การเร่งเครื่องเพื่อขึ้นเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนประเทศไทยของหัวเว่ย เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 3-4 ปี เคยทุ่มงบรวมๆ กันหลักพันล้านบาท เพื่อปูพื้นฐานในตลาดสมาร์ทโฟน พร้อมเปลี่ยนภาพจากการเป็นแบรนด์รับจ้างผลิตโทรศัพท์มือถือ (OEM) มาสู่แบรนด์ “หัวเว่ย”
โดยที่ผ่านมา หัวเว่ยจะพยายามรักษาสัดส่วนในการทำตลาดสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์ “หัวเว่ย” และสมาร์ทโฟนที่ผลิตเพื่อให้โอเปอเรเตอร์จำหน่ายในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพื่อพยุงให้ธุรกิจสามารถก้าวไปได้
จนมาในช่วงหลังที่มีการเปิดตัว หัวเว่ย P ซีรีส์ ออกสู่ตลาด ทำให้มีการปรับกลยุทธ์ โฟกัสกับแบรนด์มากขึ้น เพื่อรุกเข้ามาในตลาดประเทศไทยด้วยการวางโพสิชันอยู่ในสมาร์ทโฟนระดับกลางล่าง ที่ทยอยสร้างการรับรู้แบรนด์จากสมาร์ทโฟนในระดับเริ่มต้น
เมื่อชื่อแบรนด์เริ่มเข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ก็ถึงวันที่หัวเว่ย ปรับแบรนด์ขึ้นมาอยู่ในระดับพรีเมียมมากขึ้น โดยทยอยเปิดตัวแฟลกชิปโปรดักต์เข้าสู่ตลาดในช่วงระดับราคาหมื่นปลายๆ ทำให้ตลาดรับรู้ว่า หัวเว่ยมีสินค้าที่หลากหลายช่วงราคา
ก่อนมาย้ำชัดถึงภาพความเป็นพรีเมียมแบรนด์ ด้วยการจับมือกับ Leica เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลนีกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟน ประเดิมในรุ่น P9 และ P9 Plus ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยจากข้อมูลล่าสุดของหัวเว่ย ระบุว่า ไทยติดเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่จำหน่ายเครื่องมากที่สุดในโลก จากจำนวนทั้งหมด 10 ล้านเครื่อง ในปีที่ผ่านมา
ผลจากการขายเครื่องกระจาย ทำให้หัวเว่ย เติบโตถึง 3 เท่าในปีที่ผ่านมา และครองส่วนแบ่งตลาดรวมราวๆ 10% ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงแรกที่จะค่อยๆ ไต่มาร์เกตแชร์เพื่อไล่ผู้นำในตลาด ก่อนขยับขึ้นมาเป็น 15% ภายในสิ้นปีนี้ และมีโอกาสที่จะได้มากกว่านั้น จากกระแสตอบรับของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลล่าสุดจากทางจีเอฟเค ระบุว่า หัวเว่ยขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในตลาดสมาร์ทโฟนในแง่ของยอดขาย ตามหลังพี่ใหญ่อย่างซัมซุง โดยแซงเพื่อนร่วมชาติอย่างออปโป้ ขึ้นมาในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แต่ในมุมของมูลค่าตลาด หัวเว่ยยังเป็นอันดับ 3 อยู่เช่นเดิม รองจากซัมซุง และแอปเปิล ตามกลไกของตลาดที่แอปเปิล จำหน่ายเฉพาะ iPhone ในระดับราคาสูงกว่า 2 หมื่นบาท ทำให้มูลค่าในตลาดค่อนข้างสูง ประกอบกับช่องว่างระหว่างเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 และ 3 ในตลาดที่กว้างมาก
ทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) ระบุสั้นๆ ว่า ตอนนี้หัวเว่ย ถือว่าทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าในปีนี้จะสามารถเติบโตได้อีก 3 เท่า เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะยาวที่วางไว้ คือ การขึ้นเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนไทยภายในปี 2020
