xs
xsm
sm
md
lg

“เพจเจอร์” ธุรกิจที่รอวันตาย หรือจะฟื้นใหม่ด้วยฝีมือสตาร์ทอัป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โวดาโฟน (ภาพจาก AFP)
หากเอ่ยถึงธุรกิจเพจเจอร์ (Pager) เชื่อว่าเด็กๆ หลายคนในยุคนี้คงนึกภาพไม่ออกกันแล้ว ล่าสุด ค่ายโวดาโฟน (Vodafone) ก็เตรียมถอนตัวออกจากธุรกิจดังกล่าวบนเกาะอังกฤษแล้วเช่นกัน โดยมีแผนจะขายธุรกิจให้กับค่ายแคปิตา (Capita) บริษัทคู่แข่ง เนื่องจากทั้งสองเป็นสองบริษัทสุดท้ายที่ให้บริการอุปกรณ์เพจเจอร์ที่เหลืออยู่ของอังกฤษ

อย่างไรก็ดี แผนการขายธุรกิจครั้งนี้ได้ถูกหน่วยงาน The Competition and Markets Authority (CMA) ซึ่งดูแลด้านการแข่งขันในตลาดออกมาแสดงความกังวลว่า ลูกค้าที่ยังใช้บริการอยู่อาจได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงไม่อนุมัติให้การขายธุรกิจครั้งนี้เกิดขึ้น

โดยโวดาโฟน ได้ออกมาแสดงความผิดหวังเกี่ยวกับคำตัดสินของคณะกรรมการ CMA เนื่องจากมองว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในแง่ธุรกิจ อีกทั้งในปัจจุบันไม่มีพื้นที่ใดในสหภาพยุโรปอีกแล้วที่ให้บริการเครือข่ายเพจเจอร์ดังกล่าวนี้

ด้านตัวแทนจากแคปิตา ก็ปฏิเสธจะให้ความเห็นในเรื่องที่ว่า บริษัทจะทำอย่างไรหากลูกค้าของโวดาโฟน ที่เหลืออยู่ประมาณ 1,000 รายนี้จะยุติการใช้บริการ และไม่โอนย้ายมาอยู่กับธุรกิจ PageOne ของแคปิตา โดยแคปิตา ออกมาระบุแค่ว่า รู้สึกผิดหวังกับคำตัดสินของ CMA ที่ทำให้การควบกิจการครั้งนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลายๆ พื้นที่ทั่วโลกได้ยุติการให้บริการเพจเจอร์ไปแล้ว แต่ก็ยังมีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีเก่าตัวนี้อยู่ในบางพื้นที่ เช่น NHS หรือหน่วยงานด้านการทหาร ไปจนถึงงานด้านการช่วยชีวิตกลุ่มเรือชูชีพ เนื่องจากเป็นเครือข่ายที่มีความเสถียร และอายุของแบตเตอรี่ก็อยู่ได้ยาวนาน

โดยยุครุ่งเรืองของเพจเจอร์ คือ ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1990-ช่วงต้นๆ ของปี ค.ศ. 2000 แต่ในปัจจุบัน สภาพการให้บริการของธุรกิจเพจเจอร์ก็เป็นอย่างที่ปรากฏในอังกฤษ มีเพียงค่ายโวดาโฟน และแคปิตา เท่านั้นที่ยังให้บริการ ซึ่งทาง CMA มองว่า ดีลการขายธุรกิจนี้จะทำให้มีการปรับราคาสูงขึ้น รวมถึงกระทบต่อคุณภาพการให้บริการในอนาคตด้วย

คำแนะนำของ CMA คือ แคปิตา และโวดาโฟน ต้องหาหนทางที่ยอมรับได้เกี่ยวกับการจัดการด้านความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่อาจไม่เป็นธรรม เนื่องจากในปัจจุบัน ทั้งแคปิตา และโวดาโฟน ต่างเป็นผู้ให้บริการในธุรกิจเพจจิ้ง ซึ่งมีลูกค้าเป็นหน่วยงานด้านสุขภาพ (เช่น โรงพยาบาล) และหน่วยฉุกเฉินจำนวนมากนั่นเอง

แม้ว่าในอังกฤษ ธุรกิจเพจเจอร์จะเข้าใกล้กับคำว่า “สิ้นยุค” แต่ในฟากของสตาร์ทอัปก็มีความเป็นไปได้ว่า จะมีสตาร์ทอัปจากซานฟรานซิสโก นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปัดฝุ่น และใช้งานใหม่ในรูปแบบที่โมเดิร์นกว่าเดิม กับสตาร์ทอัปที่มีชื่อว่า “ออนบี๊ป” (OnBeep)

โดย OnBeep สามารถระดมทุนได้ 6.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาบริการการติดต่อสื่อสารแบบไม่ต้องพึ่งหน้าจอสมาร์ทโฟน

โรเจอร์ วูด (Roger Wood) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัปแห่งนี้มองว่า ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันด้านการติดต่อสื่อสารอยู่มากมายเต็มไปหมด แต่ไม่มีรายใดเลยที่สามารถทำให้ผู้บริโภคสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องก้มลงมามองหน้าจอสมาร์ทโฟน


พร้อมกันนั้น เขาได้อธิบายถึงบริการที่บริษัทจะพัฒนาขึ้นว่า มีความคล้ายคลึงกับการติดต่อสื่อสารแบบสองทางที่พบในภาพยนตร์เรื่อง Star Trek แต่ไอเดียของเขานั้น มองไปที่การสื่อสารภายในกลุ่ม เช่น ครอบครัว หรือบริษัท ที่สามารถสื่อสารได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟนใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่า บริการของบริษัทนี้อาจเป็นการจับคู่สมาร์ทโฟนกับอุปกรณ์ดิจิตอลสำหรับสวมใส่บางชนิดที่ยังไม่มีการเปิดเผย เพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้ด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น