว
นอกจากนี้ ดีแทคยังมีนโยบายสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 มีโครงการเน็ตอาสา ลงชุมชน ซึ่งสามารถหนุนโครงการเน็ตประชารัฐของทีโอทีได้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มเทเลนอร์ ดีแทค ทีโอที บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 ด้วย
“การที่สัญญาการให้บริการคลื่น 2300 MHz ของทีโอทีจะหมดในปี 2568 ทำให้ต้องมีการเร่งกระบวนการให้เร็วที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้น เชื่อว่าจะไม่มีเหตุแทรกซ้อนที่ทำให้การเซ็นสัญญาต้องเลื่อนออกไป”
ขณะเดียวกัน จากการเป็นพันธมิตรกับดีแทคครั้งนี้จะทำให้ทีโอทีมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจโมบาย 15,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีรายได้จากเอไอเอสปีละ 10,000 ล้านบาท และจะทำให้ทีโอทีกลับมามีกำไรในปี 2562
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะเริ่มมีการนำคลื่นที่จากเดิมไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาใช้งานประกอบกับความกว้างของแบนด์วิธ จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้ไทยก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 บนบริการที่มีคุณภาพ และเป็นพื้นฐานที่จะปลดล็อก เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมากมาย
ขณะที่ในมุมของทีโอที ก็จะได้เป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐ และเอกชนที่มาสร้างประโยชน์ร่วมกัน เมื่อดีแทค นำคลื่นเหล่านี้มาใช้ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งมูลค่าทางธุรกิจ มูลค่าทางเศรษฐกิจ และคลื่นนี้จะกลายเป็นส่วนเสริมในการให้บริการฟิกซ์บรอดแบนด์ของทีโอทีในอนาคต
จากรายละเอียดข้อตกลง คือ บริษัท เทเลเอสเสท จำกัด บริษัทลูกของดีแทค สร้างโครงข่ายให้ทีโอทีเช่าใช้งาน ดีแทค ก็จะซื้อคาปาซิตีกลับมา 60% ส่วนที่เหลือให้ทีโอทีนำไปใช้ในการให้บริการต่อไป โดยทางที่ทางดีแทคต้องขยายให้ครอบคลุม 80% ของจำนวนประชากร
“การได้คลื่นแบนด์วิธ 60 MHz ภายใต้คลื่นความถี่เดียว และกว้างที่สุด จะทำให้ดีแทคสามารถให้บริการ 4G LTE ได้ลื่นที่สุด และจะเป็นรายแรกที่ให้บริการเทคโนโลยี 4G LTE-TDD ที่เหมาะสำหรับการใช้งานดาต้าโดยเฉพาะ และมีการใช้งานกันทั่วโลก”
สำหรับสิ่งที่แตกต่างระหว่าง LTE-TDD และ LTE-FDD คือ รูปแบบของการแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนของ FDD จะใช้การรับ-ส่งข้อมูลบนคลื่นความถี่สูง-ต่ำพร้อมๆ กัน ในขณะที่ TDD จะใช้การแบ่งการรับสลับกับการส่งในแต่ละช่วงเวลาในระดับเสี้ยววินาที
“เทคโนโลยี 4G LTE-TDD เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานทั่วโลก โดยเฉพาะในจีน ที่ไชน่า โมบายล์ มีการติดตั้งสถานีฐานไปกว่า 1.5 ล้านสถานี ให้บริการลูกค้ากว่า 500 ล้านคน จึงเป็นเทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วว่าได้รับการยอมรับจากทั่วโลก”
ส่วนในเรื่องของของอุปกรณ์ที่รองรับ เชื่อว่า สมาร์ทโฟนในท้องตลาดที่มาจากเมืองจีน ส่วนใหญ่จะรองรับ Band 40 (2300 MHz) อยู่แล้ว และปัจจุบัน ในดีแทคเห็นว่า 70% ของลูกค้าที่ใช้งานเครื่อง 4G รองรับ 4G LTE-TDD 2300 MHz ประกอบกับจะมีการนำเข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมในอนาคตจึงไม่ใช่ปัญหา