***เพิ่มหน้าร้าน-คุณภาพศูนย์บริการ
สำหรับกลยุทธ์หลักที่ทำให้หัวเว่ย มั่นใจว่า จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้เกิดจากการวางรากฐานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเน้นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุม จากในช่วงต้นปี 2559 ที่มีราว 1,000 แห่ง เพิ่มเป็น 7,000 แห่งในสิ้นปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มเป็น 8,000 แห่งในปีนี้
“การเพิ่มช่องทางจำหน่าย ก็จะช่วยให้หัวเว่ย สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น เพราะด้วยผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย ที่มีกว่า 10 รุ่น ถือว่าครอบคลุมทุกช่วงราคาตั้งแต่ระดับต่ำกว่า 5,000 บาท ไปจนถึงสูงกว่า 20,000 บาท”
ปัจจุบัน สัดส่วนการจำหน่ายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ ระดับราคาสูงกว่า 15,000 บาท คือใน P ซีรีส์ และ Mate ซีรีส์ ที่มีสัดส่วนราว 40% ถัดมาเป็นระดับราคา 5,000-15,000 บาท โดยมีรุ่นเด่นในช่วงนี้ คือ GR5 มีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 40% ส่วนที่เหลือ 20% จะอยู่ในช่วงระดับราคาต่ำกว่า 5,000 บาท
ทั้งนี้ ยอดขายของหัวเว่ย จะมาจากในกรุงเทพฯ ราว 40% และต่างจังหวัดราว 60% และเชื่อว่า ทั้งสัดส่วนในแง่ของระดับราคาจำหน่าย และพื้นที่ในการจำหน่ายจะใกล้เคียงกันในปีนี้จากกำลังซื้อของลูกค้าที่กระจายสู่ทั่วประเทศมากขึ้น
ถัดมา คือ เรื่องของศูนย์บริการหลังการขาย โดยหัวเว่ย เริ่มประเดิมบริการ Diamond Service ตั้งแต่เริ่มวางจำหน่าย P9 และก็ต่อเนื่องมาในรุ่น Mate 9 รวมถึง P10 ที่กำลังจะวางจำหน่ายด้วย โดยจะมีการอัปเกรดบริการให้ดีขึ้น เริ่มจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ยเริ่มเปิดให้บริการ Door 2 Door Service ในการไปรับเครื่องเพื่อนำไปซ่อมถึงบ้าน
ส่วนในปีนี้จะมีการเพิ่มบริการด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1.รับประกันการซ่อมเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ถ้าเกินจะมีมาตรการเปลี่ยนเครื่องใหม่ หรือให้เครื่องสำรอง (แฟลกชิปรุ่นก่อนหน้า) ใช้งานระหว่างซ่อม 2.เพิ่มช่องทางนัดออนไลน์ในการเข้าใช้ศูนย์บริการหลักทั้ง 14 แห่ง ไม่นับรวมจุดส่งเครื่องอีก 800 จุดทั่วประเทศ
สุดท้าย คือ 3.การรับประกันหน้าจอแตก 3 เดือนแรก เปลี่ยนจอให้ฟรีภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด รวมถึงส่วนลดค่าอะไหล่ ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ด หรือหน้าจอ ในช่วงปีที่ 1-2 และการให้บริการอัปเกรดซอฟต์แวร์ เฟิร์มแวร์ฟรีที่ศูนย์บริการ รวมถึงการเข้าไปสลักชื่อโลโก้ได้ฟรีที่ศูนย์มาบุญครอง
“ช่วงปีที่ผ่านมา ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของหัวเว่ย ที่มีทั้งการพัฒนาระดับบริการหลังการขาย การขยายศูนย์บริการ เพิ่มคุณภาพ และเตรียมพร้อมอะไหล่ให้เพียงพอกับจำนวนสินค้าที่ขายมากขึ้น ซึ่งสำคัญกว่าการทำตลาด หรือการจำหน่ายสินค้าอื่นๆ”
