xs
xsm
sm
md
lg

ดูค่ายไหนดี “Hollywood TV-iFlix-Netflix”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญของตลาดผู้ให้บริการดูหนังออนไลน์แบบลิขสิทธิ์ที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวชัดเจนมากขึ้น ในการนำคอนเทนต์คุณภาพมาให้บริการ เพื่อเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ บนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานได้กว้างขึ้น โดยไม่ได้จำกัดแค่แพลตฟอร์มใด แพลตฟอร์มหนึ่ง

แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีความชัดเจนกับการกำกับดูแลผู้ให้บริการวิดีโอคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เพราะทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา และหามาตรการในการให้บริการที่เหมาะสม

แน่นอนว่า แม้จะมีการควบคุม OTT ผู้ให้บริการคอนเทนต์ภาพยนตร์ และซีรีส์ ก็แทบไม่มีผลกระทบในการให้บริการ ในแง่ของการห้ามเผยแพร่คอนเทนต์ เพราะทุกอย่างถูกลิขสิทธิ์อยู่แล้ว จะมีก็แต่ขั้นตอนในการขออนุญาตที่จะสร้างความยุ่งยากมากขึ้นเท่านั้นเอง

ประกอบกับการเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการในประเทศไทยของ Netflix ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการวิดีโอคอนเทนต์รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ที่ครองตลาดอย่างชัดเจน และมีฐานคนดูในระดับกลางบน ยิ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการ OTT ว่า ยังมีช่องว่างให้เติบโตได้

***ราคาต้องจับต้องได้

ในมุมหนึ่งสิ่งที่ทำให้คอนเทนต์ลิขสิทธิ์ในไทยไม่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ เรื่องของค่าบริการที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของประชากร แต่ปัจจุบันเมื่อผู้ให้บริการสามารถกำหนดราคาได้ถูกลงเหลือเพียงเริ่มต้นเดือนละไม่ถึง 100 บาท ก็ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น

ประกอบกับการเติบโตของสมาร์ทโฟน พร้อมไปกับโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นเคเบิลไฟเบอร์ รวมถึง 3G และ 4G เริ่มเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้เกิดพฤติกรรมการรับชมวิดีโอคอนเทนต์ผ่านอุปกรณ์พกพามากยิ่งขึ้น

สำหรับในตลาดประเทศไทย ก่อนหน้านี้จะมีผู้ให้บริการ OTT แบบบอกรับสมาชิกหลักๆอยู่ 3-4 ราย ที่เข้ามาทำตลาด และมีฐานผู้ใช้งานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Hollywood TV, iFlix, และ AIS Play ซึ่งแต่ละรายก็จะเน้นการให้บริการที่แตกต่างกัน

อย่าง Hollywood TV ที่ถือเป็นผู้ให้บริการสัญชาติไทยที่บุกเบิกในตลาดนี้จะมีรูปแบบการให้บริการเป็น 2 ส่วน คือ ลูกค้าที่สมัครใช้งานเป็นแบบรายเดือน (199 บาท) ราย 3 เดือน (1,170 บาท) และรายปี (2,280 บาท) ที่จะได้รับชมภาพยนตร์แบบไม่อั้น (บุฟเฟต์) ที่เปิดดูที่ไหน เมื่อไหร่ บนอุปกรณ์ใดก็ได้

อีกส่วน คือ การซื้อหนังเป็นเรื่องๆ เพื่อเก็บสะสมในรูปแบบดิจิตอล โดยจะมีการทำเป็นคอลเล็กชันพิเศษออกมา รวมถึงการสั่งซื้อภาพยนตร์ที่กำลังจะออกแผ่นล่วงหน้า ซึ่งราคาที่ซื้อในแบบดิจิตอลจะถูกกว่าซื้อแผ่นปกติราว 50 บาท

ถัดมา คือ iFlix ที่เริ่มต้นมาจากการเป็นผู้ให้บริการภาพยนตร์ และซีรีส์ออนไลน์ในภูมิภาคเอเชีย ก่อนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยราวเดือนกันยายน 2558 ปัจจุบันจะมีการให้บริการแบบบอกรับสมาชิกเพียงอย่างเดียว โดยมีทั้งการคิดค่าบริการรายเดือน (100 บาท) และรายปี (1,000 บาท)

เพียงแต่ด้วยกลยุทธ์หลักของ iFlix ในปีนี้จะเน้นเพิ่มฐานผู้ใช้งานให้กว้างขึ้น จึงได้มีการจับมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อให้สิทธิลูกค้าได้ทดลองใช้งานฟรีทั้งแบบปกติ 1 เดือน ลูกค้าที่ใช้งานซัมซุง Galaxy Gift รับสิทธิดูฟรี 3 เดือน-1 ปี การเข้าหาฐานลูกค้าของดีแทค รวมถึงการลดราคาสูงถึง 70% เมื่อสมัครใช้บริการในช่วงเวลาที่กำหนด

