xs
xsm
sm
md
lg

27 มี.ค. ยื่นซองบิวตี้ คอนเทสต์ คลื่น 2300 MHz ทีโอที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีโอที เผยมีผู้สนใจร่วมวงคลื่น 2300 MHz แล้ว 5 ราย เดินหน้ากระบวนการประกวดราคาแบบ บิวตี้ คอนเทสต์ ให้รับเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ 10-15 ก.พ. จากนั้น จะเปิดรับข้อเสนอแผนธุรกิจ และผลตอบแทนในวันที่ 27 มี.ค. คาดใช้เวลา 60 วัน รู้ผลผู้ชนะ และเซ็นสัญญาได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 4 มั่นใจการบิวตี้ คอนเทสต์ ครั้งนี้ไม่เหมือนการประมูลความถี่ครั้งอัปยศที่ผู้บริหารไร้ยางอายใส่ตัวเลขเวอร์แบบไร้ความผิดชอบ แล้วทิ้งใบอนุญาต ด้านดีแทค เปิดตัวสนใจคลื่น 2300 MHz

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล (คนซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 09.00-16.00 น. ที่ห้องประชุม 6 ชั้น 12 อาคาร 9 จะเปิดให้โอเปอเรเตอร์ เวนเดอร์ และผู้สนใจที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้า เข้ารับรายละเอียดเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) ในการเป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจ รายละเอียดการขยายโครงข่าย และผลตอบแทนที่จะให้กับทีโอที หลังจากที่ทีโอที และบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการเงินได้จัดทำร่างรายละเอียด และเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (RFP) และเชิญผู้สนใจเข้ารับฟังแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ไปแล้ว เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2560

จากนั้นในวันที่ 27 มี.ค. จะเป็นวันเดียวที่เปิดให้บริษัทที่สนใจยื่นข้อเสนอมายังทีโอที และที่ปรึกษาทั้ง 2 บริษัทจะคัดเลือกด้วยการบิวตี้ คอนเทสต์ ให้เสร็จภายใน 60 วัน โดยจะใช้หลักการสากลในการคัดเลือก ซึ่งผู้ที่เสนอผลตอบแทนที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะ และผู้ชนะอาจจะมีมากกว่า 1 รายก็ได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจแล้ว 5 ราย ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, กลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น, บริษัท โมบายล์ แอลทีอี จำกัด และบริษัท ทานตะวัน เทเลคอม จำกัด โดยคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

“เรื่องนี้เราเตรียมการมาอย่างดี เราได้เสนอแผน และทำตาม สคร.สัญญานี้ แม้ว่าจะต้องส่งให้อัยการดู แต่เราก็เชื่อว่า จะใช้เวลาแค่ 3 เดือน และไม่ต้องเข้า ครม. เพราะไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จึงเชื่อว่าจะสามารถทำงานได้ตามแผนอย่างแน่นอน”

นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า ตามแผนธุรกิจคู่ค้าจะเป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4G/LTE ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 MHz เต็มทั้ง 60 MHzโดยมีเป้าหมายในการวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่สามารถรองรับลูกค้า โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้ง และเปิดให้บริการภายในปีแรก ไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญภายใน 2 ปี จากนั้น จะเพิ่มจำนวนไปตามประมาณการผู้ใช้งานที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าภายใน 5 ปี จะสามารถขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมตามแผน ซึ่งหากความจุไม่เพียงพอ หรือยังมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทีโอที คาดว่า จะสามารถขยายความจุ และเวลาในการให้บริการได้ จากเดิมที่คลื่นจะต้องหมดอายุในปี 2568 ก็ตาม

สำหรับรูปแบบการให้บริการนั้น ทีโอทีจะนำความจุไปให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) 20% ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมือง และพื้นที่ห่างไกล เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐในการให้ประชาชนคนไทยทุกภาคได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิดท์ทั้ง 60 MHz ของคลื่น 2300 MHz บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) 20% เป้าหมาย คือ กลุ่มลูกค้าทีโอที โดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมือง ผ่านอุปกรณ์ดองเกิล (Dongle) สำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิม และบริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบาย จำนวน 60%

อย่างไรก็ตาม บริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 Mhz นั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุญาตให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ช่วง 2310-2370 MHz เพื่อให้บริการด้านเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ โดยสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ (Neutral Technology) ตามข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-R Recommendation) มาให้บริการประเภท Fixed Wireless Broadband และประเภท Mobile Broadband และใช้งานได้ทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมการทีโอที ได้มีมติเห็นชอบ รวมถึงเห็นชอบให้ที่ปรึกษาทำการศึกษารูปแบบ และแนวทางการดำเนินธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ของทีโอที เพื่อเพิ่มมูลค่ากิจการให้แก่ทีโอที และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่องค์กรทั้งระยะสั้น และระยะยาวให้กับทีโอที และสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 และสนับสนุนแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับการประกวดราคาด้วยวิธีบิวตี้ คอนเทสต์ ในครั้งนี้ บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการเงิน ให้ความมั่นใจว่า จะไม่เกิดกรณีปั้นตัวเลขให้สวยงาม เพื่อให้ชนะอย่างเดียว จนไม่สามารถปฎิบัติให้เกิดในความเป็นจริงได้ เพราะแผนการติดตั้งโครงข่าย และแผนธุรกิจ การสร้างรายได้ ผลตอบแทนให้ทีโอที ต้องประสานสอดคล้องกัน ซึ่งการประกวดราคาแบบบิวตี้ คอนเทสต์ ไม่ใช่แค่เสนอราคาสูงสุดแล้วจะเป็นผู้ชนะ เหมือนการประมูลความถี่ครั้งอัปยศ ที่ผู้บริหารใส่ตัวเลขแบบไร้ความรับผิดชอบ

*** ดีแทคพร้อม

นอกจากนั้น ในวันแถลงเชิญชวนของทีโอที มีตัวแทนจากดีแทค และโมบายล์ แอลทีอี เข้าร่วมฟังด้วย โดย นายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ได้รับเชิญเข้าร่วมรับเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (RFP) ในการเป็นคู่ค้าการให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz กับทางทีโอที โดยทีโอที มีจุดประสงค์เพื่อจะนำคลื่นแบนด์วิดท์ จำนวน 60 MHz มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซึ่งดีแทค รู้สึกยินดีที่จะร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อก้าวสู่จุดหมายร่วมกันสำหรับคลื่น 2300 MHz ดีแทค เชื่อมั่นว่า สามารถจะนำมาให้บริการสื่อสารดิจิตอลให้ลื่นขึ้น เร็วขึ้น สำหรับลูกค้าได้ทันที และจะนำไปสู่เป้าหมายในปี 2563 ที่จะก้าวสู่ผู้นำด้านดิจิตอลในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น