เดลล์ เทคโนโลยีส์ เผยผลวิจัย 83% ของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น รู้สึกเหมือนโดนคุกคามจากสตาร์ทอัป และเริ่มเห็นเค้าลางวิกฤตดิจิตอล 1 ใน 2 ของผู้นำกลัวว่า ดิจิตอลสตาร์ทอัปจะทำให้ธุรกิจของตนตกยุคภายใน 3-5 ปี
ทั้งนี้ พบว่า 83% ของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น เชื่อว่าดิจิตอลสตาร์ทอัปดูจะเป็นการคุกคามองค์กรไม่ว่าตอนนี้ หรือในอนาคต สอดคล้องตามผลวิจัยใหม่จากเดลล์ เทคโนโลยีส์ ที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏการณ์ครั้งนี้นับเป็นการขับเคลื่อนบริษัทที่มีนวัตกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า พร้อมเป็นตัวเร่งไปสู่การสิ้นสุดของธุรกิจอื่นที่ไม่มีนวัตกรรมกว่าครึ่ง (52%) ของธุรกิจที่เข้าร่วมการสำรวจกลัวว่า ตัวเองจะตกยุคภายใน 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า จากการแข่งขันกับบรรดาบริษัทสตาร์ทอัปที่ถือกำเนิดจากดิจิตอล (45% ทั่วโลก)
บางบริษัทรู้สึกว่า โดนทำร้ายอย่างแสนสาหัสจากย่างก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 6 ใน 10 (61%) ของผู้นำธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น มีประสบการณ์ในการปฏิรูปครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีดิจิตอล และอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT ส่วนอีก 58% ของธุรกิจในภาคพื้นดังกล่าวยังมองไม่ออกว่า อุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไรต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า
ซึ่งข้อความข้างต้นเป็นผลที่ได้มาจากการสำรวจที่จัดทำโดย Vanson Bourne ซึ่งทำการสำรวจผู้นำธุรกิจ 4,000 ราย จากองค์กรขนาดกลางถึงใหญ่ ครอบคลุม 16 ประเทศ และ 12 อุตสาหกรรม
“อิทธิพลจากการปฏิวัติทางดิจิตอลนำไปสู่การทลายกำแพงระหว่างอุตสาหกรรม และด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทั้งภาครัฐบาล และเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น เราได้เห็นว่า มีดิจิตอลสตาร์ทอัปเกิดขึ้นมากมาย และความล้มเหลวในการคิดค้นนวัตกรรมจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของบรรดาธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในยุคดิจิตอล” อมิต มิดาห์ ประธานฝ่ายธุรกิจคอมเมอร์เชียลประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เดลล์ อีเอ็มซี กล่าว
*** ความก้าวหน้าที่ยังไม่ลงตัว หรือเค้าลางของวิกฤตดิจิตอล
คงไม่ใช่การกล่าวเกินเลย หากจะพูดว่า ความก้าวหน้ายังไปไม่ทั่วถึง เพราะบางบริษัทแทบจะยังไม่ได้เริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิตอลเลย หลายบริษัทใช้วิธีการค่อยๆ เริ่มทีละนิด มีเพียงไม่กี่องค์กรที่ก้าวไปสู่จุดของการปฏิรูปสู่ดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ มีเพียงแค่หนึ่งในสามของธุรกิจทั้งหมดที่ร่วมการสำรวจเท่านั้น ที่กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดีในการสร้างส่วนสำคัญสำหรับธุรกิจดิจิตอล ขณะที่ในอีกหลายธุรกิจมีเพียงบางฟังก์ชันขององค์กรเท่านั้น ที่มีการคิด และทำงานในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งส่วนใหญ่ (77%) ยอมรับว่า การปฏิรูปสู่ดิจิตอลควรทำให้ครอบคลุมทุกส่วนงานทั่วทั้งองค์กร
มีถึง 6 ใน 10 บริษัทที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าในระดับสูงได้ เช่น ความต้องการระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น และช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงทั้งข้อมูล และการบริการตลอดเวลาแบบ 24/7 ได้รวดเร็วขึ้น และเกือบสองในสาม (65%) ยอมรับว่า ไม่สามารถดำเนินการแบบอัจฉริยะได้ในลักษณะเรียลไทม์
“ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น เป็นจุดที่สำคัญที่สุดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ และด้วยความคาดหวังของลูกค้าว่า จะได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ และปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการเฉพาะ เหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนโฉมสู่ยุคดิจิตอล เพื่อให้ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางการแข่งขันได้ แม้ว่าธุรกิจทั่วภูมิภาคกำลังเดินหน้าในเรื่องดังกล่าว แต่ตอนนี้นับเป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งเดินไปสู่การปฏิรูปดิจิตอล โดยเริ่มต้นด้วยการปฏิรูปไอที” เดวิด เว็บสเตอร์ ประธานฝ่ายธุรกิจเอ็นเตอร์ไพร์ซ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เดลล์ อีเอ็มซี กล่าว และว่า ด้วยความต้องการด้านผลิตภัณฑ์ และการบริการยุคดิจิตอลในรูปแบบใหม่ๆ มีเพิ่มมากขึ้น หมายถึงการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนผู้ใช้ และข้อมูลในปริมาณมหาศาล ฉะนั้น การมุ่งเน้นที่การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย รวมถึงการลงทุนเพื่อด้านทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์ จึงเป็นหัวใจหลักสำหรับธุรกิจที่ต้องการมอบคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
