xs
xsm
sm
md
lg

'อาลีบาบา เอฟเฟกต์' ธุรกิจต้องปรับตัว(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แจ็ค หม่า
ความร่วมมือระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอย่าง 'อาลีบาบา' และ 'ซีพี' ด้วยการที่แอนท์ ไฟแนนเชียล (ANT Finacial) ผู้ให้บริการอาลีเพย์ (Alipay) ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับบริการธุรกรรมทางการเงินของอาลีบาบา (Alibaba) เข้าถือหุ้น 20% ในแอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) บริษัทลูกของ แอสเซนด์ (Ascend) ในเครือซีพี สั่นสะเทือนทุกหย่อมหญ้า อีโคซิสเตมส์ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผลบวกที่ทำให้เกิดโอกาส และ ผลลบที่สร้างแรงท้าทายให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งในฝั่งของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม และผู้ที่ค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงธนาคารที่จับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs

แน่นอนว่า การเข้ามาช่วยกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SMEs ที่มีสัดส่วนถึง 90% ในกลุ่มผู้ประกอบการ สร้าง GDP ให้กับประเทศ 30% จะมีโอกาสในการเพิ่มช่องทางจำหน่าย เพราะปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาสามารถครองตลาดโมบายคอมเมิร์ซได้ถึง 80% และธุรกิจ B2B สูงถึงประมาณครึ่งหนึ่งในตลาดจีน

เมื่อมีการค้าขายเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่องจะเป็นกลุ่มโลจิสติกส์รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Reginal hub ให้กับ อาลีบาบา ในประเทศไทย ด้วยนโยบายที่กลุ่มอาลีบาบาจะใช้เป็นศูนย์กลางภูมิภาคสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ชย่อมสร้างประโยชน์ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น ธุรกิจดาต้าเซนเตอร์ ธุรกิจการเชื่อมโยงบริการสื่อสารข้อมูล

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมฟินเทค ตั้งข้อสังเกตว่า การขยายตัวของทั้งอาลีเพย์ และแอสเซนด์ ในภูมิภาคเอเชียจะแตกต่างกัน คือ แอสแซนด์ จะแข็งแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่อาลีเพย์ จะแข็งแรงจากลูกค้าในจีน ทำให้เป็นการเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน เป็นเหมือนพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยกันขยายตลาด

'สิ่งที่ต้องจับตามองคือกลยุทธ์ที่ทั้ง 2 ผู้ประกอบการจะนำมาใช้เพื่อเข้าถึงลูกค้า ว่าทางแอสเซนด์จะเข้าถึงเทคโนโลยีทั้งหมดที่อาลีเพย์มีหรือไม่ เพราะจุดแข็งของอาลีเพย์ ไม่ได้อยู่แค่การชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ แต่ยังรวมถึงการให้บริการสินเชื่อ และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วย'

เทคโนโลยีดังกล่าว เมื่อเข้ามาจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น แต่ถ้าถูกจำกัดในการนำมาใช้เฉพาะแอสเซนด์ และผู้ประกอบการที่เหลือไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็จะทำให้เกิดข้อจำกัดในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายอื่น

ถ้าการให้บริการของผู้เล่นรายใหญ่แข่งแรง ผลกระทบสำคัญคือเหล่าสตาร์ทอัป (Startups) หรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาช่วย โดยเฉพาะในกลุ่มฟินเทค (FinTech) จะมีการเกิดขึ้น หรือประสบความสำเร็จน้อยลง ขณะที่ผู้ให้บริการที่มีในปัจจุบันก็ต้องมีการปรับตัวรับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ด้วยการสร้างจุดเด่นในบริการให้ชัดขึ้น

ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซผู้ประกอบการคนไทย อาจจะไม่มีช่องทางให้จำหน่ายสินค้าที่มาจากจีน เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าจีนผ่านระบบอีคอมเมิร์ซได้ด้วยความสะดวกเช่นเดียวกัน ทำให้สามารถซื้อสินค้าจีนได้ง่ายขึ้น และจะส่งผลกระทบกับตลาดผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่จะไม่มีคนซื้อสินค้า ทำให้ต้องขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพื่อทดแทน

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้คือ กลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช เนื่องจากในกลุ่มธุรกิจนี้เดิมครองตลาดในประเทศไทยและได้มีการเริ่มต้นทำธุรกิจในเวลาใกล้เคียงกับกลุ่มธุรกิจอาลีบาบา เช่นกลุ่ม ตลาดดอทคอมที่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2544 หลังแจ็ค หม่าเริ่มต้นอาลีบาบา เพียงสองสามปี หรือกลุ่ม Dealfish ที่แยกมาจากสนุกดอทคอม (Sanook Shopping) แล้วเปลี่ยนเป็น OLX และ Kaidee ในปัจจุบัน หรืออีกหลายๆ ชอปปิ้งออนไลน์สัญชาติไทย

'ที่ผ่านมาการสนับสนุนจากภาครัฐที่ไม่ชัดเจนและต่อเนื่อง อาจเป็นเหตุให้กลุ่มธุรกิจสัญชาติไทยนี้ไม่สามารถเติบโตและอยู่รอดได้ แต่ในขณะที่แนวนโยบายแห่งรัฐกลับไปสนับสนุนกลุ่มธุรกิจอาลีบาบาจากต่างประเทศ และเสนอให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจของคนไทยกลุ่มนี้นอกจากจะไม่ค่อยโตแล้วยังอาจตายไปในที่สุด'

