xs
xsm
sm
md
lg

“นที” ยันสิงหาคมนี้จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นที” ตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแล OTT เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ขอเวลา 4 เดือน น่าจะได้ข้อสรุปสำหรับการกำกับดูแล ในเดือนสิงหาคม ยันแนวทางกำกับในไทยต้องไม่นอกกรอบจนไร้สาระ คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้คณะอนุกรรมการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top แล้ว

ซึ่งนอกจากมีตนเองเป็นประธานแล้ว ยังมีอนุกรรมการอีก 10 คน ประกอบด้วย 1.นายต่อพงษ์ เสลานนท์ เป็นรองประธานอนุกรรมการ 2.พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ รองประธานอนุกรรมการ 3.นายกิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ เป็นอนุกรรมการ 4.นายกฤษดา โรจนสุวรรณ อนุกรรมการ 5.นายทวีวัฒน์ เส้งแก้ว อนุกรรมการ

6.นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ อนุกรรมการ 7.นายสมบัติ ลีลาพตะ เป็นเลขานุการ 8.นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขานุการ 9.นายพสุ ศรีหิรัญ ผู้ช่วยเลขานุการ 10.นายทนงศักดิ์ สุขะนินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการ

โดยนับจากนี้ขอเวลาให้คณะอนุกรรมการทำงาน 4 เดือนก่อน ถึงจะมีความชัดเจนในแนวทางการกำกับดูแล ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องการกำกับดูแลอย่างแน่นอน ส่วนการที่จะเป็นการควบคุมสื่อหรือไม่นั้น ตนขอให้การออกอากาศของสื่อมวลชนที่ผ่าน Facebook live , YouTube ให้ดำเนินการตามปกติ เนื่องจากยังไม่ได้กำหนดห้ามใดๆ หรือควบคุมอะไรทั้งสิ้น ยังสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 พ.ค.2560 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ และทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งจะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นในทุกแง่มุม เบื้องต้น การประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง แต่ยังไม่มีข้อสรุปในองค์รวม

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูการกำกับดูแล OTT ในต่างประเทศ พบว่าจะมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลเนื้อหา ด้วยการกำหนดเรทติ้ง การดูแลเนื้อหาที่มีผลกระทบกับเด็ก โดยเนื้อหาบนบริการ OTT ได้รับการดูแลเทียบเท่ากับบริการโทรทัศน์ ซึ่งบางประเทศบริการ OTT ต้องผ่านระบบการขอใบอนุญาต

“แนวทางดูแลที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยก็ควรเป็นแบบของประเทศไทย คือ ต้องมีความต่างจากประเทศอื่น แต่ไม่ออกนอกกรอบจนไร้สาระ ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่กระทบประโยชน์สาธารณะ กสทช.ยังบอกไม่ได้ว่า การกำกับดูแลจะเป็นอย่างไร จะกำกับผ่านระบบใบอนุญาตหรือไม่ จะออกระเบียบอย่างไร ยังบอกไม่ได้ เพราะอนุกรรมการฯ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน โดย 4-5 เดือนต่อจากนี้ จะมีความชัดเจน”



พ.อ.นที กล่าวอีกว่า การแบ่ง OTT ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ผู้ให้บริการอิสระ ได้แก่ ผู้ให้บริการสัญชาติไทย เช่น Hollywood HDTV, Doonee และ Primetime และต่างชาติ เช่น YouTube, Facebook, Line TV และ Netflix 2.ผู้ให้บริการเพย์ทีวีในรูปแบบ OTT ได้แก่ PSI และ Truevisions anywhere 3.ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ให้บริการ OTT ได้แก่ AIS Play และ 4.ช่องรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการ OTT

หากพิจารณาส่วนแบ่งตลาด OTT ในประเทศ สามารถแบ่งพิจารณาออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ในกลุ่มผู้ให้บริการ OTT ที่มีรายได้จากการโฆษณา (AVoD) ซึ่งข้อมูลจาก DAAT พบว่า ผู้ให้บริการ AVoD ที่มีรายได้สูงสุด คือ Facebook (2,842 ล้านบาท) ตามมาด้วย YouTube (1,663 ล้านบาท) และอื่นๆ เช่น Line TV และผู้ประกอบการช่องโทรทัศน์ (502 ล้านบาท) โดยมีมูลค่าตลาดรวม 5,007 ล้านบาท

2.ในกลุ่มผู้ให้บริการ OTT ที่มีการเรียกเก็บค่าสมาชิก (SVoD) ซึ่งข้อมูลจาก Time Consulting พบว่า Hollywood HDTV ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอิสระรายแรกของไทยมีรายได้มากที่สุด (299 ล้านบาท) ตามมาด้วย Primetime (143 ล้านบาท) Monomaxxx (98 ล้านบาท) Doonee (73 ล้านบาท) iflix (18 ล้านบาท) และ Hooq (17 ล้านบาท)

ทั้งนี้ จำนวนผู้ให้บริการ OTT ในตลาดที่มีจำนวนสูงขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นจนส่งผลให้มีการลดราคาค่าสมาชิกรายเดือน เช่น Primetime ลดราคาเหลือ 150 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นราคาที่ลดต่ำลงประมาณ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น