หลายคนคงคุ้นหูกับหลักสูตร ABC (ACADEMY OF BUSINESS CREATIVITY) ของสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กันมาบ้าง มีผู้บริหารจากหลากหลายวงการผ่านการอบรมหลักสูตรนี้ และกล้าที่จะสร้างสรรค์งานใหม่ๆโดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆอีกต่อไป เพราะต่างก็ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของวิทยากรที่ทั้งล้มและลุกขึ้นยืนใหม่ หลายต่อหลายครั้ง กว่าจะประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบ
หลักสูตรนี้ 'สมชัย เลิศสุทธิวงค์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ก็ร่วมเป็นวิทยากร แบ่งปันประสบการณ์ในหลักสูตรนี้มาแล้ว จนเล็งเห็นว่าควรนำหลักสูตรดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับพนักงานเอไอเอสด้วย จึงมอบหมายให้ 'วราลี จิรชัยศรี' ผู้อำนวยการส่วนงานประชาสัมพันธ์การตลาดและภายในองค์กร เอไอเอส ที่ได้ผ่านหลักสูตร ABC รุ่นแรก มาเช่นกัน เป็นแม่ทัพในการจัดหลักสูตร ACT (AIS CREATIVE TALENTS) โดยได้แรงบันดาลใจและประยุกต์หลักสูตรจาก ABC ซึ่งนับเป็นองค์กรแรกในวงการโทรคมนาคมเลยก็ว่าได้ที่กล้านำหลักสูตรเชิงการสร้างแรงบันดาลใจแบบนี้มาอบรมกับพนักงาน
***รับยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล
'วราลี' หรือ 'เมย์' พีอาร์สาวหน้าตาดี เล่าให้ฟังถึงแนวคิดในการนำหลักสูตร ABC มาประยุกต์ใช้ในเอไอเอส จนเกิดเป็นหลักสูตร ACT ว่า เพราะ CEO (สมชัย เลิศสุทธิวงศ์) เชื่อว่า การสร้างพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นแรงบันดาลใจของพนักงาน มีความสำคัญอย่างมากในยุคที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง หรือ รับมือกับสิ่งที่ไม่รู้ ซึ่งโลกปัจจุบันการที่จะหาแรงบันดาลใจหรือไอเดียใหม่ๆนั้น ส่วนตัวCEOเอง ชอบวิธีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้คนจากทุกๆวงการ เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละคนเท่ากับเป็นการเรียนลัดจากการปฎิบัติจริง ที่ทำให้ได้มุมมองที่ครบถ้วน และก็ต้องการให้พนักงานเรียนลัดในแบบที่ตัวเองได้
ต้องยอมรับว่า ดิจิตอล ทรานฟอร์เมชั่น เกิดขึ้นเร็วมาก และไม่รู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นใหม่ๆอีก ประกอบกับผู้ใช้งานเริ่มคิดว่าการใช้บริการด้านโทรคมนาคมคือสาธารณูปโภคที่จำเป็น การที่เอไอเอสให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพด้านบริการกลายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าเป็นสิ่งพึงควรกระทำอยู่แล้ว ขณะที่การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ทุกรายก็พัฒนาบริการได้เหมือนๆกัน ดังนั้นเอไอเอสจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นว่า เอไอเอสมีความตั้งใจ ผู้ใช้รักเอไอเอส ชื่นชมว่าบริการดี และมีความแตกต่าง
