xs
xsm
sm
md
lg

AISปรับยุทธศาสตร์ CSR(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิไล เคียงประดู่ (คนขวา) ผู้บริหารเอไอเอส กับ กรกมล  ศรีใจมั่น ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไทรงาม  อำเภอบางเลน  จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นรพ.สต.ต้นแบบของพื้นที่ภาคกลางในการใช้งานแอป อสม.ออนไลน์
เอไอเอส ปรับยุทธศาสตร์ CSRมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วย แอป 'อสม.ออนไลน์' หวังเป็นเครื่องมือยุคดิจิตอลช่วยงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก สื่อสารข้อมูลด้านสาธารณสุขระหว่าง รพ.สต.กับ อสม. ดูแลคนไข้ผ่านแอปไทยทั้งประเทศ ให้เข้าถึงข้อมูลด้านการแพทย์ที่รวดเร็ว ทันความต้องการ ตั้งเป้าสิ้นปี 2560ให้เข้าถึงแอปนี้ได้ทั่วประเทศ

CSR (Corperate Social Responsibility) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่องค์กรธุรกิจชั้นนำ ใช้เป็นจุดขายในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรธุรกิจ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์นั้น โดยจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่การคืนประโยชน์กลับคืนให้กับสังคมส่วนใหญ่ เอไอเอสเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการทำ CSR มาโดยตลอดโดยที่ผ่านมาเป็นในรูปแบบการบริจาคสิ่งของแก่ตามโรงรียน หรือชุมชนที่ ขาดแคลน ล่าสุด เอไอเอสปรับรูปแบบกลยุทธ์ CSR ใหม่ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของชุมชนได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการให้บริการของ เอไอเอสทางตรงได้อีกด้วย

วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส มีการปรับกลยุทธ์ CSR ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตในยุคดิจิตอลมากขึ้น ทั้งเป็นการสื่อสาร2 ทางที่สามารถโต้ตอบกันและกันได้ โดยยึดหลักการทำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยและลูกค้าเอไอเอสมากที่สุด ด้วยแนวคิดที่ว่าทำอย่างไรจะนำบริการที่มีอยู่มาก่อให้เกิดประโยชน์กับลูกค้าเอไอเอสมากที่สุดและเกิดประโยชน์กับประเทศชาติด้วย

เอไอเอสกำลังพูดถึงการนำดิจิตอลเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาชุมชน เพื่อให้กระบวนการทำงานของลูกค้ามีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ต่างจากก่อนหน้านี้เอไอเอสเป็นการให้ฝ่ายเดียว อย่าง การแจกถังน้ำ แต่ด้วยรูปแบบ CSR แบบใหม่นี้จะทำให้ผู้รับอยู่ได้อย่างยั่งยืน จากการให้สาธารณะประโยชน์พื้นฐาน ต่อยอดให้บริการที่ทำอยู่ดีขึ้น ขณะที่เอไอเอสเองก็รักษาลูกค้าไว้ได้และได้ค่าบริการเป็นการตอบแทน ในลักษณะ CSV (Creating Shared Valaue) หรือการครีเอดแวลลูร่วมกัน

ผู้บริหารเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสไม่ได้มองประโยชน์ในแง่การเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้น แต่ต้องการยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน โดยพบว่าสาธารณสุขชุมชนมีความสำคัญ และจำเป็นต่อชีวิตของคนในชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร การเชื่อมโยงการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิตของคนไทยก้าวไปอีกขั้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข , ด้านการเรียนรู้ , ด้านความปลอดภัยของชีวิต และด้านการเกษตร เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ เป็นที่มาของแอปพลิเคชัน 'อสม.ออนไลน์' ที่เอไอเอสพัฒนาขึ้นเพื่อสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) โดยแอป อสม.ออนไลน์ ได้เริ่มใช้งานครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา ในปลายปี 2558 และได้มีการขยายการใช้งานไปในพื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมไปถึง สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) สามารถใช้งาน อสม.ออนไลน์ได้ด้วย ปัจจุบันมีการเปิดใช้งานกับรพ.สต.ต่างๆทั่วประเทศแล้วประมาณ 88 แห่ง ล่าสุด รพ.สต.ไทรงาม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เริ่มมีการใช้งานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 นับเป็น รพ.สต.ต้นแบบของพื้นที่ภาคกลาง พร้อมตั้งเป้าขยายการใช้งานแอป อสม.ออนไลน์ ไปยัง รพ.สต.ทั่วประเทศ ภายในปี 2560 นี้

