จากอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่ออกมาทำนายชะตาชีวิตของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนเอาไว้อย่างน่าสนใจ คราวนี้ถึงคราวของซีอีโอเฟซบุ๊ก (Facebook) กันบ้าง เมื่อ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) ได้ออกมาประกาศวิสัยทัศน์ของเฟซบุ๊กในงานสัมมนา F8 พร้อมเน้นย้ำถึง “มาสเตอร์แพลน 10 ปี” ของบริษัทที่ได้วางเอาไว้
โดยเฟซบุ๊ก มองว่า ปัญญาประดิษฐ์, อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกที่, เวอร์ชวล และออกเมนต์เต็ท เรียลลิตี้ จะกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจในอีกสิบปีข้างหน้า
โดย มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กได้เปิดตัว Camera Effects Platform เครื่องมือสำหรับนักพัฒนาภายนอกในการสร้างแอปพลิเคชันด้านออกเมนต์เต็ท เรียลลิตี้ ที่สามารถเข้าถึงได้จากกล้องในแอปพลิเคชันของเฟซบุ๊ก ซึ่งการพัฒนาชิ้นนี้จะทำให้เฟซบุ๊กสามารถเป็นโฮสต์ของคอนเทนต์ในลักษณะเดียวกับเกม “โปเกมอน โก” อันลือลั่นได้เลยทีเดียว
นอกจากนั้น เครื่องมือ และบริการของเฟซบุ๊กที่ได้มีการประกาศในงาน F8 นี้ยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เฟซบุ๊กต้องการก้าวขึ้นเป็นคู่แข่งโดยตรงกับกูเกิล (Google) และแอปเปิล (Apple) ในฐานะที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาตลาดสมาร์ทโฟนอีกต่อไปด้วย ซึ่งตัวของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เองแสดงความผิดหวังอยู่ไม่น้อยที่เฟซบุ๊กไม่ได้ลงมือสร้างระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนของตัวเองขึ้นมา
นอกจากสมาร์ทโฟน อีกสิ่งหนึ่งที่จะหายไปจากท้องตลาดภายใต้วิสัยทัศน์ของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ก็คือ “ทีวี” โดยเขาได้นำเสนอเวอร์ชวลสกรีนแนวใหม่ที่จะมาแทนทีวีในอนาคต ซึ่งเป้าหมายของเขาก็คือ การเปิดตัว “แว่นตา” พร้อมตั้งความหวังว่า แว่นตานี้จะสามารถแสดงผลภาพสิ่งของแบบเวอร์ชวลอย่างกระดานหมากรุกให้ปรากฏขึ้นได้ หรือจะใช้แว่นนี้แสดงผลแทนทีวีขึ้นมาก็ยังได้ โดยเขามองว่า เพียงมีแอปพลิเคชันราคาประมาณ 1 เหรียญสหรัฐฯ มาใช้ร่วมด้วยก็สามารถเปลี่ยนสิ่งที่เราจะมองเห็นให้เป็นสิ่งที่เราต้องการได้นั่นเอง
ส่วนอีกบริษัทหนึ่งที่คาดว่า จะได้ประโยชน์หากวิสัยทัศน์ของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เป็นจริงก็คือ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เพราะไมโครซอฟท์ เองก็ได้ก้าวเข้าสู่ตลาดนี้แล้วด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีโฮโลกราฟิก ในชื่ออุปกรณ์โฮโลเลนส์ออกมา ซึ่งหากยุคของสมาร์ทโฟน (ที่ไมโครซอฟท์แทบไม่มีส่วนร่วมมากนัก) จบสิ้นลงไปจริงๆ และก้าวเข้าสู่ยุคของออกเมนต์เต็ท เรียลลิตี้
ไมโครซอฟท์ก็อาจกลับมาทวงตำแหน่งผู้นำในหน้าสื่อได้อีกครั้งนั่นเอง
ปัญหาเพียงอย่างเดียวที่อาจสะกัดกั้นวิสัยทัศน์ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็คือ อุตสาหกรรมโลกตอนนี้ หลายบริษัทยังต้องพึ่งพารายได้จากการขายสมาร์ทโฟน ทีวี แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เฟซบุ๊ก มองว่า มันควรจะหายไปได้แล้วอยู่ ซึ่งบริษัทเหล่านี้คงยังไม่พร้อมที่จะสูญเสียรายได้จากการขายสินค้าที่ตนเองลงทุนสร้างโรงงานผลิตเป็นพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปในเร็ววันแน่
แม้ในระยะใกล้ เราอาจมองบทบาทของเฟซบุ๊กว่า ลอกเลียนแบบสแนปแชต (Snapchat) อยู่หลายอย่าง แต่นั่นอาจเป็นเพราะเฟซบุ๊กกำลังเตรียมการสู่การสร้างแพลตฟอร์มที่จะรองรับคนได้ทุกกลุ่ม เพื่อนำคนเหล่านั้นเข้าสู่ประสบการณ์ใหม่ตามวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรอยู่หรือเปล่า เวลาสิบปีจะเป็นเครื่องพิสูจน์