***โปรดักต์ต้องแข่งขันได้
แน่นอนว่าจุดที่สำคัญที่สุดในเกมการแข่งขันของตลาดสมาร์ทโฟน คือ ผลิตภัณฑ์ต้องดี และต้องมาถูกเวลา โดยถ้าสังเกตจะพบว่า หัวเว่ยพยายามเข็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นแฟลกชิปออกสู่ตลาดใน 2 ช่วงเวลา อย่างตอน P9 รวมถึง P10 ก็จะชิงเปิดตัว และวางจำหน่ายก่อนแฟลกชิปของเบอร์ 1 ในตลาด
เช่นเดียวกันกับช่วงที่ซีรีส์ Mate เปิดตัว ก็จะใกล้เคียงกับช่วงที่แบรนด์ใหญ่จะออกรุ่นใหม่มาขาย เพื่อชิงจังหวะ และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ยิ่งเมื่อภาพของแบรนด์ที่ผูกกับ Leica ผลิดอกออกผล ทำให้กลุ่มผู้ที่เคยใฝ่ฝันว่า อยากได้กล้อง Leica มาใช้ ก็สามารถจับต้องคุณภาพระดับ Leica ได้ในช่วงราคา 2 หมื่นบาท
ขณะเดียวกัน P10 Plus ยังถือเป็นรุ่นที่น่าสนใจในแง่ของสเปก และกลายเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่จะรองรับการใช้งาน 4.5G ในประเทศไทย ด้วยการที่ตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อแบบ 4x4 MIMO เป็นรุ่นแรก ดังนั้น ผู้ที่ใช้เครือข่ายทรู และเอไอเอส ก็สามารถใช้งานเครือข่ายได้แบบเต็มประสิทธิภาพ
อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องของเลนส์ที่ใช้บน P10 Plus ที่ใช้เลนส์ Summilux ที่เป็นเกรดเลนส์ที่ดีกว่า P10 ซึ่งใช้ Summarit และให้รูรับแสงที่กว้างกว่าเป็น f/1.8 ยิ่งช่วยให้ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้มากขึ้นในช่วงเวลากลางคืน และสร้างโบเก้ (พื้นหลังเบลอ) ได้สวยขึ้นสำหรับการถ่ายภาพบุคคล
***ยึด 2 แฟลกชิปจับคนละกลุ่ม
อีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากการเปิดตัว P10 อย่างเป็นทางการ คือ การวางตำแหน่งของสมาร์ทโฟนที่เป็นแฟลกชิป โดยหัวเว่ย ยังจะยึดแนวทางในการทำตลาด 2 แฟลกชิปเหมือนเช่นเดิม และไม่กังวลว่าโปรดักต์ที่ออกมาจะทับซ้อนในช่วงราคาใกล้กัน
ชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า การแบ่งตลาดของ P ซีรีส์ จะเน้นไปที่กลุ่มไลฟ์สไตล์เป็นหลัก ทำให้ฐานลูกค้าในกลุ่มนี้จะกว้างกว่า ในขณะที่ Mate ซีรีส์ จะเน้นไปที่การเป็นสุดยอดของสมาร์ทโฟนในเวลาที่เปิดตัว
“กลุ่มลูกค้าของ Mate คือ ผู้ที่ต้องการสมาร์ทโฟนประสิทธิภาพสูงที่สุดในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดหน้าจอ สเปก กล้อง ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงที่เปิดตัวผู้ผลิตต้องนำเทคโนโลยีที่ใหม่สุดในเวลานั้น มาจำหน่าย”
ขณะที่ในส่วนของ P10 ที่ออกห่างกันประมาณ 6 เดือน ก็จะผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่เปิดตัวตอน Mate 9 มาผสมกับเทคโนโลยีใหม่ อย่างเลนส์ของ Mate 9 ก็จะเป็นตัวเดียวกับใน P10 แต่ถ้าเป็น P10 Plus ก็จะเป็นเทคโนโลยีที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ P10 และ P10 Plus ยังจะชูในเรื่องของการใช้งานตามไลฟ์สไตล์ทั่วไปของผู้บริโภคที่สำรวจแล้วพบว่า ชอบการนำไปถ่ายภาพแบบเซลฟี่ จึงได้นำเทคโนโลยีของ Leica มาใช้ในกล้องหน้าด้วย จึงกลายเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่มากับเลนส์ Leica ทั้งหน้า และหลัง
ส่วนในอนาคต Mate รุ่นใหม่ที่จะออกมาในช่วงปลายปี ก็จะมีการผสมเทคโนโลยีบางส่วนใน P10 ผสมเข้ากับหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ เพื่อทำให้กลายเป็นรุ่นไฮไลท์ในช่วงปลายปีนี้เช่นเดิม