xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 12 กิจการดิจิตอล รับสิทธิพิเศษในดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รมว.ดีอีขอบีโอไอเพิ่มอีก 12 กิจการดิจิตอล รับสิทธิพิเศษจากบีโอไอ หากมาลงทุนในโครงการดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์ พร้อมมอบดีป้า พัฒนาคนดิจิตอลป้อน EEC จำนวน 2,000 คน เร่งจับมือ 3 สมาคมธุรกิจหวังป้อนคนให้ตรงกับงานที่ขาดแคลน ปิ๊งไอเดียเปลี่ยนวีซ่าท่องเที่ยวผู้เชี่ยวชาญดิจิตอลเป็นประเภทผู้เชี่ยวชาญ และทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2560 ที่ห้องประชุมสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอล 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ 2.ซอฟต์แวร์และระบบอัจฉริยะ 3.บริการดิจิตอลและออกแบบ 4.อุปกรณ์และบริการสื่อสาร 5.เนื้อหาดิจิตอลและข้อมูลดิจิตอล และ 6.โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ที่จะได้รับการส่งเสริมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิตอล หรือดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์

โดยมีประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมจำนวน 39 ประเภทกิจการ ในจำนวนนี้เป็นประเภทกิจการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้การส่งเสริม และดีอี ขอเพิ่มอีก 12 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.การผลิตอุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์รับส่งข้อมูลประมวลผล และจัดเก็บข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลขั้นสูง 2.การผลิตหุ่นยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องจักรอัตโนมัติ 3.ซอฟต์แวร์ที่ใช้บริการเฉพาะด้าน 4.การออกแบบแผงวงจร และชิ้นส่วนควบคุมการทำงานของระบบอัตโนมัติ 5.การบริการประมวลผลข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการประมวลผลขนาดใหญ่

6.พื้นที่ทดสอบทดลองนวัตกรรมดิจิตอล 7.พื้นที่ให้บริการอุปกรณ์ เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างนวัตกรรมดิจิตอล 8.เคเบิลใต้น้ำ และสถานีภาคพื้นดิน 9.ดาวเทียม และสถานีภาคพื้นดิน 10.บริการเคเบิลใยแก้วภาคพื้นดิน 11.สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิตอล 12.กิจการนิทรรศการ และงานประชุมนานาชาติด้านดิจิตอล (Digital MICE)

นายพิเชฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ ดีอีได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า สร้างกำลังคนดิจิตอล จำนวน 2,000 คน เพื่อรองรับนักลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งอยู่ในแผนเดียวกับการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิตอล 5 แสนคนภายใน 5 ปี หรือปีละ 1 แสนคน โดยการสร้างคนป้อน นักลงทุนในพื้นที่ EEC นั้น แบ่งออกเป็น 1.สร้างความเข้มแข็งภายใน ด้วยการพัฒนาทักษะด้านดิจิตอลให้กับกำลังคนดิจิตอลไทย มี 2 โครงการ ได้แก่

โครงการจับคู่ธุรกิจดิจิตอล เปิดบ้านรับนักเรียนอาชีวะเข้าทำงานระหว่างเรียน (Work Integrated Learning : WIL) และจัดตั้งสถาบันพิเศษเฉพาะทางด้านดิจิตอล โดยจะดึงสถาบันชั้นนำระดับโลกจับคู่กับมหาวิทยาลัยในประเทศ สร้างหลักสูตรระยะสั้น สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลระดับสูง (High Skill Professional) ของอาเซียน โดยมุ่งเน้นกลุ่มโปรแกรมเมอร์ คนทำงานด้านดิจิตอลทั้งไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบ CLMV เพื่อมุ่งเน้นให้ไทยเป็นศูนย์พัฒนาทักษะดิจิตอลขั้นสูงของอาเซียน

2.เสริมความแข็งแกร่งจากภายนอก ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนดิจิตอล เป็นจำนวนมาก ทั้งระดับกลาง และระดับสูง ดีอีจึงได้มีแนวคิดที่จะนำผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยวีซ่าท่องเที่ยว (Digital Nomad) เข้าสู่ระบบกำลังคนดิจิตอลของกระทรวงฯ เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นให้กับนักลงทุนในพื้นที่ EEC โดยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจ Digital Startup ของต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจแบบไม่มีใบอนุญาตในไทย ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นเรื่องของการท่องเที่ยว ปัจจุบัน เชียงใหม่ติดอันดับ 1-3 ของโลกที่ Digital Nomad นิยมเข้ามาทำงาน และใช้ชีวิตในเมืองไทย

ดีอีจึงได้ตั้งกลไกการตรวจรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลโดยมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการเรื่องหลักเกณฑ์ของการตรวจรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอล และให้ดีป้า จัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้สามารถเปลี่ยนวีซ่าเป็นประเภทผู้เชี่ยวชาญ และทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งจับคู่กับนักลงทุนที่ต้องการ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหากำลังคนดิจิตอลระยะสั้นพร้อมๆ กับนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งเข้าประเทศ จากที่ประเทศไทยไม่เคยมีรายได้ในส่วนนี้ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ EEC อีกด้วย

“วันที่ 26 พ.ค.นี้ เราจะนำข้อมูลนี้เสนอให้ที่ประชุม EEC รับทราบ เพื่อนำข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งในการทำประชาพิจารณ์กับคนในพื้นที่ โดยเบื้องต้นเราก็มีข้อมูลการสำรวจในพื้นที่ดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์ ด้วยว่า ชาวบ้านกังวลเรื่องอะไรบ้าง เช่น อยากให้ชื่อดิจิตอลพาร์ค มีชื่อท้องถิ่นต่อท้าย เช่น ดิจิตอลพาร์ค แหลมฉบัง ต้องการให้มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล ชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างไร มีการจ้างงาน มีไวไฟฟรีใช้ และการจราจรกับสิ่งแวดล้อมจะมีการบริหารอย่างไร ส่วนเรื่องการสร้างบุคลากรให้ตรงกับงานที่กำลังขาดแคลน ภายในเดือนหน้าเราจะคุยกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และ สมาคมธนาคารไทย เพื่อหารือถึงบุคลากรที่ต้องการ ซึ่งเขาเหล่านั้น จะมีข้อมูลของเอกชนว่า ต้องการแรงงานประเภทไหนบ้าง”
กำลังโหลดความคิดเห็น