กสทช.เผยความคืบหน้าสร้างระบบยืนยันลายนิ้วมือ-ฟิงเกอร์ พรินต์ นำร่องติดตั้งเครื่องอ่าน 600 จุดทั่วประเทศในเดือน พ.ค. แย้มมีแผนเช่าดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อเก็บข้อมูลไว้ที่ กสทช.เอง หวังเพิ่มความมั่นใจข้อมูลประชาชนไม่รั่วไหล
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกระดับมาตรการยืนยันตัวบุคคลผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือด้วยการสแกนลายนิ้วมือ (ฟิงเกอร์ พรินต์) ว่า ล่าสุด กสทช.อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมประกาศให้ประชาชนที่ต้องการเปิดใช้งานซิมการ์ดใหม่ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2560 เป็นต้นไปให้มาใช้ระบบดังกล่าว
โดยขั้นตอนการลงทะเบียนด้วยลายนิ้วมือ เบื้องต้นจะเปิดให้ดำเนินการผ่านศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ และร้านค้าต่างๆ ที่จำหน่ายซิมการ์ดทุกแห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช.ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทุกรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ประกอบการทุกรายต่างเห็นพ้องในการปฏิบัติตามทั้งหมด โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเสร็จเรียบร้อยแล้วในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างในการจัดทำระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ
ทั้งนี้ เครื่องสแกนรายลายนิ้วมือในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย หรือลูกตู้ ทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง ซึ่งเบื้องต้น เชื่อว่าราคาเครื่องสแกนลายนิ้วมือจะไม่สูงมากนัก โดยขณะนี้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ได้ทยอยนำเครื่องมาติดตั้งตามศูนย์บริการแล้วเพื่อนำร่องก่อนในเดือน พ.ค. จำนวน 600 แห่ง รายละ 200 แห่ง ซึ่งสิ้นปี 2560 จะติดตั้งให้ได้รวมกัน 8,000 แห่ง
สำหรับการลงทะเบียนด้วยการสแกนลายนิ้วมือนั้น ทาง กสทช.จะบังคับให้ดำเนินการเฉพาะการเปิดซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ส่วนกลุ่มผู้ใช้งานโมบายเพย์เมนต์ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 14 ล้านเลขหมาย จาก 120 ล้านเลขหมายนั้น กสทช.จะไม่บังคับประชาชน แต่กลุ่มผู้ใช้งานดังกล่าว คือ กลุ่มเป้าหมายที่ กสทช.ต้องการโน้มน้าวให้มาลงทะเบียนเพิ่มเติมด้วยการสแกนลายนิ้วมือมากที่สุด
นายฐากร กล่าวว่า กสทช. เห็นว่า การลงทะเบียนด้วยระบบลายนิ้วมือเป็นการยืนยันตัวบุคคลได้อย่างชัดเจนมากกว่าการถ่ายสำเนา หรือรูปบัตรประชาชน รวมถึงเพื่อรองรับการใช้งานด้านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (โมบายเพย์เมนต์) ที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจในข้อมูลของประชาชน สำนักงาน กสทช.มีแผนจะเช่าดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อใช้เป็นเซิร์ฟเวอร์กลางในการเก็บข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการที่ กสทช.มีการเพิ่มระบบสแกนลายนิ้วมือ ส่งผลให้ทางผู้ประกอบการจะมีรายจ่ายมากขึ้น ทางสำนักงาน กสทช.จะมีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาลดการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในส่วนที่มีการจัดเก็บเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO) จากปัจจุบันที่มีการจัดเก็บอยู่ในอัตรา 3.75% จากรายได้รวมต่อปี