xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงดีอี หาคนเก่งสู้ค่าตัวสูงสุด 2 แสนบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงดีอี เตรียมขอกำลังพลเพิ่ม 100 อัตรา อัดฐานเงินเดือนจูงใจสูงสุด 218,400 บาท ในลักษณะพนักงานอัตราจ้างทำสัญญา 4 ปี

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างกระทรวงดีอีว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับ นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถึงการขอกำลังพลในส่วนที่ขาดหายไปของกระทรวงดีอี ภายหลังปรับเปลี่ยนมาจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยในการหารือระหว่างกันทางกระทรวงดีอี ได้ร้องขอไปจำนวนทั้งสิ้น 100 อัตรา ภายในปี 2560 เพื่อเสริมอาวุธในการทำงาน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ทางกระทรวงดีอี เสนอขึ้นเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าข้าราชการทั่วไป เพื่อเป็นการจูงใจบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถส่วนใหญ่มักไม่เลือกทำงานกับหน่วยงานรัฐ เนื่องจากราชการมีฐานเงินเดือนจูงใจที่น้อยกว่าเอกชน

สำหรับฐานเงินเดือนของบุคลากรทั้ง 100 คน ประกอบด้วย ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจ เงินเดือน 37,680-68,350 บาท, ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญทั่วไป เงินเดือน 109,200 บาท, ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ เงินเดือน 163,800 บาท และตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระดับสากล เงินเดือน 218,400 บาท โดยทุกตำแหน่งจะมีการจ้างงานในลักษณะพนักงานอัตราจ้างทำสัญญา 4 ปี จากนั้น จะมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน (เคพีไอ) เพื่อพิจารณาต่อสัญญา รวมทั้งพนักงานในส่วนดังกล่าวทางกระทรวงดีอี จะมีสวัสดิการให้ในระดับเดียวกันกับบุคลากรขององค์การมหาชน สำหรับการสรรหานั้น เฉพาะตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจเท่านั้น ที่จะมีการเปิดการสรรหา ส่วนตำแหน่งอื่นจะสรรหาโดยวิธีการชักชวน หรือทาบทามบุคคลที่มีความสามารถในสาขาต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการ และขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ช่วยสรรหาบุคลากรระดับหัวกระทิมาทำงานร่วมกับกระทรวงดีอี

ทั้งนี้ คุณสมบัติเบื้องต้นที่กระทรวงดีอีต้องการ คือ ต้องเป็นผู้ที่มีประวัติการทำงานดี เช่น เคยสอนหนังสือระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หรือเคยทำงานองค์การนาซา เป็นต้น ซึ่งทางกระทรวงไม่จำกัดเรื่องของอายุหรือการทำงานปัจจุบัน อยู่ภาครัฐหรือเอกชน และในหรือนอกประเทศ

นายพิเชฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า โครงสร้างการทำงานของกระทรวงดีอี ปัจจุบันยังไม่เป็นลักษณะดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเต็มรูปแบบ เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการภารกิจงานใน 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.ฝ่ายกำกับดูแลฮาร์ดแวร์ เช่น การดูแลห้องวิจัยด้านดิจิตอลต่างๆ อาทิ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้าน Internet of Things (IoT) หรือศูนย์จัดเก็บข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) และ 2.ยังไม่มีศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านดิจิตอลของตนเอง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจำเป็นต้องวิเคราะห์เรื่องต่างๆ เช่น ประเทศอื่นมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี IoT อย่างไร ประเทศไทยควรพัฒนาด้านใด เพื่อวางกลยุทธ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านดิจิตอลในด้านต่างๆ ของประเทศ ทั้งนี้ บุคลากรบางส่วนที่กระทรวงดีอีจะสรรหาในครั้งนี้จะนำมาดำเนินการใน 2 ด้านดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น