xs
xsm
sm
md
lg

มองตลาดสมาร์ทโฟนผ่านสายตา “Qualcomm”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันของตลาดสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทั้งจากปัจจัยการเปลี่ยนมาใช้งานเครือข่าย 3G/4G ในช่วงที่ผ่านมา ที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องให้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตให้เร็วขึ้นจากเฉพาะ 3G เป็น 4G ด้วย

ในช่วงนี้ตลาดจะเกิดการแข่งขันกันรุนแรงในกลุ่มระดับบน หรือเครื่องไฮเอนด์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่อย่างซัมซุง ที่เริ่มวางจำหน่าย Galaxy S8 / S8+ ไปก่อนหน้า รวมถึง Huawei P10 และ Sony ที่เตรียมนำ Xperia XZ Premium มาทำตลาด

ในมุมของผู้ผลิตมือถือต่างต้องมีการเตรียมตัวผลิตกันล่วงหน้า ในฝั่งของผู้บริโภค ถ้าจะมีการคาดการณ์ว่า เครื่องรุ่นใหม่ๆ จะมีความสามารถใดเพิ่มขึ้นมาได้บ้าง ก็ต้องอาศัยการศึกษาจากข้อมูลของผู้ผลิตชิปเซ็ตอย่าง Qualcomm, MediaTek รวมถึง Intel ที่ผลิตหน่วยประมวลผลขายให้แก่แบรนด์มือถือต่างๆ

ไม่นับรวมกับแบรนด์มือถือที่นำนวัตกรรมจากผู้ผลิตชิปเซ็ต หรือการซื้อสิทธิบัตรมาผลิตเองอย่างเช่น ซัมซุง ที่มีการผลิตหน่วยประมวลผล Exynos, หัวเว่ย ที่ผลิต Kirin, แม้กระทั่ง Apple ที่ใช้ชิปเซ็ตในซีรีส์ A เพื่อนำมาใช้ในเครื่อง

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา Qualcomm มีการเปิดตัวชิปเซ็ตสำหรับสมาร์ทโฟนในตลาดไฮเอนด์อย่าง Snapdragon 835 ที่ถือเป็นรุ่นเรือธงในปีนี้ และมีผู้ผลิตหลายรายเข้าคิวจองหน่วยประมวลผลดังกล่าวเพื่อนำไปผลิตใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Samsung Galaxy S8 / S8+ (รุ่นที่จำหน่ายในสหรัฐฯ) Xiaomi Mi 6, Sony Xperia XZ Premium และ HTC U 11 ที่กำลังจะเปิดตัว

แน่นอนว่าเมื่อชิปเซ็ตมีความต้องการในตลาดสูง ทำให้ต้องมีการเร่งกำลังการผลิตโดยหันมาโฟกัสกับรุ่นเรือธงก่อน ทำให้แบรนด์อื่นๆ ที่สนใจก็ต้องรอซัปพลายในท้องตลาดให้เพียงพอกับดีมานด์ ก่อนนำมาผลิต ซึ่งเชื่อว่าตลอดทั้งปีนี้จะได้เห็นสมาร์ทโฟนจากหลายแบรนด์ที่ใช้งาน Snapdragon 835 ออกสู่ตลาด

เคดาร์ คอนแดป รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ ควอลคอมม์ เทคโนโลยี อิงค์ ให้ข้อมูลถึงความสามารถของ Snapdragon 835 ว่า จะมีในเรื่องของการเชื่อมต่อ 4G LTE บนสถาปัตยกรรมแบบ X16 ในระดับ Gigabit หรือ 1 Gbps ด้วยการเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่รองรับจากเทคโนโลยีของผู้ให้บริการเครือข่ายทั้งการรวมคลื่น Carrier Aggregation (CA) 3 คลื่นที่แบนด์วิธ 20 MHz

รวมกับการเชื่อมต่อแบบ 4x4 MIMO 256 QAM ในการรับสัญญาณพร้อมๆ กัน ทำให้ได้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตกันในระดับ 4.5G (จากข้อจำกัดในแง่ของคลื่นความถี่ ทำให้ตอนนี้รองรับในไทยสูงสุดที่ 700 Mbps)

นอกจากนี้ ก็ยังมีในส่วนของการแสดงผลหน้าจอระดับ 2K ให้สามารถแสดงภาพแบบ HDR บนจอมือถือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการประมวลผลให้รวดเร็วขึ้น รองรับ AR/VR แต่ขณะเดียวกัน ก็ประหยัดพลังงานมากขึ้น ด้วยการที่ Qualcomm เลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบ 10 นาโนเมตร ทำให้ใช้พลังงานน้อยลง