ทำให้เอไอเอสไม่สามารถอยู่เฉยได้ จะทำธุรกิจแบบที่เคยทำมาเมื่อ 20 กว่าปีไม่ได้แล้ว จะทำให้อยู่ไม่ได้ เพราะคนที่ไม่พัฒนาเท่ากับเดินถอยหลัง ทุกองค์กรก็มองเรื่องทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่ดิจิตอล ซึ่งแต่ละธุรกิจก็มีวิธีทรานส์ฟอร์มที่แตกต่างกัน แต่หัวใจที่สำคัญที่จะทำได้คือ เรื่อง 'คน' ความท้าทายทั้งหลาย จะสามารถสู้และรับมือได้ก็ต้องอยู่ที่คนทั้งนั้น ดังนั้นจะทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้คนมีความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาพูดว่าวิธีการทำงานแบบเดิม อาจจะไม่ต้องทำแล้ว ต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบการทำงานแบบใหม่ๆ
โจทย์คือ จะเปลี่ยนยังไง ใครจะบอกเขาได้ หรือควรจะเริ่มเปลี่ยนเมื่อไหร่ เรื่องนี้วนอยู่ในทุกองค์กร การที่จะให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กร อยู่ที่การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเอไอเอสก็มีการใช้อยู่คือ 'FIND U' ประกอบด้วย Fighting Spirit ในการปลุกพลังการต่อสู่ขึ้นมา Innovation เน้นนวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างกับคู่แข่ง New Ability เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่พนักงาน และ Live Digital Life ให้พนักงานได้ลองใช้บริการดิจิตอลต่างๆ ที่เกิดขึ้น สุดท้ายคือ Sense of Urgency ในการปลูกฝังพนักงานให้ตอบสนองลูกค้าแบบทันทีทันใด
***ปลุกแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่ายร่วมกัน
คำถามคือแล้วเอไอเอสจะปลุกพนักงานให้มีพลัง และแรงบันดาลใจ คิดนอกกรอบได้อย่างไร จริงอยู่ว่าที่ผ่านมาเอไอเอสมีการซื้อหลักสูตรมาพัฒนาบุคลากรในแต่ละงานอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เคยมีการฟังเสียงจากคนข้างนอกว่า เขามีประสบการณ์อย่างไร หัวใจหลักของ หลักสูตร ABC ที่ได้ผลคือการสร้างเครือข่าย เพราะแต่ละคนต่างมาจากอาชีพที่หลากหลาย
แล้ว ACT ของ เอไอเอส จะสร้างเครือข่ายได้อย่างไร ในเมื่อคนอบรมคือพนักงานเอไอเอสด้วยกัน แต่ต้องไม่ลืมว่า พนักงานเอไอเอสมีเป็นหมื่นคน ไม่มีทางที่ใครจะรู้จักกันได้หมด ในการทำงานแต่ละครั้ง ถ้าไม่รู้จักกัน การคิดนอกกรอบ ก็อาจจะไม่สำเร็จ เพราะไม่รู้จะทำร่วมกับใคร ต้องติดต่อใคร เพื่อให้งานเดินเร็วและได้ผลที่ต้องการ จึงนับว่าเป็นการทลายกำแพง ของพนักงานเอไอเอสได้เป็นอย่างดี และผู้ที่ถูกคัดเลือกมาร่วมหลักสูตร ACT ครั้งนี้ จะมีการคละกลุ่มกัน ตั้งแต่รุ่น เบบี้ บูม จนถึงเจนล่าสุด ซึ่งผู้ที่ต้องการร่วมหลักสูตร ต้องผ่านการคัดเลือกจากการนำเสนอเหตุผลว่าทำไมเอไอเอสต้องเลือกคุณผ่านคลิปวิดีโอ เพื่อดูความสร้างสรรค์ และการคิดนอกกรอบ นอกจากนี้ยังมีการเชิญ 'ว่าที่เถ้าแก่น้อย' ผู้เป็นลูกหลานของร้านเทเลวิซ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่ และมีพลังคิดบวก และนอกกรอบ อีกทั้งยังเป็นเถ้าแก่ร้านในอนาคตมาร่วมหลักสูตรด้วย
