xs
xsm
sm
md
lg

Technology Disruption กระทบแรงงานไอทีอินเดีย คาดถูกเลิกจ้าง 200,000 ตำแหน่งในปี 2020

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากรอยเตอร์
ตลาดไอทีอินเดียที่เคยเฟื่องฟูเมื่อหลายปีก่อน มาตอนนี้ถึงคราววิกฤตแล้ว โดยคาดว่าจะมีแรงงานไอทีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ถูกเลย์ออฟภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เนื่องจากขาดทักษะที่จะก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลใบใหม่ได้ อีกทั้งยังมีระบบออโตเมชันมาแข่งกับการจ้างงานมนุษย์ด้วย

การมาถึงของยุค Technology Disruption ที่หลายคนกังวลว่า เทคโนโลยี AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อหนังสือพิมพ์มินท์ (Mint) ได้เปิดเผยผลการสัมภาษณ์พนักงาน 22 คนที่ทำงานใน 7 บริษัทไอทีของอินเดีย พบว่า มีวิศวกรอินเดียอย่างน้อย 56,000 คนที่บริษัทมอบสลิปสีชมพูให้ในปีนี้ ซึ่งหมายความว่า พวกเขาถูกเลิกจ้าง และตัวเลขนี้ยังเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ถึงสองเท่า

โดยผู้ที่ได้รับซองดังกล่าวนี้จะถูกประเมินโดยบริษัทก่อนว่า ได้รับเรตติ้งอยู่ในระดับใด หากอยู่ในระดับต่ำ บริษัทก็พร้อมจะให้ออกจากงาน

หนังสือพิมพ์มินท์ ยังระบุด้วยว่า มีพนักงานของบริษัท Cognizant ที่ถูกประเมินอยู่ในระดับต่ำประมาณ 15,000 คน ส่วน Infosys ก็พบว่า มีผู้จัดการอาวุโส จำนวน 3,000 ตำแหน่งที่ต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ความสามารถ

ทางมินท์ คาดด้วยว่า ในแต่ละปีจะมีแรงงานไอทีอินเดีย ถูกให้ออกประมาณ 1-1.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปีนี้ คาดว่าตัวเลขจะอยู่ระหว่าง 2-6 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวถูกค้านโดยบริษัทจัดหางานอย่าง K Lakshmikanth ที่ระบุว่า ตัวเลขการตกงานของแรงงานไอทีในปีนี้ น่าจะอยู่ที่ 1.75 แสนคน และภายในปี 2020 อาจมีคนตกงานถึง 2 แสนคนเลยก็เป็นได้ โดยมีสาเหตุมาจากการไม่เตรียมตัวฝึกทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกอนาคต

ขณะที่รายได้จากที่เคยเติบโตถึง 25 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ก็หล่นลงมาเหลือแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้อินเดียเสี่ยงต่อการเป็นประเทศที่ประชากรชนชั้นกลางถูกเลิกจ้างมากที่สุดในโลกเลยทีเดียว

“งานที่ต้องการโปรแกรมเมอร์ 50 คน นักวิเคราะห์ และนักบัญชี เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้สามารถทำได้ด้วยโปรแกรม-ผู้ช่วยอัจฉริยะแล้ว ซึ่งนั่นทำให้งานนับพันตำแหน่งหายไปจากสารบบ” Phil Fersht ซีอีโอของบริษัท HfS Research กล่าวเสริม

ปัญหาพื้นฐาน คือ การที่วิศวกรที่จบออกมา 80 เปอร์เซ็นต์ ขาดทักษะที่จำเป็น ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการว่าจ้างเข้าทำงาน

โดยในปัจจุบันมีวิศวกรที่จบการศึกษามากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ที่อยากทำงานในสายซอฟต์แวร์เอ็นจิเนีย แต่มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ถูกว่าจ้าง

เหล่านี้เป็นปัญหาที่แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาแอปพลิเคชันในแบบเดิม ทดสอบ และควบคุมผ่านทางไกลที่เคยได้รับความนิยมเมื่อ 10 ปีก่อน กำลังจะเสื่อมมนต์ขลัง และโลกไอทีจะเปลี่ยนเข้าสู่โลกของโซเชียล, คลาวด์, AI และ IoT แทนแล้วในอีกไม่ช้า

กำลังโหลดความคิดเห็น