ซีอีโอเฟซบุ๊ก (Facebook) ใส่ชุดครุยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทั้งที่หยุดเรียนกลางคัน ชี้รัฐบาลควรมีรายได้พื้นฐานให้ประชาชนได้ตั้งตัว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกังวลกับการหารายได้เลี้ยงชีพ และมีเวลาพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
คำกล่าวของซีอีโอเฟซบุ๊กอย่างมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ครั้งนี้เกิดขึ้นในการกล่าวสุนทรพจน์ให้บัณฑิตจบใหม่ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดฟังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยเจ้าพ่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระบุว่า สิ่งที่ทำให้เขามายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้เป็นเพราะเขามีพื้นที่ปลอดภัยมากพอ และสามารถล้มเหลวได้โดยที่ครอบครัวจะไม่เดือดร้อน
"ถ้าหากผมต้องซัพพอร์ตครอบครัว ผมคงไม่มีเวลามานั่งเขียนโปรแกรม และคงไม่ได้ยืนอยู่ ณ จุดนี้วันนี้"
พร้อมกันนั้นเขายังได้เปิดมุมมองว่าการวัดความสำเร็จนั้น ไม่ควรวัดที่มูลค่าทางเศรษฐกิจอย่าง GDP หากแต่เป็นการวัดที่บทบาท และคุณค่าที่แต่ละคนมีต่อสังคมนั้น ๆ มากกว่า
"พวกเราควรให้ความสำคัญกับไอเดียอย่าง Universal Basic Income หรือรายได้ระดับพื้นฐานสากลที่มอบให้แก่ทุกคนสำหรับเป็นหลักประกัน เพื่อให้คนเหล่านั้นอุ่นใจมากพอและมีความกล้าที่จะทดลองสร้างสิ่งใหม่ ๆ"
ซีอีโอเฟซบุ๊กยังกล่าวอีกว่า เขารู้สึกถึงความผิดปกติในสังคม เมื่อครั้งที่เขาลาออกไปและสามารถทำเงินได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐในอีก 10 ปีต่อมา นั่นคือ ยังมีเด็กนักเรียนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายหนี้การศึกษาได้
"ถ้าเราไม่สามารถทำให้มนุษย์มีอิสรภาพที่จะทำความฝันให้เป็นจริงแล้ว เราทุกคนต่างก็ล้มเหลว"
ทั้งนี้เขามองว่าการจ่ายเงินได้พื้นฐานนั้นเป็นโซลูชันที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ดีทีเดียว
"ในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่่ผานมา มีการกำหนดนิยามของความเท่าเทียมกันมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่คนในรุ่นเราจะเป็นผู้กำหนดนิยามดังกล่าวบ้างแล้ว"
โดยไอเดียของ Universal Basic Income นั้นจะมาจากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้แก่พลเมืองแบบไม่มีเงื่อนไขโดยครอบคลุมความต้องการขั้นพื้นฐานเพื่อให้พลเมืองสามารถอยู่ได้ในสังคม
ซึ่งนอกจากมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กแล้ว ผู้ที่เคยเสนอแนวคิดในลักษณะเดียวกันนี้ก็คือ Sam Altman ประธานของ Y Combinator และอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสล่า (Tesla) ที่มองว่านี่คืออีกหนึ่งโซลูชันที่จะช่วยแก้ปัญหามนุษย์ไม่มีงานทำจากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติ