xs
xsm
sm
md
lg

“ทรูบิสิเนส” เดินตามแนวผนึกพันธมิตรนำโซลูชันครบวงจรให้บริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทรูบิสิเนสเน้นจับมือพันธมิตร นำโซลูชันมาให้บริการแบบครบวงจรแก่ลูกค้า ช่วยให้ยึดอันดับ 1 ในการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม ที่มีมูลค่ากว่า 5.4 หมื่นล้านบาท ด้วยส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 27%

นายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมในกลุ่มลูกค้าองค์กรในปีที่ผ่านมาว่า มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง จากการที่มีคู่แข่งรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาด แต่ทรูบิสิเนส ก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

“ในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร (ทรูบิสิเนส) มีการเติบโตราว 10% สร้างรายได้ให้กลุ่มทรู มากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดราว 27% จากมูลค่าตลาดรวมราว 5.4 หมื่นล้านบาท และถือเป็นผู้นำในตลาดนี้”

เหตุที่ทำให้ทรูบิสิเนส สามารถเติบโต และคงความเป็นผู้นำในตลาดนี้ เกิดจากการนำโซลูชันแบบครบวงจรเข้าไปตอบสนองความต้องการของลูกค้า ประกอบกับการมาของไทยแลนด์ 4.0 ยิ่งช่วยให้ลูกค้าองค์กรต้องมีการปรับตัวรับกับยุคดิจิตอลมากขึ้น การให้บริการแบบครบวงจรจึงสำคัญมากที่สุด

“คู่แข่งของทรูบิสิเนส ที่นำเสนอโซลูชันแบบครบวงจรในตลาดยังมีน้อย แต่จะเป็นคู่แข่งในแต่ละด้านมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของลูกค้าโทรศัพท์มือถือที่มีการแข่งขันดุเดือดแล้ว ก็จะมีกลุ่มลูกค้าบรอดแบนด์ กลุ่มที่หันมาใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งคู่แข่งแต่ละรายก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกัน แต่ไม่มีใครให้บริการแบบครบวงจรเหมือนทรูบิสิเนส”

ในส่วนของการลงทุน หลักๆ แล้วจะเป็นการลงทุนของกลุ่มทรู ที่นำมาให้บริการทั้งลูกค้าทั่วไป และลูกค้าองค์กรผสมผสานกัน ดังนั้น ในส่วนของทรูบิสิเนส อาจจะมีการลงทุนเฉพาะในการเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ตามอาคาร หรือจุดให้บริการต่างๆ โดยมีงบประมาณอยู่ราว 5-600 ล้านบาท

ส่วนในแง่ของเทรนด์ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ หลักๆ แล้วจะมาจากการที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับระบบคลาวด์ และ IoT ที่เริ่มตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มลอจิสติกส์ และทรานฟอร์เมชัน ส่วนออโตเมชัน กำลังอยู่ในช่วงการนำเข้ามาทดสอบ ส่วนหุ่นยนต์ (Robotic) ก็จะนำมาช่วยในส่วนของการขาย ช่วยให้ข้อมูลลูกค้ามากกว่า

ส่วนธุรกิจของภาครัฐ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหม่ที่เข้าไปบุกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเข้าไปมุ่งหวังหลักๆ 2-3 ส่วน คือ การเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการสื่อสารใหม่ๆ เข้าไป จากเดิมเฉพาะการสื่อสารผ่านเสียง มาใช้งานผ่านแอปพลิเคชันอื่นๆ ภายในองค์กร

ถัดมา คือ การเข้าไปให้ความร่วมมือ ทั้งการเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่เข้าไปร่วมพัฒนา อย่าง สวทช. เนคเทค ก็เข้าไปมีส่วนร่วม สุดท้าย คือ การนำ IoT ไปใช้ อย่างมิเตอร์ไฟฟ้า กลายเป็นสมาร์ทมิเตอร์

สำหรับกลยุทธ์หลักที่ทรูบิสิเนส จะเน้นเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ คือ การเข้าไปร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการนำโซลูชันมาให้บริการแก่ลูกค้า การเพิ่มบริการหลังการขายให้ใกล้ชิดกับผู้ใช้มากขึ้น พร้อมไปกับการนำเทคโนโลยีไปช่วยให้ลูกค้าสามารถต่อยอดธุรกิจต่อไปในอนาคต

โดยในปีนี้ ทรูบิสิเนสตั้งเป้าหมายในการเติบโตไว้ที่ 12% หรือคิดเป็นรายได้รวมราว 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดขึ้นมาเป็น 27.5% โดยการเติบโตจะมาจากกลุ่มลูกค้าธนาคาร ธุรกิจการเงิน ขนส่ง ค้าปลีก กระจายสินค้า และอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน ทรูบิสิเนสมีลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่อยู่ราว 4,500 ราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5,000 รายในปีนี้ ส่วนองค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อย จะอยู่ที่ราว 1.2 แสนราย ที่จะเน้นการนำโซลูชันเข้าไปช่วยตอบโจทย์ธุรกิจให้เติบโตได้ง่ายขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น