ดัชนีการเปลี่ยนโฉมสู่ดิจิตอลของเดลล์ เทคโนโลยีส์ สอดคล้องกับผลวิจัย และจัดอันดับ บริษัททั่วโลกบนพื้นฐานข้อมูลด้านการรับรู้ของผู้ตอบการสำรวจในเรื่องประสิทธิภาพด้านการปฏิรูปองค์กรของตนไปสู่ดิจิตอล ทั้งนี้ จากตัวชี้วัด มีเพียง 5% ของธุรกิจใน 16 ประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจนก้าวสู่กลุ่มผู้นำด้านดิจิตอล ขณะที่มีธุรกิจอีกเกือบครึ่งหนึ่งที่ถือว่าล้าหลัง
1.ผู้นำด้านดิจิตอล (Digital Leaders) 5% การพลิกโฉมสู่ดิจิตอลถูกฝังแน่นอยู่ในดีเอ็นเอของธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ 2.ผู้นำดิจิตอลมาใช้ (Digital Adopters) 14% มีแผนงานดิจิตอลที่ชัดเจน มีการลงทุน และมีนวัตกรรมในองค์กร 3.ผู้ประเมินดิจิตอล (Digital Evaluators) 34% ระมัดระวัง และค่อยๆตอบรับการปฏิรูปสู่ดิจิตอล มีการวางแผน และการลงทุนเพื่ออนาคต 4.ผู้ตามดิจิตอล (Digital Followers) 32% ลงทุนด้านดิจิตอลน้อยมาก และมีแนวโน้มว่า อาจจะเริ่มวางแผนสำหรับอนาคต และ 5.ผู้ตกกระแสดิจิตอล (Digital Laggards) 15% ไม่มีแผนงานด้านดิจิตอล และมีการลงทุน ความริเริ่มที่ค่อนข้างจำกัด
*** แผนฟื้นฟูสู่ดิจิตอล
เรื่องของการคุกคามจากการปรับโฉมธุรกิจที่เกิดขึ้นฉับพลันนั้น บรรดาธุรกิจในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น กำลังเริ่มหาทางแก้ไข และเพื่อเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปทางดิจิตอลโดย 78% เห็นพ้องว่า ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหารจัดการเทคโนโลยีได้จากศูนย์กลางเป็นอันดับหนึ่ง, 70% กำลังวางแผนลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที และความเป็นผู้นำเรื่องทักษะทางดิจิตอล, 73% กำลังขยายขีดความสามารถด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์
ผลจากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น พบว่า การลงทุนด้านไอทีหลักที่มีการวางแผนภายใน 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1.ระบบวิเคราะห์ บิ๊กดาต้า และระบบประมวลผลข้อมูล (Analytics, big data and data processing) (ตัวอย่างเช่น Data Lakes) 2.ระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบควบรวม (Converged infrastructure) 3.เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษ (Ultra-high performance technologies) (ตัวอย่างเช่น แฟลช) และ 4.เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things technologies)
นอกจากนี้ มีหนึ่งในสาม จนถึงสามในสี่ของธุรกิจ ที่สร้างงบกำไรขาดทุนด้านดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ (34%) กำลังเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทสตาร์ทอัป เพื่อนำโมเดลที่ใช้นวัตกรรมแบบเปิดกว้างมาใช้ (34%) มีการแยกส่วนธุรกิจออกมาจากบริษัทเดิม (31%) หรือตั้งใจที่จะเพิ่มทักษะ และนวัตกรรมที่ต้องการโดยการควบรวมกิจการ (27%), มีเพียง 15% ที่วัดความสำเร็จจากจำนวนสิทธิบัตรที่จด และเกือบครึ่ง (46%) กำลังผนวกเอาเป้าหมายด้านดิจิตอลรวมไว้ในวัตถุประสงค์การดำเนินงานของทุกแผนกงาน และเป้าหมายของพนักงาน
“การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิตอลเป็นผลมาจากการผสานพลังของเทคโนโลยีที่หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมที่มีการยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่เข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีต่อธุรกิจ แต่ยังเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างอนาคตขององค์กรเอ็นเตอร์ไพร์ซ ผู้นำระดับสูงทุกคนที่กำลังมองว่า จะลงทุนเพื่อเปลี่ยนโฉมองค์กรสู่ดิจิตอล ต้องเข้าใจถึงภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรม และเข้าใจว่า เทคโนโลยีจะนำพาธุรกิจไปสู่อีกขั้นได้อย่างไร เพื่อให้ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางการแข่งขันได้” แดเนียล นิวแมน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทวิจัย Futurum Research กล่าว