ถัดมาคือกลุ่มค้าส่ง ค้าปลีก เนื่องจากกลุ่มธุรกิจนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงอยู่แล้วเนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากเดิมที่จะออกไปจับจ่ายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่ในปัจจุบันประชาชนถึงแม้จะยังนิยมไปเดินห้าง แต่การซื้อขายจริงกลับใช้ผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้นด้วยราคาที่ถูกลง การเข้ามาของอาลีบาบาย่อมทำให้กลุ่มธุรกิจนี้เผชิญกับการท้าทายมากขึ้นในเวลาที่สั้นลง ทำให้อาจมีการปรับตัวไม่ทัน และนำไปสู่ความไม่สามารถในการแข่งขันได้ในที่สุด

ขณะที่กลุ่ม Digital Payment Service เนื่องจากการซื้อขายบนแพลตฟอร์มอาลีบาบา มีระบบ e-payment ที่ชื่อ Alipay อยู่ ด้วยการผลักดันการให้ซื้อขายของ SME และ OTOP ไปอยู่บนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา การจ่ายเงินก็มีแนวโน้มไปสู่ Alipay มากขึ้น ผลกระทบก็อาจเช่นเดียวกับผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ชของไทย ที่เปิดบริการมานานแล้ว

'ในส่วนของการทำธุรกรรมออนไลน์ เนื่องจากระบบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมาไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ขณะเดียวกันเมื่อต้องการผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอล กลับเปิดโอกาสให้ระบบ e-payment สัญชาติต่างประเทศ มากกว่าการสนับสนุนระบบ e-payment สัญชาติไทย'

อีกส่วนคือกลุ่มธุรกิจ Big Data หนึ่งในธุรกิจดิจิตอลที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในขณะนี้ เพราะความสำคัญของข้อมูลการซื้อขายบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็น Big Data ชนิดหนึ่ง ข้อมูลการซื้อขายต่างๆของ SME และ OTOP ของไทยก็จะไหลเข้าไปสู่อาลีบาบา

'อาลีบาบามีการนำข้อมูล Big Data เหล่านี้ไปสร้างโอกาสในธุรกิจอื่นๆ เช่น Ant Financial Service สามารถนำข้อมูลการทำธุรกิจของผู้ขายสินค้าและบริการ ที่มีศักยภาพแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินปกติ ที่มีการวิเคราะห์เครดิตอย่างจำกัด มาให้เงินทุนที่มีดอกเบี้ยถูกกว่า'

ที่สำคัญคือการให้บริการสินเชื่อจากข้อมูลธุรกิจเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมาก ดังนั้นธุรกิจ Big Data ของไทยก็ย่อมขาดโอกาสจะนำเอาข้อมูลการซื้อขายออนไลน์นี้มาใช้สร้างผลประโยชน์ต่อเนื่อง เพราะข้อมูลจะเป็นของอาลีบาบาและกลุ่มบริษัทในเครือทั้งหมดแล้ว

ผลกระทบดังกล่าวย่อมส่งผลถึงกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อแก่ธุรกิจ SME/OTOP โดยที่ผ่านมาแม้จะมีนโยบายส่งเสริม SME/OTOP แต่เมื่อมีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อขยายตลาดและเพิ่มขนาดกิจการกลับไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างต่อเนื่อง จากข้อจำกัดในการวิเคราะห์สินเชื่อที่ยึดเอาเรื่องหลักประกันเป็นสำคัญ ไม่ได้วิเคราะห์สภาพการทำธุรกิจเนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก สถาบันการเงินจะเสียต้นทุนสูงสำหรับวิเคราะห์ธุรกิจที่มีขนาดเงินกู้ไม่มาก แต่ผู้ให้บริการซื้อขายออนไลน์จะมีข้อมูลเหล่านี้มากกว่าสถาบันการเงินปกติ เช่นผู้ประกอบการบางรายสามารถขายของได้เป็นอย่างดีบนอาลีบาบา แต่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนการผลิตได้เนื่องจากติดการขอสินเชื่อจากธนาคาร

ทำให้ Ant Financial จะสามารถเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการวิเคราะห์สินเชื่อที่อาศัยข้อมูลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มของอาลีบาบา ดังนั้นสถาบันการเงินที่ยังคงยึดติดกับหลักการให้สินเชื่อแบบเดิม ๆ กับธุรกิจ SME/OTOP จะต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายจาก Ant Financial ที่เป็นบริษัทที่อยู่ในอาณาจักของอาลีบาบา

แหล่งข่าวจาก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ให้บริการเพย์สบายที่เป็นพันธมิตรกับทางอาลีเพย์ในการให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ในไทย ให้มุมมองถึงบริการสินเชื่อผ่านร้านสะดวกซื้อที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะมีทั้งข้อดี และสิ่งที่ควรระมัดระวัง

'ข้อดีของการให้บริการสินเชื่อผ่านจุดให้บริการต่างๆ คือช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินได้สะดวกขึ้น และตอบโจทย์ในแง่ของการให้บริการทางการเงินได้จริงมากกว่าที่ธนาคารให้บริการแก่ลูกค้า แต่ก็จะทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนเข้าถึงง่าย'

ในจุดนี้เชื่อว่าภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาหารือกันเพื่อหามาตรการที่เหมาะสม ในการทำให้การกู้เงินอย่างง่ายๆ ไม่มีผลกระทบกับภาครวมในระยะยาว เพื่อให้ผู้กู้มีวินัยในการกู้เงินมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ไปจำกัดไม่ให้ธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น