หลังจากเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบหลักการในรายละเอียดของแผนการลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 3 เส้นทางรวมวงเงินลงทุน 5,979.94 ล้านบาท ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้แก่ 1.โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเอเชีย -ยุโรป 1 (AAE1) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิลผ่านจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ ศรีลังกา อินเดีย และเชื่อมต่อกับเครือข่ายในประเทศที่ จ.สตูล และ จ.สงขลา วงเงินลงทุน 1,408 ล้านบาท
2.โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเซาท์อีสเอเชีย - มิดเดิล อีสต์ - เวสเทิร์น ยุโรป 5 (SEA-ME-WE 5) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิลผ่านจากประเทศฝรั่งเศส บังกลาเทศ มาเลเซีย และประเทศไทย วงเงินลงทุน 1,376 ล้านบาท และ3.โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทาง Southeast Asia - Japan Cable System (SJC) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิ้ลผ่านจากประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น วงเงินลงทุน 2,278 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีงบประมาณที่กันไว้สำหรับงานปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายภายในประเทศ เช่น งานก่อสร้างสถานีเคเบิลใต้น้ำ จ.สตูล งานปรับปรุงสถานีเคเบิลใต้น้ำสงขลา งานขยายชุมสายอินเทอร์เน็ต และงบสำรอง รวม 417.94 ล้านบาท
ล่าสุด ทีโอที ลงทุนเคเบิลใต้น้ำ AAE-1 ระยะทาง 25,000 กม.เสร็จไปกว่า 85 % แล้ว พร้อมเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปี 2560 นี้ โดยเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที พร้อมผู้บริหารระดับสูง ได้นำ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี และสื่อมวลชน ตรวจความพร้อมการเปิดให้บริการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE1 ที่สถานีเคเบิลใต้น้ำ ปากบารา จ.สตูล
***เตรียมเปิดบริการไตรมาส 2 ปีนี้
มนต์ชัย กล่าวว่า ระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ โดย ทีโอที กับกลุ่มผู้ลงทุนจากบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำระหว่างประเทศ ในการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำความจุสูงระบบแรกที่มีเส้นทางหลักผ่านประเทศไทยเพื่อเชื่อมตรงไปยังต่างประเทศ เพิ่มวงจรสื่อสารระหว่างประเทศรองรับบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของ ทีโอที และประเทศไทย ให้มีความหลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการใช้งานปัจจุบันและระยะยาว ซึ่งนับว่าเป็นโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ล่าสุด ที่ใช้รองรับการเชื่อมต่อสื่อสารโทรคมนาคม โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระหว่างประเทศ
โดยมีระยะทางของเส้นเคเบิลใยแก้วนำแสงทั้งสิ้นประมาณ 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำข้ามทวีปที่มีความจุสูงเส้นแรก ที่มีแนวเคเบิลเส้นทางหลักจากฮ่องกง พาดผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีจุดขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา และเชื่อมต่อผ่านสายไฟเบอร์ออปติกภาคพื้นดิน (Thailand Crossing) ไปยัง จ.สตูล เพื่อเชื่อมต่อไปยังยุโรป เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ช่วยลดระยะทางการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเอเชีย และยุโรป