“ตอนนี้นวัตกรรมของผู้ผลิตชิปเซ็ตบนอุปกรณ์พกพาได้แซงหน้าผู้ผลิตชิปเซ็ตบนพีซีไปแล้ว เพราะปัจจุบัน สถาปัตยกรรมที่ใช้งานบนพีซี ยังคงเป็นแบบ 14 นาโมเมตร ในขณะที่ Qualcomm กลายเป็นผู้ผลิตรายแรกที่ผลิตชิปเซ็ตในระดับ 10 นาโนเมตร ออกสู่ตลาด”

ขณะเดียวกัน ยังมีความสามารถในแง่ของการถ่ายภาพที่ Qualcomm เรียกว่า Spectra Camera ISP ที่เพิ่มความสามารถให้ประมวลผลภาพจากกล้องคู่ ช่วยให้ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น โฟกัสได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนในแง่ของซิเคียวริตี้ภายใต้ชื่อ Haven ที่รองรับระบบรักษาความปลอดภัยจากไบโอแมทริกซ์ ทั้งม่ายตา สแกนลายนิ้วมือ รวมถึงการตรวจจับเสียงของผู้ใช้ และการทำแมกชีนเลิร์นนิ่ง หรือการเรียนรู้ผู้ใช้งาน

สุดท้าย คือ เรื่องของการชาร์จแบตเตอรี่บนมาตรฐานใหม่ Quick Charge 4.0 ผ่านพอร์ต USB-C ที่ให้ผู้ใช้เชื่อมต่อสายชาร์จที่รองรับเพียง 5 นาที จะสามารถใช้งานโทรศัพท์ได้นานถึง 5 ชั่วโมง และชาร์จแบตเต็มภายใน 15 นาที (ทดสอบบนแบตเตอรี่ขนาด 2,740 mAh)

เมื่อเห็นถึงภาพรวมใหญ่ๆ แล้วก็จะพบว่า ผู้ผลิตแต่ละรายที่นำ Snapdragon 835 ไปใช้ จะมีฟีเจอร์ในการใช้งานที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ในการนำไปใช้งานก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตแต่ละรายจะมีการปรับแต่งเพิ่มเติมให้ออกมาเป็นเอกลักษณ์ในแบรนด์ตนเองได้อย่างไร

***รอชมการแข่งขันในตลาดกลาง-บนจากผู้ผลิตจีน

อีกหนึ่งตลาดที่ Qualcomm มองว่า เป็นตลาดที่สำคัญ เพราะปัจจุบัน ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนหันมาโฟกัสในสมาร์ทโฟนระดับกลางบน หรือช่วงราคาหมื่นปลายๆ มากขึ้น ทำให้ในมุมของผู้ผลิตชิปเซ็ตก็ต้องนำนวัตกรรมให้ผู้ผลิตเลือกใช้ในส่วนนี้

โดยปัจจุบัน Qualcomm จะมีหน่วยประมวลผลรองรับทั้งหมด 5 ส่วนด้วยกัน ไล่ตั้งแต่ Snapdragon 2000 ซีรีส์ ที่เน้นจับตลาดอุปกรณ์ IoT ถัดมาในกลุ่มสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์พกพาต่างๆ ไล่ตั้งแต่ Snapdragon ซีรีส์ 200 ในตลาดเริ่มต้น (Entry) ซีรีส์ 400 ในตลาดระดับกลาง (Mid) ซีรีส์ 600 ในระดับกลางบน (High) และซีรีส์ 800 ในระดับพรีเมียม

ล่าสุด ได้มีการอัปเกรดชิปเซ็ตในกลุ่ม Snapdragon 660 / 630 ออกมาเพื่อจับตลาดในกลุ่มกลางบน ด้วยการเพิ่มความสามารถชิปเซ็ตให้รองรับการเชื่อมต่อ 4G LTE ระดับ 600 Mbps จาก 3CA กับ 2x2 MIMO 256 QAM รวมถึงการเชื่อมต่อบลูทูธ 5.0 รองรับพอร์ต USB-C

พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการประมวลผล การถ่ายภาพให้รองรับกล้องคู่ การซูมแบบลื่นไหล โฟกัสได้รวดเร็วขึ้น การถ่ายวิดีโอที่รองรับ 4K 30fps พัฒนาระบบเสียง ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบชาร์จแบตเร็ว (QuickCharge 4.0) เพียงแต่ยังคงใช้สถาปัตยกรรมแบบ 14 นาโนเมตรอยู่


