xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงดีอี ทุ่ม 53 ล้านบาท เปิดโครงการต้านภัยไซเบอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงดีอี ทุ่ม 53 ล้านบาท เปิดโครงการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ หวังสร้างสังคมคุณภาพ กระตุ้นประชาชนรู้เท่าทัน ป้องกันถูกล่อลวง เอาเปรียบ พร้อมยกระดับความมั่นคงของประเทศ หวัง 6 เดือน ลดภัยไซเบอร์ได้ 20%

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ (คนกลาง) รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า จากปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบมากมายต่อสภาพเศรษฐกิจ สร้างปัญหาสังคม และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กระทรวงดีอีในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ต้องเผยแพร่ความรู้ วิธีปฏิบัติ วิธีป้องกันภัยที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด จึงจัดทำโครงการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศจากการกระจายเสียงจากวิทยุ และโทรทัศน์ทั้งระบบดิจิตอล และอนาล็อก เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในทางที่ถูกต้องให้กับประชาชน และไม่ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารกันมากขึ้น และส่งผลต่อประชาชนทั้งด้านบวก และด้านลบ ทำให้เกิดปัญหาการขยายตัวของอาชญากรรมข้ามชาติ เกิดรูปแบบของอาชญากรรมใหม่ๆ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นอย่างมาก

“ปัญหาทางเทคโนโลยีดิจิตอลเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาทิ การบิดเบือนข้อมูล การเผยแพร่ภาพอนาจารผู้เยาว์ การฟอกเงิน ฉ้อโกง การถอดรหัสโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วเผยแพร่ให้ผู้อื่นดาวน์โหลดได้ การโจรกรรมโปรแกรม การจารกรรม หรือขโมยข้อมูล ความลับทางการค้าของบริษัท เป็นต้น ส่งผลให้ประชาชนที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ถูกล่อลวง เอาเปรียบ และได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ประชาชนอีกจำนวนมากไม่รู้ข้อกฎหมาย และกระทำความผิดโดยไม่รู้ตัว เช่น การกดไลก์ กดแชร์ และกดโพสต์ ในข้อมูลที่อาจไม่ได้รับอนุญาต”

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้แนวคิด รอบรู้ ทันภัย ไซเบอร์ โดยจัดกิจกรรมการเสวนา อภิปรายถึงปัญหาของสังคมที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จากวิทยากรผู้มีประสบการณ์ด้านการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมใน 3 ประเด็นหลัก คือ ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันและสังคม ให้ประชาชาชนรู้ถึงภัยจากโลกออนไลน์ และการสร้างแนวทางการป้องกันระวังภัยจากโลกออนไลน์ ซึ่งการจัดกิจกรรมเสวนาจะจัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 6 ครั้ง โดยจะเริ่มจัดกิจกรรมครั้งแรกที่กรุงเทพฯ และกระจายไปสู่จังหวัดตามภูมิภาค อีก 5 ครั้ง ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ระยอง นครศรีธรรมราช และราชบุรี

นอกจากนี้ ยังจัดทำสื่อมัลติมีเดียในรูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยี และสื่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงการป้องกัน หรือระวังภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ สื่อ วิดีทัศน์ สื่อ อินโฟกราฟิก การจัดทำช่องทางโซเชียลมีเดียบนยูทูป เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ อินสตาแกรม และเว็บไซต์ และคู่มือการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยใช้งบประมาณโดยรวม 53 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าภายใน 6 เดือนจะต้องลดภัยจากไซเบอร์ได้ราว 20%

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนในประเทศไทยมีการใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องที่ 92 ล้านเลขหมาย ขณะที่การใช้งานผ่านโซเชียลมีเดียในสัดส่วนการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน แบ่งเป็น การใช้งานผ่านเฟซบุ๊ก มากที่สุดอยู่ที่ 65% รองลงมา คือ ยูทูป 64% และไลน์ 54% ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มคนที่นิยมการใช้งานโซเชียลมีเดียเหล่านี้ถือว่ามีความเสี่ยงภัยจากไซเบอร์ และต้องให้ความรู้ในการใช้งานมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น