xs
xsm
sm
md
lg

ซิป้าพร้อมส่งมอบทุกอย่างให้ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า
ซิป้าเผยเตรียมความพร้อมส่งมอบคนงาน และงบประมาณให้สำนักงานใหม่เรียบร้อยแล้ว หลัง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... ผ่านสนช.ไปหมาดๆ คาดภายในเดือน ม.ค.ปี 2560 ชื่อ “ซิป้า” จะหายไป หลัง กม.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนพนักงานต้องลุ้น จะผ่านประเมิน และลงเรือลำใหม่ได้หรือไม่

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า กล่าวว่า ภายหลังที่ พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 3 เรียบร้อยแล้ว คาดว่าอาจมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนมกราคม 2560 จากนั้น จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดมา ก็จะทำให้ชื่อ ซิป้า หายไป กรรมการซิป้า ต้องหมดวาระ ผู้บริหาร และพนักงานจะกลายเป็นพนักงานชั่วคราวทันที โดยพนักงานที่จะตามไปอยู่ในสำนักใหม่ คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล ขึ้นอยู่กับสำนักดังกล่าวจะมีตัวชี้วัดผลงานว่า พนักงานที่ตามไปจะผ่านการประเมินหรือไม่ ดังนั้น จึงยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะมีพนักงานตามไปกี่คน หรือประสงค์จะยื่นใบลาออกเท่าไหร่ โดยปัจจุบัน ซิป้ามีพนักงานอยู่จำนวน 116 คน แต่สำนักงานใหม่ต้องมีบุคลากรจำนวน 200 คน เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน

ทั้งนี้ ในส่วนของกรรมการสำนักงานใหม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะเป็นผู้คัดเลือกเอง โดยหลังการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา รัฐมนตรีต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชั่วคราวก่อน เพื่อทำงานภายใน 180 วัน ก่อนที่จะได้คณะกรรมการจริง ซึ่งมีกรรมการโดยตำแหน่ง 2 คน คือ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นประธานคณะกรรมการ และมีเลขาธิการจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นสำนักงานใหม่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงดีอี ที่เหลืออีก 4 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีจะเป็นคนเลือกเอง โดยกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่กำกับดูแลในแง่นโยบาย จากเดิมที่ซิป้า มีกรรมการประมาณ 10 คน ทำหน้าที่บริหารงาน ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการกรรมการชุดใหม่จะเป็นผู้คัดเลือกเอง โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้อำนวยการ คือ ต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี ขณะที่กรรมการต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี

ด้านนายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า นอกจากเรื่องคนที่ต้องเตรียมความพร้อมในการไปทำงานร่วมกับสำนักงานใหม่แล้ว โครงการที่เป็นโครงการต่อเนื่อง และงบผูกพันโครงการ ซิป้าก็ได้เตรียมทำแผนงานส่งต่อไปยังสำนักงานใหม่แล้ว คาดว่าจะมีเงินส่งมอบให้สำนักงานใหม่ประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณปี 2559 ที่เหลืออยู่ประมาณ 30 ล้านบาท จากที่ได้มา 290 ล้านบาท และงบการเงินปีงบประมาณ 2560 ที่ได้รับมาอีก 270 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้เสนอกรอบงบประมาณปี 2561 สำหรับสำนักงานใหม่ด้วยที่กรอบงบประมาณ 1,077 ล้านบาท เนื่องจากสำนักงานใหม่ต้องทำงานในมิติเศรษฐกิจ และสังคมเพิ่มเติมด้วย

สำหรับโครงการตัวอย่างที่ซิป้า นำเสนอให้สำนักงานใหม่ คือ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการระดับชุมชนให้ใช้งานคอมพิวเตอร์ เพื่อการประกอบธุรกิจให้คล่องตัวขึ้น โดยมีเป้าหมาย 4,000 ชุมชนใน 10 จังหวัดนำร่อง โดยจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ ประกอบการในชุมชนเป้าหมายอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การสอนการใช้คอมพิวเตอร์ การสอนทำบัญชีแบบง่าย ตลอดจนการนำข้อมูลสู่ตลาดการค้าออนไลน์ โดยตั้งงบประมาณโครงการนี้ไว้ที่ ประมาณ 50 ล้านบาทหากผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจก็อาจจะขยายไปยังชุมชนต่างๆทั่ วประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เพื่อนำเทคโนโลยี Internet of Thing (IoT) มาช่วยสร้างผลิตผลการเกษตร เช่น การใช้โดรนหว่านเมล็ดพืช การใช้ระบบเซ็นเซอร์รดน้ำต้นไม้ ตรวจสอบดิน เพื่อเตรียมดินให้พร้อมในการเพาะปลูก เป็นต้น

ส่วนโครงการ Flagship ในปี 2559 ซิป้าได้เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับThailand Tourism Open Platformโครงการ TECH STARTUP โครงการ HEALTHCARE เกี่ยวกับ Personal Health Record การเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบ HIS และข้อมูลสุขภาพจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ โครงการ SMEs ใช้ ICT และทำ E- Business โครงการ Phuket Smart City เพื่อสร้างอุตสาหกรรมดิจิตอลที่จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นสถานที่ทำงาน และเจรจาธุรกิจของนักทำงานด้านดิจิตอล และนักลงทุน

รวมถึงการพัฒนาบุคลากร และส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งระดับประเทศ และระดับโลกผ่านเวทีประกวด ได้แก่ THAILAND ICT AWARDS : การประกวดผลงานซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ, THAILAND DIGI CHALLENGE : การประกวดผลงาน Digital Content ดีเด่นแห่งชาติ, ANGEL IN THE CITY : การประกวดผลงานผู้ประกอบการซอฟต์แวร์รายใหม่แห่งชาติ, ASIA PACIFIC ICT AWARDS, ACM-ICPC ASIA : เจ้าภาพการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับโลก, ASIAN ANIMATION SUMMIT : Pitching ด้าน Animation ที่เกาหลีใต้ ขณะที่การส่งเสริมด้านการตลาดยังมุ่งมั่นในการจัดงาน SOFTWARE EXPO ASIA : มหกรรมการแสดงนวัตกรรมดิจิตอล และซอฟต์แวร์ในภูมิภาคเอเชีย, งาน BANGKOK ENTERTAINMENT WEEK & BANGKOK INTERNATIONAL DIGITAL CONTENET FESTIVAL, งาน BUSINES MATCHING: งานเจรจาธุรกิจด้านเกมส์ เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ซิป้า ได้นำเสนอให้สำนักงานใหม่สานต่อโครงการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น