“แอช มารียา” เจ้าของเครื่องมือ ลีน แคนวาส เผยเทคนิคการเขียนแผนธุรกิจจากกระดาษ 50-60 หน้า เหลือเพียงกระดาษหน้าเดียว สามารถตอบโจทย์สตาร์ทอัปนำไปใช้ได้จริง ชี้สตาร์ทอัปจะโตได้ต้องหมั่นประเมินผล เก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ เพื่อไม่ให้ดำเนินธุรกิจหลงทาง
นายแอช มารียา ผู้สร้างเครื่องมือออกแบบโมเดลธุรกิจบนกระดาษหน้าเดียวที่เรียกว่า ลีน แคนวาส (Lean canvas) กล่าวว่า ในอดีตการทำแผนธุรกิจขึ้นมาให้ครอบคลุมในทุกมิติได้นั้น อาจใช้เวลาในการเขียนลงบนกระดาษหนาราว 50-60 หน้า ซึ่งการทำความเข้าใจ การมองภาพองค์รวมของธุรกิจได้นั้นต้องใช้เวลามาก อาจตกหล่นในบางมิติของธุรกิจ ยากต่อการสื่อสาร และทำให้การนำแผนธุรกิจไปใช้ปฏิบัติเป็นไปได้ยาก
ทำให้แอช มารียา (Ash Maurya) ได้คิดค้นวิธีการสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งจบได้ภายในกระดาษเพียงหน้าเดียว นั่นคือ ลีน แคนวาส โดยเน้นให้แผนธุรกิจสามารถนำไปใช้ได้จริง ชัดเจน ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด ความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ โดยจะเน้นให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปนั้น เริ่มต้นจากคำถามว่า “ทำไม”
Lean canvas จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการสตาร์ทอัปให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยอาศัย “ข้อมูลหรือดาต้า” ที่เกิดจากการทดลองจากสมมติฐานที่สตาร์ทอัปกำหนดขึ้น ทำให้การนำแผนไปใช้ในเชิงธุรกิจจริงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยง และความไม่แน่นอนจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่คาดคิดได้ ซึ่งนี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อดีตสตาร์ทอัปอย่าง Facebook หรือ Dropbox เติบโตกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกได้
“การตั้งคำถาม และทำการทดลองสมมติฐานเหล่านั้นทำให้เรามองธุรกิจได้ชัด และกว้างมากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจได้”
สตาร์ทอัปส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสตาร์ทอัปไม่เข้าใจ “ปัญหา” ในธุรกิจที่ทำจริงๆ ทำให้ธุรกิจที่ทำไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เสียทั้งเวลา และเงินทุน เพื่อผลิตสินค้า และบริการที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และขั้นตอนต่อมา คือ การหาโซลูชันที่เป็นไปได้ เพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ชอบลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (early adopter) เพื่อเป็นการทดลองตลาด และนำผลตอบรับมาพัฒนาสินค้า และบริการต่อไป
สิ่งสำคัญของ Lean canvas อีกประการ คือ การกำหนดดัชนีชี้วัดที่สำคัญ (Key metrics) ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน และประเมินผลได้ง่าย กำหนดเพียงแค่ 1-2 ดัชนีที่ตอบโจทย์หัวใจของธุรกิจ จากยุคดั้งเดิมที่กำหนดดัชนีชี้วัดการประเมินผลไว้อย่างมากมาย แต่ดัชนีเหล่านั้น กลับไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ
“ปัญหาที่สตาร์ทอัปทั่วโลกเผชิญ คือ เมื่อธุรกิจดำเนินไประยะหนึ่งจะเจอทางตันในการทำให้ธุรกิจเติบโต และเมื่อหาทางออกไม่เจอก็จะเกิดความล้มเหลว ซึ่ง Lean canvas นี้จะเป็นโมเดลที่ทำให้เห็นได้ว่า สตาร์ทอัปจะโตได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้เป็นสตาร์ทอัปที่มีประสิทธิภาพ”
แนวคิด Lean Canvas นี้ไม่จำกัดเพียงแต่สตาร์ทอัปเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในระดับองค์กรใหญ่ๆ ได้ เพียงขอแค่ผู้ใช้มีความคิดการเป็นผู้ประกอบการในใจ (enterpreneurial thinking) ซึ่งแนวคิดนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง อินเทล, ไมโครซอฟท์ ก็มีการนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการร่างแผนธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน วงการสตาร์ทอัปมีความตื่นตัว และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มี co-working space มีโปรแกรมสนับสนุนสตาร์ทอัป (startups house และ incubator programme) จากบริษัทต่างๆ ตลอดจนเทรนด์ Corporate Venture Capital ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีของวงการสตาร์ทอัปไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อในการเติบโต
สำหรับประเทศไทย รูปแบบของสตาร์ทอัปยังคงเป็นลักษณะ marketplace เป็นส่วนใหญ่ เน้นทางด้านการพัฒนาโซลูชัน นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ และบริการส่งไปถึงมือผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายได้ ทั้งนี้ การที่จะทำให้เกิดยูนิคอร์น สตาร์ทอัปที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้นั้น จำต้องคิดถึงโซลูชันที่แก้ปัญหาของคนทั้งโลก ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น