กรกมล ศรีใจมั่น ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไทรงาม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ภารกิจหลักของ รพ.สต.ไทรงาม คือต้องดูแลคนในชุมชนจำนวน 11 หมู่บ้าน 1,133 หลังคาเรือน ซึ่งมีประชากรทั้งหมดราว 5,254 คน โดยมีเครือข่าย อสม. ในสังกัดจำนวน 65 คนที่เข้ามาช่วยด้วยความเป็นจิตอาสาในการลงพื้นที่ดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งหมด การติดต่อสื่อสารระหว่างรพ.สต.และ อสม.จึงเป็นสิ่งสำคัญ จากที่ รพ.สต.ไทรงาม นำแอป อสม.ออนไลน์ เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการทำงานสาธารณสุขเชิงรุก เกิดประโยชน์อย่างมาก เช่น รพ.สต.ได้รับรายงานประจำเดือนจาก อสม.ที่มีข้อมูลรายละเอียดพร้อมรูปภาพที่ชัดเจน แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น โดย อสม.สามารถถ่ายภาพประกอบการส่งรายงานให้กับรพ.สต.ได้รับทราบทันที อย่าง การส่งภาพการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย การถ่ายบาดแผลผู้ป่วยภาพการพัฒนาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

'ที่สำคัญข้อมูลผู้ป่วยจะไม่ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชนหรือผู้อื่นได้โดยง่ายเหมือนช่องทางอื่นๆเนื่องจากอสม.ออนไลน์ เป็นแอปพลิเคชันเฉพาะการทำงานของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น ทำให้ผู้ที่มิได้มีหน้าที่รับผิดชอบหรือไม่ใช่อสม.หรือเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ไม่สามารถเข้ามาใช้งานได้ข้อมูลผู้ป่วยได้'

อีกทั้งยังสามารถช่วยลดการประชุมประจำเดือนลงจากที่เคยประชุมเดือนละ 2-3 ครั้งเหลือเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น กรณีมีข่าวด่วนเกี่ยวกับสาธารณสุขก็สามารถส่งผ่านทางอสม. ออนไลน์ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกประชุมด่วนหรือรอให้ถึงวันนัดประชุมประจำเดือนเหมือนในอดีตซึ่งส่งผลให้การใช้ทรัพยากรของ รพ.สต.ลดจำนวนลง เช่น ตั้งแต่ใช้ อสม.ออนไลน์มาประมาณ 7 เดือน รพ.สต.ใช้กระดาษเพื่อถ่ายเอกสารการประชุมแต่ละครั้งลดน้อยลงได้ถึง 62% จากที่เคยใช้กระดาษถ่ายเอกสารมา

ด้าน ชัชวาล แจ้งขำ ประธาน อสม.ตำบล และประธาน อสม.หมู่ 2 รพ.สต.ไทรงาม กล่าวยอมรับว่าในอดีตตนไม่เห็นความสำคัญ และความจำเป็นในเรื่องเทคโนโลยีเพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่พอได้เริ่มใช้งานแอป อสม.ออนไลน์ ก็ทำให้ความคิดเปลี่ยนไปเสมือนเป็นการเปิดโลกกว้างที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยรับรู้มาก่อน ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีในการทำงาน ประหยัดค่าน้ำมันลงถึงสัปดาห์ละ 350 บาทในการเดินทางเข้ามายังรพ.สต. เพราะบางเดือนมีการประชุมหลายครั้ง แต่ปัจจุบันหาก รพ.สต.มีเรื่องด่วนหรือจะแจ้งข่าวสารแก่ อสม.ก็สามารถส่งผ่าน อสม.ออนไลน์ได้ทันที โดยไม่ต้องเข้ามารพ.สต.

