xs
xsm
sm
md
lg

สงครามไซเบอร์...สิ่งเหนือจินตนาการที่เกิดขึ้นจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)

“ภูมิทัศน์ (Landscape) ความมั่นคงของชาติในทุกประเทศได้เปลี่ยนไปแล้วในวันนี้ เส้นเขตแดนของประเทศถูกทำลายลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เราไม่สามารถบังคับควบคุมข้อมูลข่าวสารได้อีกต่อไป ผู้นำ และผู้บริหารทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต้องร่วมมือกันทั้งระดับชาติ และนานาชาติ และต้องมองขาดว่า สิ่งที่เรากำลังเผชิญไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเดิมๆ ได้อีกต่อไป”

ทุกประเทศทั่วโลก นอกจากจะพยายามผลักดันการพัฒนาประเทศด้วยยุทธศาสตร์ดิจิตอล เพื่อหนีความล้าหลังตกขอบโลก โดยที่เทคโนโลยีดิจิตอลกำลังทำลายล้างธุรกิจแบบดั้งเดิม และกำลังสร้างความรุ่งเรืองแก่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ แต่ก็ต้องมาประสบกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจับต้องได้ยาก ซึ่งภัยคุกคามดังกล่าวเกิดจากการโจมตีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวให้เห็น ซึ่งภัยคุกคามดังกล่าว คือ “ภัยคุกคามไซเบอร์” นั่นเอง

ประเด็นของภัยคุกคามไซเบอร์ได้ลุกลามไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีระบบธนาคาร 5 แห่งในรัสเซีย, ข่าวการเจาะระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จากแฮกเกอร์นอกประเทศ, แฮกเกอร์รัสเซียเจาะระบบ database ของ World Anti-Doping Agency (WADA) และเปิดโปงข้อมูลนักกีฬาสหรัฐฯ ไปจนถึงเหตุการณ์ที่กลุ่ม Anonymous โจมตีออสเตรเลีย จนสามารถปิดเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาล และรัฐสภา เพื่อประท้วงความพยายามของรัฐบาลออสเตรเลีย ในการเสนออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต ในทำนองเดียวกันกับกลุ่ม Anonymous ได้ร่วมกับกลุ่ม Green Party ในการประท้วงการเลือกตั้งในอิหร่าน เป็นต้น

ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ชัดว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อพัฒนาประเทศนั้น จะมีสิ่งที่เราต้องสร้างสมดุลเสมอในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำเชิงวิชาการ เช่น จาก Harvard Business Review แก่ผู้นำ และผู้บริหารระดับประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชนที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในระบบนิเวศน์ไซเบอร์ (Cyber ecosystem) เพราะหากรู้เพียงว่า “ใช่ มันสำคัญ” แต่ไม่รู้ว่า “จะจัดการกับมันอย่างไร” ผลที่ออกมาก็จะเท่ากับว่า เราไม่รู้อะไรเลยนั่นเอง

การตัดสินใจของประเทศต่างๆ ในการวิ่งเข้าสู่ “ประเทศดิจิตอล” โดยที่ประเทศนั้นๆ มิใช่ผู้คิดค้นนวัตกรรมดิจิตอล ก็จะต้องมียุทธวิธีในการเดินเกมอย่างระมัดระวัง และชาญฉลาด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศเหล่านี้จะปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีที่เป็น Digital platform ของต่างประเทศที่ใช้กันทั่วโลก อย่างเช่น Google, Youtube, Facebook, Samsung และ iPhone เป็นต้น เพราะเทคโนโลยี่ที่กล่าวมาข้างต้น ได้กลายเป็น Digital platform ในการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital economy) ทั่วโลกไปแล้ว

แต่การที่ประเทศต้องยอมรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอาจจะทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียอำนาจในการควบคุมสื่อ การกระจายตัวของสื่อ การผลิตสื่อ การเซ็นเซอร์สื่อ ไปจนถึงขีดความสามารถในการหาผู้กระทำความผิดในไซเบอร์ ทั้งนี้ เพราะระบบ server ที่ควบคุมการทำงาน และการบันทึกพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการวางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ไปจนถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีผลกระทบต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตของภาคธุรกิจ และประชาชน

ที่สำคัญ คือ “เราไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลข่าวสารของประเทศเราได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว”

ตัวอย่างที่ชัดเจนในด้านภัยคุกคามที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องตระหนัก และมีการถกเถียงกันมากในระดับโลก เช่น การใช้ Digital platform ของ Google ซึ่งทรงประสิทธิภาพขึ้นทุกขณะ (มองเห็นการเคลื่อนไหวของประชาชนแบบ realtime) ไม่เพียงแต่ระบบ search engine ที่ทรงพลังเท่านั้น ยังรวมไปถึงระบบจราจรแบบ realtime ที่เรียกว่า “Google traffic” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบแผนที่ Google Maps ที่เรารู้จักกันดี โดยที่ระบบ Google traffic เป็นที่นิยมใช้กันมากในประเทศที่มีการจราจรติดขัด เพราะมันสามารถบอกถึงสถานะการจราจรบน smartphone แบบ realtime จริงๆ โดยแสดงบน Google Maps (ผู้เขียนใช้เป็นประจำ)

