xs
xsm
sm
md
lg

“นที” เผย นักวิชาการเห็นพ้องกำกับ OTT ต้องกำกับที่แพลตฟอร์มด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“นที” เผยผลการรับฟังความคิดเห็นร่วมกับนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนเรื่องการกำกับ OTT ต่างเห็นพ้องควรกำกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT ด้วย มั่นใจ เฟซบุ๊ก ยูทูป ให้ความร่วมมือ ย้ำไม่เกิน ส.ค.นี้ ทุกรายต้องปฏิบัติตาม

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 สำนักงาน กสทช.ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน ประมาณ 30 คน เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล OTT (Over The Top) หรือบริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ โดยนักวิชาการต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีการเข้าไปกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบ ซึ่งได้มีการนำเสนอแนวทางการกำกับดังนี้

1.ควรสร้างความสมดุลเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ การสร้างสรรค์ กับอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้บนแพลตฟอร์มดังกล่าว 2.มีการกำกับดูแลโฆษณาที่ไม่เหมาะสม ด้วยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.เสนอแนะให้มีตัวชี้วัด และหลักเกณฑ์ว่า บริการ OTT ใดที่มีอิทธิพลต่อสาธารณะในวงกว้าง ต้องมีเส้นแบ่งที่เหมาะสมระหว่างการใช้เพื่อส่วนบุคคล ติดต่อเพื่อน และแบบไหนที่กระทบต่อวงกว้าง

4.ควรกำกับผ่านแพลตฟอร์ม OTT ด้วยถึงจะมีประสิทธิภาพ เพื่อกลั่นกรองเนื้อหาให้เหมาะสมก่อนถึงคนชม 5.เนื้อหาจากสื่อเดิมที่นำไปลงบน OTT ควรมีการกำกับแบบเดียวกันกับการลงบนสื่อเดิม 6.ควรคำนึงถึงประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ การขัดต่อศีลธรรมอันดี และประเด็นที่มีเนื้อหากระทบต่อเด็ก และเยาวชนด้วย และ 7.ควรส่งเสริมหลักการรู้เท่าทันสื่อให้ประชาชนแยกแยะข้อเท็จจริงกับความเห็นส่วนตัวได้

พ.อ.นที กล่าวว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นในมุมมองของนักวิชาการ ซึ่งก็มีความเห็นพ้องต้องกัน จากนี้ภายในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมารับฟังความคิดเห็นด้วย ส่วนแนวทางจะกำกับ OTT อิสระที่อยู่ต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป ไลน์ทีวี อย่างไรนั้น ทาง กสทช.ก็ต้องเชิญตัวแทนของเขามารับฟังความคิดเห็นก่อน เพราะต้องยอมรับว่า การใช้งานบนเฟซบุ๊กในไทย ก็มีปัญหาในการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จึงต้องหาทางออกที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้หลายๆ ประเทศก็เริ่มตื่นตัว ทั้งนี้ คาดว่าภายในไม่เกินต้นเดือนหน้าจะเริ่มมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น และผู้ประกอบการ OTT จะมีหลักเกณฑ์ที่ทุกรายต้องปฏิบัติตามไม่เกินเดือน ส.ค.นี้

“เราปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้ เพราะส่งผลกระทบต่อลูกหลาน ต่อประเทศ ความเห็นของอาจารย์ก็สอดคล้องกัน เราต้องหาเส้นแบ่งระหว่างการส่งเสริม และการหาทางเอาสิ่งที่ไม่ดีออกจากระบบให้ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น