***ชู 5D รู้ครบมุม 360 องศา
หลักสูตรนี้จะมีการเชิญวิทยากรจากหลากหลายแง่มุม ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากหลักสูตร ABC ให้ผู้ที่เข้าร่วมอบรม ได้ใช้ศักยภาพของสมองซีกซ้าย และซีกขวาอย่างเต็มที่ โดยการเปิดเวทีเสวนาโจทย์ทางธุรกิจจริงมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ เรียนรู้กลยุทธ์จากสุดยอดนักบริหารผู้ที่เคยพลิกเกมการแข่งขันมาแล้วด้วยความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจ สร้างความแตกต่างในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยหลัก 5D ใน 5 องค์ความรู้ 360 องศา ประกอบด้วย 1.DIFFERENTIATION นำเสนอกระบวนการความคิดเพื่อสร้างความแตกต่างตั้งแต่การตั้งคำถามการหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ การสร้างนวัตกรรมสินค้า การทำการตลาด และการสร้างความได้เปรียบบนคุณค่าที่แตกต่าง โดยสุดยอดนักธุรกิจผู้พลิกการแข่งขันมาแล้ว
2.DECISION เปลี่ยนมุมมองการตัดสินใจ โดยผสมผสานข้อมูลกับความคิดสร้างสรรค์ท้าทายกระบวนการ การตัดสินใจแบบเดิมๆทำลายกรอบแห่งสูตรสำเร็จโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่จะช่วยให้สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาทำงานกันอย่างสอดคล้องมากขึ้น 3.DESIGN สร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มด้วยการออกแบบ กลยุทธ์ที่ทำให้หลายๆองค์กรประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย ค้นหาจุดนัดพบระหว่างงานดีไซน์ และความเป็นไปได้ของธุรกิจ 4.DIGITAL พลังของกระแสดิจิตอลส่งผลให้การทำธุรกิจไม่มีวันกลับไป ณ จุดเดิม ไม่ว่าจะสนใจเรื่องดิจิตอลหรือไม่แต่อำนาจของกระแสดิจิตอลก็จะเปลี่ยนโลกแน่นอน กูรูสายดิจิตอลจะมาเล่าถึงแนวโน้มและบทเรียนของหลายองค์กรที่ปรับตัวไม่ทัน พร้อมทั้งเทคนิคการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่
และ 5.DREAM ความคิดสร้างสรรค์เป็นพลังอันน่าพิศวงที่ถูกซ่อนอยู่ในทุกๆคนองค์กรในฝันคือองค์กรที่สามารถนำเอาจินตนาการของสมาชิกมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังอันยิ่งใหญ่นักบริหารและนักปกครองที่ดี ต้องเป็นนักคิด และผู้นำที่ดี สามารถนำพาให้องค์กรของตัวเองมีความฝันร่วมกันได้
สำหรับหลักสูตรนี้ปิดรับสมัครไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา และจะเริ่มเปิดอบรมตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2560 เป็นเวลา 14 สัปดาห์ โดยจะอบรมทุกวันพฤหัสบดีตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น. ที่ AIS Digital Design Center@ Emporiumโดยในแต่ละสัปดาห์จะมีการบรรยาย 2 ครั้ง โดยวิทยากรตามหัวข้อหลักสูตรที่ได้รับการคัดเลือกจากประสบการณ์ของวิทยากรแต่ละท่าน ภายใต้องค์ความรู้ทั้ง 5 กลุ่ม รวมจำนวนการบรรยายทั้งสิ้น 11 ครั้ง
'ตั้งแต่ ABC รุ่นแรกจนถึงรุ่นที่ 3 ล่าสุด พนักงานเอไอเอสไปร่วมอบรมแล้วเกือบ 20 คน และทุกคนดูมีพลัง และเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง กล้าคิดนอกกรอบ ซึ่งเมื่อในองค์กรมีคนกล้าคิดที่จะทำนอกกรอบโดยไม่กลัวความล้มเหลว องค์กรก็พร้อมจะสนับสนุน และ ACT ก็หวังว่าการเปิดรอบแรก 80-100 คนครั้งนี้จะสร้างพนักงานที่มีพลังแบบ ABC เพิ่มขึ้น เช่นกัน' วราลี กล่าวทิ้งท้าย