ระบบ Google traffic จะได้รับข้อมูลตำแหน่งจาก GPS ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่อง ทุกประเทศที่ใช้ Google (เครื่องของคุณที่ใช้ ณ ขณะนี้ด้วย) โดย Google traffic จะทำการคำนวณความเร็ว ระยะทาง และเวลา แล้วจึงมาแสดงผลสถานะการจราจรเป็นสีเขียว แดง เหลือง บน Google Maps แบบ realtime

การพัฒนาระบบ realtime traffic monitoring ดังกล่าวของ Google นั้น เกิดจากการที่ในปี 2004 Google ได้ซื้อบริษัท ZipDash ซึ่งเป็นบริษัทที่คิดค้นเทคโนโลยีวิเคราะห์การจราจร (Realtime traffic analysis) และหลังจากนั้น ในปี 2007 Google ได้นำระบบที่ ZipDash พัฒนา มาเชื่อมเข้ากับระบบ Google Maps จนสามารถให้บริการ Google traffic ได้อย่าง realtime

กระบวนการดังกล่าวของ Google จะมีการเชื่อมโยงข้อมูล “ตำแหน่ง realtime” จากระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทุกๆ คนทั่วโลก นั่นหมายความว่า บริษัท Google จะเห็นความเคลื่อนไหวของคนหลายพันล้านคนจากเกือบทุกประเทศทั่วโลกนั่นเอง แน่นอนไม่เว้นประเทศไทย

ไม่ต่างมากนักจาก Facebook เพราะผู้ใช้งานทุกประเทศจะถูกบันทึก ip address (ตำแหน่งเมื่อมีการ upload ข้อความ, รูปภาพ และ VDO จากผู้ใช้) และ Facebook สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ ของผู้ใช้ในทุกประเทศทั่วโลกได้อย่างละเอียด จึงทำให้สามารถนำเอาข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานทั่วโลกมาวิเคราะห์วางแผนทางการตลาดได้อย่างเฉียบคม แต่อย่างไรก็ตาม Facebook ก็เป็น Platform สำคัญทางธุรกิจดิจิตอลของเกือบทุกประเทศ แต่ก็เป็นภัยคุกคามทางสังคม และการเมืองเช่นกัน

ที่ล้ำสมัยไปกว่านั้น คือ Apple ได้ร่วมกับ Google ที่จะใช้ smartphone ควบคุมการบินของโดรน (Drone) โดยเชื่อมโยงระบบของ Apple และ Google เข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโดรนในทุกๆ การประยุกต์ใช้งาน เช่น การถ่ายภาพทางอากาศ การถ่ายทอดสด การขนส่งทางการแพทย์ การควบคุมการจราจรจากมุมสูง และการให้บริการด้านความปลอดภัย เป็นต้น และแน่นอนแล้วว่า เทคโนโลยีโดรนกำลังถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจนแล้ว และก็จะเป็นประเด็นด้านความมั่นคงอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้

การเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการข่าวกรองไซเบอร์ระหว่างประเทศ ของสำนักงานความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติของแต่ละประเทศด้วยศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ ซึ่งในเครือข่าย Cybersecurity ระดับนานาชาติ จะสามารถช่วยในการค้นหาเป้าหมาย แหล่งต้นตอการโจมตีได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา และยังมีการแจ้งเตือนแนวโน้มที่จะถูกโจมตีได้อีกด้วย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หน่วยงานความมั่นคงทั่วโลก จึงเปลี่ยน mindset ในด้านการจัดการด้านความมั่นคงของประเทศ โดยปรับโครงสร้าง และวิธีคิด โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งกับภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงาน และร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัทเอกชน เช่น Google, Facebook, Youtube โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารระดับสูงไปเข้าร่วม Cybersecurity forum ต่างๆ ไปจนถึงงานประชุมในทุกระดับ เพราะจาก Best practices ของหลายประเทศพบว่า การเข้าร่วมในฐานะ Partnership นั้น ทำให้เกิดความร่วมมือ และการช่วยเหลือจากบริษัทเหล่านั้นในเชิงลึก ตั้งแต่การช่วยสกัดกั้น content ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ไปจนถึงการให้ข้อมูลเชิงลึกต่อการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดได้โดยง่ายอีกด้วย

ภูมิทัศน์ (Landscape) ของความมั่นคงของชาติได้เปลี่ยนไปแล้วในวันนี้ เส้นเขตแดนของประเทศถูกทำลายลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผู้นำ และผู้บริหารทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) โดยต้องร่วมมือกัน และต้องมองขาดว่า สิ่งที่เรากำลังเผชิญไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเดิมๆ ได้อีกต่อไป
---------------

Reference
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000090939
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Google_Traffic
https://hbr.org/2015/11/the-evolving-cyberthreat
https://www.bloomberg.com/news/articles/2016-12-01/apple-said-to-fly-drones-to-improve-maps-data-and-catch-google
กำลังโหลดความคิดเห็น