ส่วนรายใหม่ในตลาดไทยอย่าง Netflix ที่แม้จะเริ่มให้บริการในไทยมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 เพียงแต่ในช่วงแรกยังไม่มีการทำคอนเทนต์ที่เป็นพากย์ไทย หรือบรรยายไทย เพราะถือเป็นช่วงทดลองตลาดก่อนเปิดตัวอย่างเวอร์ชันภาษาไทยอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ค่าบริการของ Netflix จะมีให้เลือก 3 รูปแบบด้วยกัน คือ เริ่มต้น 280 บาท รับชมได้ 1 หน้าจอบนความละเอียดปกติ ถัดมา คือ แบบมาตรฐาน 350 บาท รับชมได้ 2 หน้าจอพร้อมกัน บนความละเอียดสูง (HD) และพรีเมียม 420 บาท รับชมได้ 4 หน้าจอพร้อมกันบนความละเอียดระดับ 4K

***จับฐานลูกค้าพัฒนารูปแบบการให้บริการ

ที่น่าสังเกต คือ รูปแบบการให้บริการของทั้ง 3 เจ้าจะมีความคล้ายคลึงกันตรงที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้งานได้บนหลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นดูผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต พีซี ที่เปิดโอกาสให้สามารถล็อกอินใช้งานได้หลายเครื่อง แต่จำกัดเครื่องที่ใช้งานพร้อมกัน

แต่ก็จะมีมุมที่แตกต่างกันในส่วนของการพัฒนาบริการ จากพฤติกรรมของฐานลูกค้าอย่าง Hollywood TV เริ่มต้นจากการให้บริการดูหนังผ่านหน้าเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่าย ก่อนขยายมาให้บริการผ่านสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต รวมทั้งยังมีแผนในอนาคตว่า จะรุกเข้าตลาดกล่องทีวีผ่าน DOT ที่จะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3 เพื่อให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน Hollywood TV สามารถเชื่อมต่อ DOT เข้ากับโทรทัศน์ให้พร้อมใช้งานเป็นสมาร์ททีวี ในการรับชมทั้งฟรีทีวี และคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟต่างๆ

ส่วนของ iFlix ที่มีฐานลูกค้ามาจากผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนผู้ใช้งานในกลุ่มนี้ถึง 70% ก็จะเน้นขยายการให้บริการไปยังเว็บไซต์ และโทรทัศน์มากขึ้น อย่างการจับมือกับกูเกิลในการทำแพกเกจจำหน่ายร่วมกับ Chromecast เพื่อให้คอนเทนต์ไปปรากฏบนหน้าจอทีวี

โดยทาง iFlix เชื่อว่า สุดท้ายแล้วรูปแบบการรับชมคอนเทนต์เหล่านี้ก็จะไปจบลงที่โทรทัศน์ที่มีจอขนาดใหญ่ ให้อรรถรสในการรับชมได้มากกว่าบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตหน้าจอเล็กๆ รวมถึงกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันให้ใช้งานบนสมาร์ททีวี และอุปกรณ์ต่อพ่วงทีวีอย่าง Apple TV ต่อไป

ขณะที่ส่วนของ Netflix จุดเริ่มต้นเกิดมาจากการให้บริการพรีเมียมคอนเทนต์บนสมาร์ททีวี Apple TV รวมถึงการมีแอปพลิเคชันบนคอนโซลเกมอย่าง PS4 อยู่แล้ว ทำให้ฐานลูกค้าหลักมีพฤติกรรมการใช้งานรับชมบนโทรทัศน์เป็นหลัก ซึ่งในจุดนี้มีความแข็งแรงอยู่แล้ว

ดังนั้น จึงเน้นการขยายรูปแบบการให้บริการสู่อุปกรณ์พกพามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ใช้งานได้บนทุกแพลตฟอร์ม การเปิดฟังก์ชันให้สามารถดาวน์โหลดหนังมาเก็บไว้เพื่อรับชมที่หลังได้เพื่อให้ลูกค้าสามารถต่อไวไฟเพื่อโหลดซีรีส์มาไว้ก่อน

