xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐพงค์” รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2560 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการสื่อสารดิจิตอล จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีการศึกษา 2558-2559 (ครั้งที่ 39) ในวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560 ที่อาคารศูนย์กีฬากาญจนาภิเษกรัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ในการนี้ มหาวิทยาลัยแม้โจ้ ได้เสนอชื่อ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการสื่อสารดิจิตอล ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดิจิตอล และเป็นบุคคลประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และอุทิศตนทำกิจกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโทรคมนาคมสื่อสารในยุคดิจิตอล จึงสมควรเป็นแบบอย่างที่ดี จึงสมควรได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการสื่อสารดิจิตอล

ทั้งนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการรับพระราชทานปริญญาบัตรนี้ว่า ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ สิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละประเทศก็คือ การบูรณาการเทคโนโลยีดิจิตอลเข้าไปในกระบวนการขององค์กร และธุรกิจ ไปจนถึงระบบการศึกษา ซึ่งจะส่งผลระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก เทคโนโลยีดิจิตอลอาจสร้างผลกระทบต่อองค์กรได้ เช่น ในเรื่องโครงสร้างองค์กร อุปสรรคและความสามารถในนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาปรับใช้ในอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจทำให้บางองค์กรต้องประสบกับปัญหาช่องว่างทางทักษะ (Skills gap) ซึ่งเป็นสาเหตุให้การพัฒนาด้านดิจิตอลของหลายๆองค์กรต้องหยุดชะงักมาแล้ว การกำหนดกลยุทธ์ทางดิจิตอลที่เหมาะสมกับองค์กร จะทำให้องค์กรสามารถปฏิรูปทางดิจิตอล และมีความคล่องตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากแต่ละองค์กรมีความเข้าใจถึงอุปสรรค และความสามารถที่องค์กรมีอยู่ จะทำให้องค์กรสามารถก้าวไปสู่องค์กรดิจิตอลได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอลน้อยลง

นอกจากนี้ นโยบายการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ Digital country หรือ Thailand 4.0 จะประสบความสำเร็จได้นั้น ภาคการเกษตรถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้รับการท้าทายอย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลก โดยการผลิตอาหารของโลกต้องเพิ่มขึ้น 70% ภายในปี 2050 ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่เพาะปลูกไม่สามารถเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำจืด ซึ่งขณะนี้ภาคการเกษตรใช้ไปเกือบ 70% ของปริมาณน้ำจืดทั่วโลก สภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวน ฤดูกาลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ประเทศไทยที่มีทรัพยากรด้านการเกษตรที่เหมาะสมอยู่แล้ว หากสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ก็จะทำให้ประเทศสามารถก้าวกระโดดเป็นแหล่งอาหารของโลก หรือครัวโลก หรือจะพูดได้ว่าเป็น 'ประเทศมหาอำนาจด้านอาหาร' ก็ว่าได้

วิธีหนึ่งที่ภาคการเกษตรจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสร้างประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ทั่วโลกจึงมีแนวคิดในการทำการเกษตรแบบที่เรียกว่า “การเกษตรแม่นยำ (Precision Farming/Agriculture)” หรือภายหลังได้มีการเรียกว่า “การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)” เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทคาร์ และสมาร์ทต่างๆ

การเกษตรอัจฉริยะมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสิทธิภาพมากที่สุดต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่การทำการเกษตร โดยการใช้แนวทางที่ทันสมัยที่สุด คือ แนวทางการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง โดยสามารถตอบสนองได้ทั้งในแง่คุณภาพ และปริมาณ รวมทั้งผลตอบแทนทางการเงิน การเกษตรอัจฉริยะจะมีการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น GPS service, Sensor Technology, Big Data Analytic เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการผลิต และเป็นกระบวนการใช้เทคโนโลยี ICT เพื่อช่วยเข้ามาสร้างระบบการตัดสินใจ (Decision Support Systems) เพื่อทดแทนการใช้การคาดเดาของเกษตรกร โดยข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจจะมีรายละเอียด และแง่มุมต่างๆ จำนวนมาก

ดังนั้น เกษตรกรในอนาคต นอกเหนือจากความรู้ทางด้านการเกษตรแล้ว ยังจำเป็นที่ต้องมีความรู้ในเทคโนโลยีหุ่นยนต์, รูปถ่ายทางอากาศและดาวเทียม (computer-based image sensing), GPS, พยากรณ์อากาศ, Big Data Analytic เพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยในการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ในการเกษตร จะก่อให้เกิดห่วงโซ่ใหม่ขึ้นในการทำการเกษตร ซึ่งทางรัฐบาลสามารถสร้างเป็น 'กลุ่มเกษตรกรอัจฉริยะประจำหมู่บ้าน' โดยใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กำลังดำเนินการโครงการโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี และเทคโนโลยีบรอดแบนด์ 4G มาเป็นโครงสร้างพื้นฐานได้

ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถเข้าถึงทุกหมู่บ้านของประเทศไทย จึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จปัจจัยหนึ่งที่จะขับเคลื่อน “การเกษตรอัจฉริยะ” ของประเทศไทย ที่จะทำให้ประเทศไทยยืนอยู่บนตำแหน่ง “ประเทศมหาอำนาจด้านอาหาร” ต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน

“ในฐานะประธาน กทค. และรองประธาน กสทช.จะมุ่งมั่นตั้งใจในการทำหน้าที่ในการกำกับดูแล และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม และการสื่อสารของประเทศให้มีความมั่นคง และยั่งยืนในยุคที่เศรษฐกิจของประเทศถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น