อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) เดินหน้าบุกอาเซียนต่อเนื่อง หลังปีที่ผ่านมาตั้งสำนักงานเพิ่มในมาเลเซีย และไทย ล่าสุดจัดงานสัมมนาให้กลุ่มผู้ใช้ในสิงคโปร์เป็นแห่งที่ 2 ของปี ต่อจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย พร้อมประกาศนำบริการใหม่เข้ามาให้ใช้งานในภูมิภาค ส่วนในไทยเตรียมจัดงานช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
นิค วอลตัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคอาเซียน อเมซอน เว็บ เซอร์วิส กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของ AWS ในการเข้ามาให้บริการในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการในประเทศไทย และมาเลเซีย พร้อมไปกับการเตรียมทีมงานซัปพอร์ตกลุ่มผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ AWS ก็จะเน้นการสร้างประสบการณ์ใช้งานให้แก่ผู้ใช้ ด้วยการเดินสายจัดงานประชุมสัมมนาตามเมืองที่ลูกค้ามีความต้องการในการใช้งาน รวมถึงประเทศที่มีโอกาสในการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นอกจากนี้ ยังมีการเข้าร่วมกับสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อนำหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก AWS ไปให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ และพร้อมใช้งานออกสู่ตลาด เป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งาน
เอเดรียน คอกคลอฟท์ รองประธานฝ่ายกลยุทธ์สถาปัตยกรรมคลาวด์ AWS ให้ข้อมูลถึงความสำเร็จในช่วงปีที่ผ่านมาว่า AWS ยังครองความเป็นที่ 1 ในส่วนของการให้บริการคลาวด์ โดยสามารถสร้างรายได้ถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญ เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 47%
พร้อมเล่าย้อนไปถึงก่อนหน้านี้สมัยที่ เอเดรียน ทำงานอยู่ที่ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ผู้ให้บริการคอนเทนต์สตรีมมิ่งรายใหญ่ของสหรัฐฯ ในสมัยที่เริ่มต้นให้บริการว่า ในช่วงแรกที่ยังไม่มีบริการคลาวด์ การให้บริการของเน็ตฟลิกซ์จะค่อนข้างติดขัด จากการที่เซิร์ฟเวอร์ไม่รองรับการใช้งานของผู้บริโภคพร้อมๆกันได้ ทำให้เริ่มมองการเปลี่ยนแปลงมาใช้บริการคลาวด์
หลังจากที่เน็ตฟลิกซ์ หันมาใช้บริการคลาวด์ของ AWS ก็ช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่ของการเพิ่มปริมาณการใช้งานพร้อมกันของผู้ใช้ คุณภาพของคอนเทนต์ที่ให้บริการ จนกระทั่งเอเดรียนย้ายมาทำงานที่ AWS
'การที่บริษัทเห็นถึงความสำคัญของคลาวด์จะช่วยให้สามารถเดินหน้าทางธุรกิจได้รวดเร็วขึ้นเพราะปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นขององค์กรธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการคือสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ ดังนั้นเมื่อไม่มีข้อจำกัดดังกล่าวก็จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด'
ขณะเดียวกันภายในงานดังกล่าว ยังได้มีการนำเสนอบริการใหม่ของ AWS โดยเฉพาะในส่วนของ AI ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกไอที ไม่ว่าจะเป็นระบบแชตบอท หรือการโต้ตอบผ่านข้อความ ด้วยบริการของ Amazon Lex ระบบสื่อสารผ่านคำสั่งเสียง Amazon Polly ระบบวิเคราะห์ภาพถ่าย Amazon Rekognition
พร้อมกันนี้ ยังได้มีการเชิญพาร์ทเนอร์จาก 3 กลุ่มธุรกิจมาให้ข้อมูลถึงการนำบริการคลาวด์ของ AWS ไปประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็น แกร็บ (Grab) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสาร แอสโทร (Astro) ผู้ให้บริการสื่ออันดับ 1 ในมาเลเซีย และธนาคาร DBS ที่ปรับตัวสู่ธนาคารดิจิตอล
เริ่มจาก Grab ที่ระบุว่า ได้นำบริการคลาวด์มาใช้ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูล พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งให้แก่ผู้ขับขี่ ช่วยให้สามารถเพิ่มรายได้แก่พนักงานขับมากขึ้นราว 30%