ที่สำคัญ และเป็นจุดเด่นที่เจ้าอื่นไม่มี คือ การสร้างบัญชีผู้ใช้แยกออกจากกัน เพราะมองว่าความชอบของผู้ชม แม้จะเป็นครอบครัวเดียวกัน ก็ชื่นชอบภาพยนตร์ หรือซีรีส์แตกต่างกัน และทำการซิงก์ข้อมูลการรับชมเข้ากันทุกแพลตฟอร์ม ดังนั้น เมื่อผู้ใช้ดูภาพยนตร์ค้างไว้บนมือถือ กลับมาถึงบ้านเปิดดูบนทีวีก็จะเล่นต่อจากที่ดูค้างไว้ทันที

***แตกต่างที่คอนเทนต์

อีกจุดที่ทั้ง 3 รายมีความแตกต่างกัน คือ ในแง่ของการนำคอนเทนต์มาให้บริการ โดยทาง Hollywood TV จะเน้นการนำภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด มาให้ผู้ใช้เลือกรับชม เพียงแต่ว่าจะไม่ได้เป็นแบบหนังชนโรง แต่ออกจากโรงแล้วได้ดูทันที ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3-4 เดือนหลัง ฉายมาให้บริการแบบซื้อเป็นเรื่อง แต่ถ้าเป็นแบบบุฟเฟต์ก็จะเป็นหนังเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

ส่วน Netflix จะเน้นที่มีซีรีส์ที่เป็น Original Content หรือผลิตขึ้นมาเพื่อฉายเฉพาะบน Netflix เท่านั้นเป็นตัวชูโรง เหมือนกับ HBO คือ การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ และเพิ่มบริการอย่าง HBO Go มาให้บริการคอนเทนต์แก่ลูกค้า ที่ปัจจุบันเป็นพันธมิตรกับทาง AIS Play ให้บริการในไทย

ขณะที่ iFlix จะเริ่มจากการนำซีรีส์ยอดนิยมมาให้เลือกรับชม เน้นที่ความหลากหลายทั้งซีรีส์ฝรั่ง เกาหลี ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาให้บริการ และเริ่มขยับขยายมาผลิตคอนเทนต์เอง โดยเริ่มจากในตลาดใหญ่อย่างอินโดนีเซียก่อน

ในมุมความหลากหลายของซีรีส์ ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายก็จะมีบางคอนเทนต์ที่เหมือนกัน จากการเป็นพันธมิตรกับค่ายผู้ผลิตนำมาให้บริการ ดังนั้น แนะนำว่าอยากดูซีรีส์เรื่องอะไร หรือสนใจเรื่องอะไรค่อยสมัครใช้บริการค่ายนั้น จะเหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต การให้บริการดูซีรีส์ออนไลน์แบบลิขสิทธิ์ ก็จะมีผู้ให้บริการรายอื่นๆ ตามออกมาอีก โดยอาจจะเน้นกลุ่มผู้ใช้งานเฉพาะอย่างซีรีส์เกาหลี ก็มี Viu Thailand มาให้บริการแบบถูกลิขสิทธิ์ที่ได้รับความร่วมมือจากโทรทัศน์เกาหลีอย่างเป็นทางการ

***ช่องทางจ่ายเงินต้องง่าย

สุดท้าย คือ เรื่องของวิธีการที่ผู้บริโภคจะเลือกชำระค่าบริการ ยังคงเป็นการบ้านสำคัญของผู้ให้บริการ OTT ในประเทศไทย เพราะพฤติกรรมการใช้งานแตกต่างกับผู้ใช้งานสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ที่นิยมการใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า และบริการผ่านช่องทางออนไลน์

ทำให้ Netflix ที่ตอนนี้รับชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต บัญชี Paypal หรือผูกกับ Apple ID ค่อนข้างถูกจำกัดกลุ่มผู้ใช้ให้อยู่ในระดับบนมากกว่า iFlix หรือ Hollywood TV ที่เข้าใจพฤติกรรมคนไทยมากกว่าด้วยการออกบัตรเติมเงินให้สามารถซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่เข้าถึงคนใช้ในวงกว้าง

แน่นอนว่า Netflix ยังมีไม้ตายที่ยังไม่ได้ใช้ คือ การเป็นพันธมิตรกับโอเปอเรเตอร์รายใหญ่อย่างเอไอเอส ซึ่งถ้ามีการเชื่อมระบบเข้าหากัน ลูกค้าเอไอเอสสามารถสมัครใช้บริการ และชำระผ่านบิลค่าบริการรายเดือนได้ ก็ช่วยทำให้เข้าถึงฐานลูกค้าเอไอเอส อีกกว่า 41 ล้านรายได้ทันที

รัก ชอบ คอนเทนต์แบบไหน เลือกให้ถูกค่าย ความบันเทิงอยู่ในมือแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น