ย้อนไปเมื่อปี 2557 บริษัท ไฟเบอร์วัน จำกัด (มหาชน) ได้ขอใบอนุญาตเพื่อเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยหวังเป็นผู้ให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำอีกรายหนึ่งในตลาด
แต่ทว่าเมื่อได้ทดลองลงเล่นในตลาดแล้วกลับพบว่าสิ่งที่อยากทำไม่ได้ทำกันง่ายๆ ต้องลงทุนทั้งทรัพยากรและงบการตลาดจำนวนมาก ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ลดขนาดธุรกิจลงมาเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายติดตั้งให้กับผู้อยู่อาศัย โดยเป็นโครงข่ายในระดับ access network หรือ end-user network ซึ่งหมายถึงโครงข่ายที่เดินสายไฟเบอร์ออปติกเข้าถึงบ้านแต่ละหลัง หรือห้องพักในคอนโดมีเนียมแต่ละห้อง แทนสายทองแดงในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า จนทำให้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มมีกำไร และเตรียมขยายตลาดไปยังประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV) รวมถึงมีแผนจะนำบริษัทเข้าตลาด MAI ภายในไตรมาสที่ 4 ปีหน้าอีกด้วย
***ความสำเร็จเกิดจากปัญหาการใช้งานของลูกค้า
ประเด็นสำคัญที่ทำให้บริษัทหาช่องทางในการทำตลาดเฉพาะกลุ่มเจอ จนกระทั่งมีกำไรและสามารถขยายการเติบโตของบริษัทไปยังต่างประเทศได้นั้น มาจากอะไร 'สมมาศเสถียร เลิศวัฒนากูล' ประธานจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฎิบัติการ ไฟเบอร์วัน เล่าให้ฟังว่า เกิดจากที่ผ่านมาผู้ใช้งานมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น แต่อินเทอร์เน็ตที่บอกว่าเป็นไฟเบอร์ ก็ยังไม่ใช่ไฟเบอร์ทั้ง 100 % ดังนั้นการที่บริษัทหาจุดยืนด้วยการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายระดับ end-user network ด้วยไฟเบอร์ ไปถึงที่อยู่อาศัย โดยตรงจะทำให้ความเร็วในการใช้งาน เสถียร และแรงกว่า ที่สำคัญคือ การติดตั้งโครงข่ายนี้ ไฟเบอร์วันมิได้คิดค่าบริการใดๆจากเจ้าของโครงการที่พักอาศัย หรือจากนิติบุคคลที่บริหารจัดการโครงการ หรือจากผู้อยู่อาศัยแต่ละรายแต่อย่างไร แต่เก็บจากไอเอสพีแทน
นอกจากนี้ ไฟเบอร์วันยังให้บริการดูแลและซ่อม บำรุงรักษาโครงข่ายดิจิตอลแบบรวมศูนย์นี้เป็นเวลา 15 ปีด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทเอง เพราะการได้มาของงานในแต่ละโครงการจะได้มาในรูปแบบสัมปทานกับโครงการนั้นๆอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ใช้งานตามบ้านเองก็มีอิสระในการเลือกไอเอสพีในท้องตลาดรายไหนก็ได้ในการเชื่อมต่อเข้าถึงตัวบ้าน ซึ่งไอเอสพีเองก็ยินดีในการเป็นพันธมิตรกับบริษัทและไม่นับว่าเป็นคู่แข่งทางการตลาด เพราะเขาเองก็ไม่ต้องลงทุนในการสร้างโหนด เพียงมาเช่าใช้ระบบจากไฟเบอร์วันก็สามารถส่งไฟเบอร์ไปยังลูกค้าได้เพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไม่ต้องรอนานเหมือนที่ผ่านมา จนพูดได้ว่าในประเทศไทยมีไฟเบอร์วันเพียงรายเดียวที่เจาะตลาดในรูปแบบนี้
'เมื่อไฟเบอร์วันติดตั้งโครงข่ายดิจิตอลแบบรวมศูนย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจะเป็นลาสไมล์ ของไอเอสพี ไฟเบอร์วันจะช่วยประสานให้ไอเอสพี เข้ามาให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้อยู่อาศัย โดยผู้อยู่อาศัยแต่ละรายสามารถเลือกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่ตนต้องการได้ ไม่ต้องถูกจำกัดเหมือนเช่นระบบสายทองแดงที่ผู้อยู่อาศัยอาจต้องใช้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายเดียวกันทั้งโครงการที่พักอาศัย หรือไม่ก็ต้องมีสายทองแดงพาดระโยงระยางตามเสาไฟฟ้าในหมู่บ้าน หากมีการใช้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายรายในหมู่บ้านเดียวกัน แต่สายไฟเบอร์ออปติกสามารถรองรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายรายพร้อมๆกันในสายเดียว และสามารถรองรับความเร็วของอินเทอร์เน็ตได้ถึง 10,000 Mbps'
