สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ประกาศส่งดาวเทียม 4,425 ดวงขึ้นสู่อวกาศเพื่อใช้กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปทั่วโลก โดยจะเริ่มดำเนินการตามแผนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019-2024 นี้
โดยสเปซเอ็กซ์ วางแผนจะส่ง “ดาวเทียมต้นแบบ” ขึ้นสู่อวกาศในปีนี้ และอีกดวงในปีหน้า ก่อนที่จะเริ่มต้นส่งดาวเทียมของจริงขึ้นฟ้าในปี 2019 ซึ่งระบบที่ใช้ในระยะเริ่มต้นเป็น Ka Band และ Ku Band สเปคตรัม เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะมันได้รับการออกแบบให้สามารถกระจายสัญญาณบรอดแบนด์ได้ในวงกว้าง เพื่อรองรับการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ไปจนถึงการใช้งานเชิงพาณิชย์ หรือการใช้งานของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และการใช้งานของระดับมืออาชีพ
โดยการสร้างเครือข่ายดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2024
สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ ระบบดาวเทียมนี้ได้รับการพัฒนาให้สามารถอัปเดตได้ตลอดเวลา และรองรับกับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้
โดยทางสเปซเอ็กซ์ ให้คำมั่นสัญญาว่า ระบบดังกล่าวจะประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก และให้บริการด้วยคุณภาพระดับเดียวกับสายไฟเบอร์ หรือคิดเป็นแบนด์วิธที่ 1Gbps ซึ่งผู้ที่อยู่ภาคพื้นดินสามารถรับสัญญาณได้ด้วยเครื่องเทอร์มินอลขนาดเท่าแล็บท็อปเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ ก็อย่าลืมว่า ในปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก (Facebook) ก็เคยร่วมมือกับผู้ให้บริการดาวเทียมของสหภาพยุโรป Eutelsat Communications พัฒนาดาวเทียมสำหรับกระจายสัญญานอินเทอร์เน็ตในแอฟริกา โดยใช้บริการของกระสวยอวกาศ Falcon 9 ของสเปซเอ็กซ์ ในการส่งดาวเทียมดังกล่าวขึ้นสู่ห้วงอวกาศ แต่แล้วกระสวยอวกาศดังกล่าวก็ระเบิดเสียก่อน จนมีรายงานว่า มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก ที่ไปรอเปิดตัวบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ที่แอฟริกาถึงกับหัวเสียอย่างมากมาแล้ว