กสทช.ร่วมกับ ดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการเนื้อหาผิดกฎหมายบนเว็บ เตรียมหาข้อสรุปเรื่อง CDN ส่ง กทค.ตัดสิน 27 เม.ย.นี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เวลา 13.30 น. สำนักงาน กสทช.ได้มีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมผ่านอินเทอร์เน็ตเรื่องเว็บหมิ่นสถาบัน ที่สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี โดย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ไอไอจี) สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมต่อเนื่องที่ กสทช. และกระทรวงดีอี ทำงานร่วมกันเป็นระยะๆอยู่แล้ว โดยให้ไอเอสพี และไอไอจี ทำตามหลักเกณฑ์เดิมที่เคยแจ้งไว้ แต่ครั้งนี้มีการกำชับเพิ่มเติม คือ กรณีมีเว็บหมิ่นสถาบัน ที่ทำความผิดตามมาตรา 112 ให้ไอเอสพี ปฏิบัติ 2 แนวทาง คือ ดีอี หรือ กสทช. นำคำสั่งศาลแจ้งให้นำเว็บไซต์ผิดกฎหมายออกได้ทันที หรือใช้วิจารณญาณว่า มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันก็สามารถนำเว็บไซต์ออกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่ง แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการเข้ารหัส ไม่สามารถนำออกได้ ขอให้ทำเรื่องแจ้งดีอี หรือในกรณีที่มีหน่วยงานอื่นแจ้งมา ก็แจ้งกลับหน่วยงานนั้นเพิ่มเติมด้วย เพื่อดีอี และ กสทช.จะได้ติดต่อกับผู้ให้บริการในต่างประเทศเพื่อดำเนินการทางศาลต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่อง CDN (Content Delivery Network) โดยไอเอสพี แจ้งว่า OTT ต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก มีการลงทุนตั้งเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลในไทย จึงทำให้ไม่สามารถนำเนื้อหาที่ค้างอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ออกได้ จึงขอให้ กสทช.ดำเนินการนำเรื่อง CDN เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อลงมติว่า ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ จะได้ข้อสรุปเบื้องต้น หากไม่เกี่ยวกับ กสทช.ก็ต้องเกี่ยวกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ดีอี หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“ตอนนี้เว็บที่ไม่ต้องเข้ารหัส เราเอาลงได้ 100% แล้ว แต่เรื่องเว็บที่ต้องเข้ารหัส หรือในส่วนที่ค้างอยู่ใน CDN ยังมีอยู่ เราเชื่อว่า เรื่องนี้เริ่มเห็นแสงสว่างบ้างในการดำเนินการในเรื่องนี้ ถามว่าผู้ให้บริการติดปัญหาบ้างไหม ก็ติดบ้าง การลงทุนกระทบบ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป การทำงานก็จะทำเรื่อยๆ และมีการประชุมต่อเนื่องทุกเดือนอยู่แล้ว การประชุมครั้งนี้เพื่อต้องการเคลียร์ว่า อะไรอยู่ในอำนาจใคร เพื่อให้มีการตัดสินใจเร็วขึ้น นอกจากเนื้อหาหมิ่นแล้ว เนื้อหาลามก และละเมิดลิขสิทธิ์ก็ถือว่าเป็นเนื้อหาผิดกฎหมายเช่นกัน” นายฐากร กล่าว