ส่วนจุดต่างระหว่าง Snapdragon 660 และ 630 จะอยู่ที่การแสดงผลเป็นหลัก โดยในรุ่น 660 จะรองรับการแสดงผลหน้าจอในระดับ 2K ส่วน 630 จะอยู่ในระดับ Full HD กับในส่วนของหน่วยประมวลผล (ซีพียู) และหน่วยประมวลผลภาพ (จีพียู) ที่ทำให้ระดับราคาของทั้ง 2 รุ่นต่างกันอยู่

เมื่อเห็นถึงประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็น Samsung, OPPO Vivo, Huawei, Sony, HTC, Xiaomi หรือรายอื่นๆ จะเลือกนำไปใช้ เพราะในแต่ละแบรนด์ก็จะมีไลน์สินค้าที่จับกลุ่มช่วงราคาตั้งแต่หมื่นต้นๆ ถึงหมื่นปลายๆ อยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าด้วยกำหนดการของชิปเซ็ตที่เพิ่งเปิดตัว ทำให้อาจต้องใช้เวลาสักพักก่อนที่เครื่องจะถูกผลิตเข้าสู่ตลาด โดย Qualcomm ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน Snapdragon 660 กำลังอยู่ในสายการผลิต และคาดว่าจะพร้อมจำหน่ายในช่วงเดือนมิถุนายน ส่วน Snapdragon 630 จะเข้าสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 3
เมนทอร์ช มัลโฮทรา

***มุ่งสู่ผู้ผลิตชิปเซ็ต IoT

ในส่วนของ Qualcomm นอกจากการเป็นผู้นำในตลาดหน่วยประมวลผลสำหรับอุปกรณ์พกพาแล้ว ยังมีอีกตลาดที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะกลายเป็นตลาดหลักของผู้ผลิตหน่วยประมวลผลในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือ ตลาดของอุปกรณ์ IoT

เมนทอร์ช มัลโฮทรา หัวฝ่ายธุรกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควอลคอมม์ เทคโนโลยี อิงค์ ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา Qualcomm จะเน้นการลงทุนนวัตกรรมจนกลายมาเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มผู้ผลิตชิปเซ็ตบนสมาร์ทโฟน แต่ด้วยแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่มุ่งไป IoT มากขึ้น ทำให้ต้องมีการพัฒนาเพิ่มให้ทันกับเทรนด์ดังกล่าว

โดย Qualcomm จะมีแนวคิดในการทำตลาดอยู่บน 3 แนวทางหลักๆ คือ เริ่มจากการลงทุน (Invent) เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ถัดมา คือ การแบ่งบัน (Share) ในการแชร์เทคโนโลยีผ่านสิทธิบัตรต่างๆ จนนำไปสู่ความร่วมมือ (Collaborate) ที่นำเทคโนโลยีไปใช้

“จะเห็นว่า Qualcomm เข้าไปร่วมมือกับทั้งแบรนด์ผู้ผลิตมือถือตั้งแต่ขั้นตอนของการนำชิปเซ็ตไปใช้ จนถึงความร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ ที่ให้บริการเครือข่ายในแต่ละประเทศ ในการปรับแต่งเน็ตเวิร์กให้รองรับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

เมื่อเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแล้ว ก็จะก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ในการสื่อสาร เพื่อให้ทั้งอุตสาหกรรมมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ แนวโน้มส่วนใหญ่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ในอาเซียนปีที่ผ่านมา มีอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 3G/4G อยู่ถึง 450 ล้านเครื่อง และคาดการณ์ว่า ในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 730 ล้านเครื่อง ซึ่งน่าสนใจว่า ปัจจุบัน เครื่องที่รองรับ 3G/4G มีมากกว่าเครื่องที่รับ 2G ในท้องตลาดแล้ว”

ขณะที่เทรนด์ที่จะเห็นได้ในเวลาอันใกล้ คือ การที่อินโดนีเซีย และเวียดนาม กลายเป็นฐานการผลิตสมาร์ทโฟนขนาดใหญ่ ช่วยให้อุตสาหกรรมมีการเคลื่อนไหว และเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาค ถัดมา คือ การไมเกรดเข้าสู่เทคโนโลยี 4G ดังจะเห็นได้จากการที่ Qualcoom เข้าไปร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ เพื่อทำให้แน่ใจว่า เครือข่ายรองรับการใช้งานบนมาตรฐาน

เมื่อระบบนิเวศน์ในแง่ของการสื่อสารสมบูรณ์แล้ว ก็จะได้เวลาของ IoT ที่จะใช้การเชื่อมต่อเข้ามาเสริมการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสมาร์ทโฮม การนำอุปกรณ์ไปใช้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ การนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในยานพาหนะ ตลอดไปจนถึงการสร้างสมาร์ทซิตี้ขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น