อรทัย เปรื่องระบิน อสม.หมู่ 7 รพ.สต.ไทรงาม กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ออกเยี่ยมผู้ป่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบ อสม.สามารถส่งภาพกลับไปยัง รพ.สต.ได้ทันที หากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยมีข้อซักถาม อสม. เพิ่มเติม หากเป็นข้อมูลความรู้ที่ ทาง รพ.สต.เคยส่งเข้ามาและมีอยู่ในแอป แล้ว อสม.ก็จะเปิดข้อมูลและให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยได้ทันที

ภัทราพร ทองคงหาญ อสม.หมู่ 2 รพ.สต.ไทรงาม กล่าวว่า อสม.ออนไลน์ เข้ามาช่วยให้ตนได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที ต่างจากการรับข้อมูลข่าวสารจากสังคมออนไลน์อื่นๆ ที่มีการส่งต่อข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีแหล่งที่มา จึงทำให้ไม่มั่นใจในข่าวสารนั้น และไม่กล้าที่จะไปบอกต่อต่อไป

กิตติ งามเจตนรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคกลาง เอไอเอส กล่าวว่า การจะใช้งานแอป อสม.ออนไลน์ ให้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เครือข่ายสัญญาณถือเป็นสิ่งสำคัญโดยเอไอเอสให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเครือข่ายเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานทั้งเสียง และข้อมูลแก่ลูกค้า เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถใช้งาน และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ โดยในพื้นที่ภาคกลาง เอไอเอสได้ขยายสถานีฐาน 3G บนคลื่น 2100 MHzและ 4G บนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ครอบคลุมทั้งภาคกว่า 3,600 สถานีฐาน ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง 13 จังหวัด มีเครือข่าย 3Gและเครือข่าย4Gครอบคลุมพื้นที่ประชากร 98% และมีแผนขยายเพิ่มอีกในปีนี้เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น

สำหรับผู้ใช้บริการในภาคกลางมีอยู่ราว 5 ล้านราย ที่จังหวัดนครปฐม เอไอเอสมีฐานลูกค้าเกือบ 6แสนราย ซึ่งมีสถานีฐานทั้ง 3G และ4G เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าจำนวนดังกล่าวอยู่ประมาณ 400 กว่าสถานีฐาน และมีแผนขยายจำนวนสถานีฐาน และปรับปรุงสัญญาณอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เอไอเอสไม่ได้มองประโยชน์ในแง่การเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้น แต่เป็นการรักษาฐานลูกค้ามากกว่า โดยฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของเอไอเอสอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งมีประสบการณ์กับการใช้วอยซ์เป็นส่วนใหญ่ แต่นับจากนี้ต่อไปจะเป็นการสร้างประสบการณ์การใช้งานดาต้าให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อมีประสบการณ์ใช้งานดาต้ากับแอป อสม.ออนไลน์ แล้ว ก็จะต่อยอดไปใช้ดาต้าอื่นๆมากยิ่งขึ้น เหมือนเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการใช้งานวอยซ์อย่างเดียวเป็นการเรียนรู้การใช้ดาต้ามากยิ่งขึ้น

สำหรับเป้าหมายของแอป อสม.ออนไลน์ คือให้บริการ รพ.สต. 9,800 แห่งที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปได้เฉพาะที่ Google Play สำหรับผู้ใช้งานเครือข่ายเอไอเอสสามารถใช้แอปนี้ได้ฟรีไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต ส่วนเครือข่ายอื่นเสียค่าบริการตามแพกเกจที่ใช้

วิดีโอที่เกี่ยวข้อง




กำลังโหลดความคิดเห็น