นอกจากนี้ ยังสามารถนำข้อมูลพิกัดรถที่ลงทะเบียน Grab มาช่วยในการคำนวนสภาพการจราจรในแต่ละพื้นที่ เพื่อทำงานร่วมกับภาครัฐในการจัดระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนทาง Grab ก็จะสามารถไปโฟกัสกับการคิดค้นบริการให้ลูกค้าได้มากขึ้น
ถัดมาในส่วนของ Astro ได้มีการนำระบบคลาวด์มาใช้กับการให้บริการคอนเทนต์สตรีมมิ่งในมาเลเซีย ในการให้บริการครอบคลุมผู้ใช้งาน 21 ล้านคนบนทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งมองว่าการมาใช้บริการคลาวด์จะช่วยให้สามารถขยายปริมาณที่รองรับการใช้งานได้มากขึ้น และจะช่วยผลักดันให้ Astro กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมมีเดียคอนเทนต์
สุดท้ายคือธนาคาร DBS ที่มีการปรับตัวสู่การเป็นธนาคารดิจิตอล ด้วยการสร้างประสบการณ์ใช้งาน และการทำธุรกรรมให้ง่ายขึ้น พร้อมนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ให้แก่ผู้ใช้ จนได้รับการการันตีว่าเป็นผู้นำในส่วนของดิจิตอลแบงก์ ก็เกิดจากการนำคลาวด์ของ AWS มาช่วยให้เปลี่ยนสู่ดิจิตอล
***เหตุผลที่ทำให้องค์กรหันมาใช้คลาวด์
อเล็ก สมิธ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านสถาปัตยกรรม โซลูชันสื่อ และความบันเทิง ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการย้ายมาใช้คลาวด์ขององค์กรธุรกิจออกเป็น 6 ข้อด้วยกัน คือ1.เพื่อเป็นการกระจายการลงทุนให้รองรับบริการที่หลากหลายมากขึ้น เพราะคลาวด์เป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถต่อยอดบริการที่ตอบโจทย์การทำงานของธุรกิจ
2.ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่จำเป็น ด้วยการใช้งานบริการคลาวด์ของภาคเอกชน 3.เมื่อใช้งานคลาวด์ไม่จำเป็นต้องคอยมอนิเตอร์ปริมาณการใช้งานให้รองรับการใช้งานจำนวนมาก เพราะด้วยระบบคลาวด์จะทำการจัดสรรทรัพยากรให้อัตโนมัติเมื่อมีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้น
4.ช่วยให้สามารถขยายธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นบริการที่สามารถเพิ่มได้ตามความต้องการ 5.ช่วยลดปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยง หรือการลงทุนที่ไม่เกิดประโยชน์ และสุดท้ายคือ 6.ทำให้ธุรกิจสามารถก้าวไปสู่ระดับโลกได้รวดเร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน การที่ AWS ได้รับการยืนยันจากทางการ์ทเนอร์ เป็นผู้ให้บริการคลาวด์อันดับ 1 ของโลก มาจากการที่ AWS มีบริการให้เลือกใช้งานหลากหลาย และมีการคิดค้นบริการใหม่ๆเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆเดือน
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจระบุว่า เมื่อองค์กรธุรกิจมาใช้คลาวด์ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากการใช้งานบนดาต้าเซ็นเตอร์ หรือเซิร์ฟเวอร์แบบเดิม จะช่วยลดค่าใช้จ่ายราว 10-30% ในช่วง 1-3 เดือนแรก จากต้นทุนของการวางระบบเดิม ถัดมาเมื่อเข้าสู่การใช้งานคลาวด์ องค์กรจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 30-50% ในระยะเวลา 3-9 เดือน และสุดท้ายเมื่อขึ้นมาใช้งานคลาวด์เต็มรูปแบบจะช่วยให้องค์กรลดค่าใช้จ่ายได้ 50-80% ภายในระยะเวลา 1 ปี
สำหรับจุดเด่นสำคัญที่ทำให้หลายองค์กรธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ และสตาร์ทอัปเลือกใช้งาน AWS คือ การที่เป็นระบบคลาวด์ที่เริ่มต้นใช้งานง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง และที่สำคัญคือจ่ายตามที่ใช้งานจริง จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้