*** ไฟเบอร์โอกาสสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตคอนเทนต์
ด้วยความสามารถของไฟเบอร์ออปติกหนึ่งเส้นที่ลากเข้าสู่บ้าน ทุกวันนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การใช้งานอินเทอร์เน็ตพื้นฐานอย่างเดียวแล้ว แต่ยังสามารถนำคอนเทนต์วิ่งผ่านสายไฟเบอร์นี้ได้ด้วย จึงเป็นโอกาสสร้างรายได้ ลดต้นทุน ให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ได้เป็นอย่างดี อย่างล่าสุด ที่ไฟเบอร์วันจับมือกับ บริษัทเจริญยิ่ง (8888) จำกัด ผู้ให้บริการ 'เจริญเคเบิลทีวี' บริษัทเองก็สามารถมีรายได้จากผู้ให้บริการคอนเทนต์อีกทางหนึ่ง ในอนาคตหากมีคอนเทนต์เกี่ยวกับสถาบันการศึกษา ทีวีชอปปิ้ง ก็สามารถใช้ไฟเบอร์เข้าถึงผู้ใช้งานได้เช่นกัน
'ล่าสุดผู้ให้บริการไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ ให้ความสนใจทำระบบกับเน็ตเวิร์กของทางบริษัทด้วย ซึ่งไฟเบอร์วันเองก็มีแผนจะแตกไลน์ธุรกิจเป็นแอปพลิเคชั่น หรือ บริการด้านดิจิตอลอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ ,ไซเบอร์ อินชัวรัน รวมทั้งมีแผนซื้อบริษัทประกันภัย และโฮม ออโตเมชั่น อีกด้วย โดยจะทำในทั้งในรูปแบบการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเอง ควบคู่กับการทำงานกับพันธมิตรเจ้าของเทคโนโลยี โดยลูกค้าสามารถจ่ายค่าบริการเสริมนี้ได้ในราคาไม่แพงนัก'
***พร้อมรุกตลาดใหม่ มั่นใจโต 30%
จากผลความสำเร็จในการรุกตลาดที่อยู่อาศัย โครงการหมู่บ้าน และคอนโดมีเนียม ทำให้ในปีนี้บริษัทพร้อมที่จะขยายไปยังกลุ่มตลาดอื่นๆเพิ่มด้วย ได้แก่ กลุ่มอาคารสำนักงาน, ชอปปิ้ง พลาซ่า , หน่วยงานภาครัฐ อาทิ บ้านพักทหาร ตำรวจ การเคหะ สถานที่ราชการ อย่าง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยจะนำเสนอด้วยการวางระบบเน็ตเวิร์กให้กับเจ้าของอาคาร
'เราจะสร้างอินเทอร์เน็ตในแบรนด์ของอาคารนั้นๆ เพื่อให้ผู้เช่าตึกสามารถเลือกใช้และเดินระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาติดต่อไอเอสพี ขออินเทอร์เน็ตเอง ขณะที่ไฟเบอร์วันก็จะเป็นพันธมิตรกับไอเอสพีที่จะรุกตลาดกลุ่มเดียวกันให้มาเช่าใช้ระบบของไฟเบอร์วันด้วยอีกทางหนึ่ง คาดว่ากลุ่มลูกค้าใหม่นี้จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30%'
ปัจจุบัน ไฟเบอร์วันอยู่ระหว่างการเพิ่มบุคลากร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และเตรียมกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อขยายงบการตลาด เนื่องจากบริษัทเริ่มมีกำไรและคาดการณ์รายได้ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยนำจำนวนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าบ้านจากโครงการที่บริษัทเซ็นสัญญาไปแล้วประมาณ 4 แสนหลังคาเรือน ทั้งที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมีเนียมโดยในจำนวนดังกล่าวมีผู้ใช้งานเชื่อมต่อไปยังครัวเรือนแล้ว 1.5 แสนหลังคาเรือน ซึ่งบริษัทจะนำยอดการเชื่อมต่อนี้ทุกๆ 1 แสนหลังคาเรือนไปการันตีรายได้กับสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนและขยายธุรกิจต่อไป
*** เดือนก.ค.ตั้งบริษัทในสิงคโปร์บุก CLMV
สมมาศเสถียร กล่าวว่า ไฟเบอร์วันยังมีแผนในการรุกตลาด CLMV คือ ประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามด้วย เนื่องจากเป็นตลาดที่น่าสนใจและยังไม่มีบริษัทไหนที่ทำธุรกิจในรูปแบบไฟเบอร์วันในประเทศเหล่านั้น จึงมองว่ายังมีโอกาสในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน โดยในเดือน ก.ค.นี้ ไฟเบอร์วัน จะตั้งบริษัทที่ประเทศสิงคโปร์ ชื่อ ไฟเบอร์วัน อินเตอร์ เพื่อรุกตลาดดังกล่าว เนื่องจากสิงคโปร์มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจอีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์แม้จะถือหุ้นแค่ 1% แต่ก็นับว่าบริษัทต่างชาติเป็นเหมือนบริษัทของสิงคโปร์ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนทุกด้านทั้งด้านภาษีรวมถึงการส่งบุคลากรที่เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำการทำตลาดอีกด้วย
ทั้งหมดนี้จะทำให้ ไฟเบอร์วัน โต 3 เท่า จากปีที่แล้วที่มีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท และจะสามารถนำบริษัทเข้าตลาด MAI ได้ภายในไตรมาส 4 ปีหน้า.