***หวังเป็นฮับ ย่นระยะเวลาส่งข้อมูล
นอกจากนี้ระบบ AAE-1 เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีระยะเวลาในการส่งข้อมูลระหว่างเอเชียตะวันออกและยุโรปต่ำสุด และยังเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นแรกที่ทำให้ประเทศไทยมีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ที่สำคัญของโลก ได้แก่ฮ่องกง สิงคโปร์ และ ฝรั่งเศส และยังเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวม 18 ประเทศ ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ปากีสถาน โอมาน สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ กาตาร์ เยเมน จิบูตี ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ กรีซ อิตาลี และฝรั่งเศสซึ่งจะสามารถช่วยเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน
อีกทั้งยังเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด 100 Gbps ต่อหนึ่งลำแสง และเป็นระบบมีขนาดความจุรวมมากกว่า 40 Tbps และมีความจุเชื่อมต่อเข้าประเทศไทยสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ โดยลดระยะเวลาในการส่งข้อมูลได้มากกว่า 20 % เมื่อเทียบกับระบบที่มีในปัจจุบัน โดยมี ทีโอที เป็นผู้ลงทุนจากประเทศไทยร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำในประเทศต่างๆ อีก 18 ราย ซึ่งคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการภายปีนี้แล้วจะมีรายได้ต่อปีประมาณ 300 ล้านบาท
*** รมว.ดีอี พร้อมหนุนเต็มสูบ
ทั้งนี้หลังจากเยี่ยมชมสถานีเคเบิลใต้น้ำ ปากบารา รมว.ดีอี เปิดเผยว่า ทีโอทียังได้รายงานด้วยว่ายังมีอีก 1 เส้นทางที่น่าสนใจคือ เส้นทาง SJC หรือเส้นทางไทยผ่านสิงคโปร์-ฮ่องกง-ญี่ปุ่นแต่เป็นเส้นทางที่ทีโอทีต้องลงทุนเองทั้งหมด ไม่ได้เป็นการร่วมลงทุนกับผู้ให้บริการต่างประเทศเหมือน AAE1 ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน ส่วนอีก 1 เส้นทาง คือ เส้นทาง SEA-ME-WE 5 เป็นการลากเคเบิลใต้น้ำจากเอเชียไปยุโรปซึ่งทีโอทีจะร่วมลงทุนกับประเทศแถบภูมิภาคเอเชียมูลค่า 1,000 ล้านบาทนั้น ทีโอทีไม่ได้แสดงความกังวลเรื่องงบประมาณ
ดังนั้น ตนเองเชื่อว่าหากโครงการของทีโอที ดีจริง ก็พร้อมจะนำเสนอหัวหน้า คสช. อย่างไม่เป็นทางการก่อนก็ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณา แต่ต้องเป็นการนำเสนอภาพรวมของเคเบิลใต้น้ำทั้งหมด ซึ่งต้องมีการเชิญผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงานทั้ง ทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคมซึ่งมีเส้นทางเคเบิลใต้น้ำอยู่หลายเส้นทางมาร่วมพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุปในการวางโครงข่ายให้ประเทศไทยเป็นฮับของภูมิภาคนี้
ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้บริหารทีโอทีเสนอด้วยว่าการที่ประเทศไทยจะเป็นฮับได้นั้น รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนด้านงบประมาณและสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ อย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก ไลน์ ในการหันมาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยแทนสิงคโปร์เพื่อการเชื่อมต่อจะได้เชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆผ่านไทยได้ง่ายโดยไม่ต้องผ่านมาเลเซียเพื่อเชื่อมไปสิงคโปร์ก่อนออกไปประเทศต่างๆ เพราะภูมิศาสตร์ของประเทศไทยมีความได้เปรียบมากกว่าในการเชื่อมต่อออกไปยังประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แนวทางการทำงานก็ต้องให้สอดคล้องกับบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่ภายใต้การรวมธุรกิจเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศและดาต้าเซ็นเตอร์ของทั้ง 2 บริษัท ภายใต้บริษัท NGDCซึ่งกำลังจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ค.นี้ รวมถึงบริษัท NGN ด้วย
'กจญ.ของทั้ง 2 บริษัท จะต้องทำรายงานสรุปแผนงานทั้งหมดให้ละเอียดชัดเจน พื้นที่ไหนที่ยังไม่มีเส้นทางเคเบิลใต้น้ำผ่าน ให้เสนอสร้างเส้นทางเพิ่ม และเส้นทางเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ความสามารถในการรองรับการใช้งาน (คาปาซิตี้) ไม่เพียงพอให้ขยายเพิ่มซึ่งจะต้องสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 2-3เดือน เพื่อที่จะสรุปให้รัฐบาลรับทราบ โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมดีอีพิจารณาต่อไป'