ดังนั้นจากเดิมองค์กรที่เคยลงทุนเซิร์ฟเวอร์เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานมหาศาลในบางเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนในส่วนที่ไม่ได้ใช้อีกต่อไป และเปลี่ยนมาเป็นจ่ายค่าเช่าใช้ตามจริงแทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทฤษฏีในการตั้งราคาของ AWS โดยทาง AWS มีการวางทฤษฏีในการลดค่าใช้จ่ายง่ายๆว่า เมื่อเริ่มต้นใช้งานในราคาถูก จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้งานเพิ่มมากขึ้น เมื่อปริมาณผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นก็จะมีการลงทุนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการใช้งานที่ครอบคลุม
เมื่อมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ก็จะทำให้ได้ราคาต่ำลงจาก อีโคโนมีออฟสเกล ส่งผลถึงความสามารถในการให้บริการในราคาที่ต่ำลงได้ วนกลับไปที่เมื่อลดค่าใช้บริการให้กับลูกค้า สุดท้ายปริมาณลูกค้าที่เข้ามาใช้ก็จะเพิ่มขึ้นอีก
จากการลงทุนในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน AWS มีกลุ่มศูนย์ข้อมูลทั้งหมด 42 แห่งทั่วโลก และมีแผนที่จะเพิ่มอีก 3 แห่ง คือที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเมืองหนิงเซี้ย ประเทศจีน ภายในสิ้นปีนี้ และอีกแห่งที่กรุงสต็อกโฮม ประเทศสวีเดน
***กระตุ้นนักพัฒนาด้วย AWS Hackday
อีกมุมที่น่าสนใจของ AWS คือการเข้าไปสนับสนุนนักพัฒนาให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยต่อยอดบริการใหม่ๆให้เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกๆปี โดยล่าสุด AWS ได้มีการจัด AWS Hackday 2017 ขึ้นก่อนหน้า AWS Summit 2017 ที่สิงคโปร์ โดยมีนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 22 ทีม
เบื้องต้น ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องมีการส่งข้อมูล หรือไอเดียในการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้งานร่วมกับระบบคลาวด์ของ AWS เพื่อให้ได้รับคัดเลือกเข้ามาแข่งขันการเขียนโปรแกรมภายในเวลา 10 ชั่วโมงที่สำนักงานของ AWS
ส่วนของรางวัลที่ให้ผู้เข้าร่วมจะได้รับเครดิตในการใช้งานคลาวด์ของ AWS 100 เหรียญ ทุกคน ส่วนทีมที่ชนะเลิศจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือส่วนของนักศึกษา และขององค์กรธุรกิจ จะได้รับแท็บเล็ต Kindle Fire ปุ่มสั่งงาน IoT (Amazon IoT Button) และบัตรกำนัลสำหรับซื้อสินค้าใน amazon.com
สำหรับเงื่อนไขในการแข่งขันคือAWS จะมีการเตรียมชุดนักพัฒนาของ Intel Edison ที่สามารถทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ต่างๆได้ พร้อมกับกล้องเว็บแคม ปุ่มสั่งงาน IoT มาให้เขียนโปรแกรมทำงานร่วมกับบริการของ AWS อย่าง Alexa ที่เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะ โดยทีมที่ชนะเลิศในกลุ่มของนักศึกษาได้แก่ ทีม 4 Musketeers ที่พัฒนาระบบการอ่านข้อมูลยาจาก QR Code ที่สั่งงานผ่าน Alexa เพื่อแปลงให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย พร้อมระบบแจ้งเตือนให้ทานยาตามเวลาที่กำหนด
ส่วนทีมขององค์กรธุรกิจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ DareDevils พัฒนาระบบฟาร์ทอัจฉริยะ ที่ใช้ Alexa มาช่วยในการพยากรณ์อากาศ สั่งเปิด-ปิดสวิตซ์ไฟ ที่สามารถประยุกต์ใช้กับการรดน้ำพืชผัก รวมถึงการนำเซ็นเซอร์ไปช่วยวัดระดับน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดีขึ้น และสะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีทีมรองชนะเลิศในส่วนขององค์กรธุรกิจ จากกลุ่มสิงเทล ที่พัฒนาโซลูชันเกี่ยวกับสมาร์ทโฮม ด้วยการนำกล้องเว็บแคม มาใช้งานร่วมกับปุ่ม IoT แทนปุ่มกดกริ่งหน้าบ้าน เมื่อทำการกดปุ่มระบบจะทำการถ่ายภาพจากกล้อง ส่งไปประมวลผล โดยใช้ระบบจดจำใบหน้าของ AWS เมื่อพบว่าเป็นบุคคลในครอบครัวจะสั่งงานให้ปลดล็อกประตูอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่ใช่บุคคลในครอบครัวจะมีการบันทึกภาพและส่งแจ้งเตือนไปยังอีเมลเจ้าของบ้านทันที