xs
xsm
sm
md
lg

คาด ก.พ.2560 ใช้ระบบสแกนลายนิ้วมือระบุตัวตนใช้งานมือถือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ฐากร” เผย ก.พ.2560 เตรียมบังคับผู้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ระบบสแกนลายนิ้วมือยืนยันตัวตน เอื้อความปลอดภัยการใช้งานโมบาย เพย์เมนต์ พร้อมเชิญชวนผู้ใช้งานเดิมโดยเฉพาะเบอร์ที่ใช้โมบาย เพย์เมนต์ ประมาณ 14 ล้านเลขหมาย ใช้งานด้วย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุด ในการยกระดับมาตรการการยืนยันตัวบุคคลผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือด้วยการสแกนลายนิ้วมือว่า ล่าสุด กสทช.อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมเริ่มประกาศให้ประชาชนที่ต้องการเปิดใช้งานซิมการ์ดใหม่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป

เนื่องจาก กสทช.เห็นว่า การลงทะเบียนด้วยระบบลายนิ้วมือเป็นการยืนยันตัวบุคคลได้อย่างชัดเจนมากกว่าการถ่ายสำเนา หรือรูปบัตรประชาชน รวมถึงเพื่อรองรับการใช้งานด้านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (โมบายเพย์เมนต์) ที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยการลงทะเบียนด้วยการสแกนลายนิ้วมือ

ทาง กสทช.จะบังคับให้ดำเนินการเฉพาะการเปิดซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งานโมบายเพย์เมนต์ ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14 ล้านเลขหมาย จาก 110 ล้านเลขหมายในตลาด ทาง กสทช.จะไม่บังคับ แต่กลุ่มดังกล่าว คือ กลุ่มเป้าหมายที่ กสทช.ต้องการโน้มน้าวให้มาลงทะเบียนเพิ่มเติมด้วยการสแกนลายนิ้วมือมากที่สุด

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการลงเบียนลายนิ้วมือ เบื้องต้นจะเปิดให้ดำเนินการผ่านศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ และร้านค้าต่างๆ ที่จำหน่ายซิมการ์ดทุกแห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช.ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ทุกรายเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ประกอบการทุกรายต่างเห็นพ้องในการปฏิบัติตามทั้งหมด

โดยคาดว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะเริ่มในเดือนมกราคม 2560 หลังจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างในการจัดทำระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ แจ้ง กสทช.มาว่า ซอฟต์แวร์จะเสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนมกราคม 2560 ทั้งนี้ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย หรือลูกตู้ ทางโอเปอเรเตอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง ซึ่งเบื้องต้น เชื่อว่าราคาเครื่องสแกนลายนิ้วมือจะไม่สูงมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการที่ กสทช.มีการเพิ่มระบบสแกนลายนิ้วมือ ส่งผลให้ทางผู้ประกอบการจะมีรายจ่ายมากขึ้นนั้น ทางสำนักงาน กสทช.จะมีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาลดการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี ในส่วนที่มีการจัดเก็บเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จากปัจจุบันที่มีการจัดเก็บอยู่ในอัตรา 3.75% จากรายได้รวมต่อปี

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น