xs
xsm
sm
md
lg

เน็ตหมู่บ้าน 'เดี้ยง' เขียนทีโออาร์ใหม่ ??(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการบรอดแบนด์หมู่บ้าน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดำเนินการและอนุมัติกรอบงบประมาณให้ 13,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนก.พ.59 เห็นทีจะ 'ล้มเหลว' ไม่เป็นท่า ไม่เป็นไปตามคำอวดอ้างของรมว.ไอซีทีคนสุดท้าย 'อุตตม สาวนายน' และ 'ทรงพร โกมลสุรเดช' ปลัดกระทรวง ที่ประสานเสียงว่าสามารถเริ่มโครงการได้ไล่ตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็น ส.ค.และสุดท้ายที่ปลายปี 2559 เพราะส่วนที่สำคัญที่สุดคือเงื่อนไขการประกวดราคา หรือ ทีโออาร์ มีปัญหา

แม้ว่าก่อนหน้านี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ท้วงติงมาแล้ว แต่ทั้งปลัดกระทรวงและรมว.ต่างยืนยันเดินหน้าทำทีโออาร์ต่อโดยอ้างว่าได้คุยกับสตง.จนเข้าใจแล้ว แต่สุดท้าย ทีโออาร์ ที่ว่ารอบคอบนั้นก็กลับ 'เดี้ยง' จนเกิดปรากฎการณ์ปล่อยข่าวอ้างว่าที่โครงการนี้ล่าช้าเป็นเพราะบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขาดคุณสมบัติ ส่งเอกสารไม่ครบ หวังโยนปฎิกูลให้ทีโอที ทำให้เกิดความเข้าใจว่ากระทรวงไม่ผิด แต่ทีโอทีต่างหากที่ผิด

จนทำให้ 'ชิต เหล่าวัฒนา' กรรมการบอร์ดต้องส่งข้อมูลทางไลน์กรุ๊ปสื่อมวลชนชี้แจงว่า 1.ทีโอที ไม่ได้ดำเนินการล่าช้า เมื่อทางกระทรวงออกทีโออาร์มาและกำหนดวันในการยื่นข้อเสนอ ทีโอที ก็ได้จัดทำข้อเสนอไปยื่นตามกำหนดเวลา 2.ข้อเสนอที่ทีโอที ยื่นไปนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการยังมิได้แจ้งผลการพิจารณาและมิได้สอบถามข้อมูลใดเพิ่มเติมจากทีโอที

'เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามโยนเรื่องให้ทีโอทีเป็นแพะ ทั้งๆที่ถ้ามองตามเนื้อผ้า กระทรวงเขียนทีโออาร์ไม่เป็นมวย เมื่อโดนสตง.ท้วง ก็ตะแบงไปเรื่อยๆ แต่เมื่อมีรักษาการรมว.ดีอีคนใหม่ รวมทั้งความเห็นของสตง. รวมทั้งข้อเสนอที่ทีโอทียื่นเข้ามา ทำให้อาจเกิดอาการปากกล้าขาสั่น ทางออกที่ดีที่สุดคือล้มการประมูลไป แล้วเขียนทีโออาร์ใหม่ อิงตามคำท้วงติงสตง.เพราะกลัวความผิด แต่เกิดอาการไม่เนียนขึ้น อย่าลืมว่าโครงการขนาดใหญ่กว่าหมื่นล้านบาท ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ ยังไม่นับเรื่องอาจเกิดสงครามตัวแทนเวนเดอร์ 2 สัญชาติในคณะกรรมการ ทำให้เรื่องวุ่นไม่จบอีก แต่ที่โครงการนี้มันลับมากไม่มีข้อมูลรั่วไหล ถ้าไม่ใช่โปร่งใสให้ตรวจสอบทุกขั้นตอน ก็ปากมันเป็นคราบกันไปหมด' แหล่งข่าวที่คลุกคลีงานประมูลภาครัฐให้ความเห็น

*** สตง.ติง 8 ข้อเน็ตหมู่บ้าน

สำหรับสิ่งที่ สตง.ติงโครงการเน็ตหมู่บ้านเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.มีทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่ 1.การลงทุนที่สูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังรอบคอบ แต่กลับใช้งบกลางในหมวดรายจ่ายอื่น กำหนดโครงการไว้ที่ 12 เดือน โดยเพิ่งได้รับงบเมื่อกลางปี 2559 ทำให้ต้องเร่งก่อหนี้ผูกพันให้ทันภายในเดือน ก.ย. 2559 เพื่อไม่ให้งบประมาณตกไป จึงเกิดการดำเนินงานอย่างเร่งรีบ ทำให้เกิดความไม่รอบคอบได้ 2.การดำเนินโครงการดังกล่าวอาจทับซ้อนกับโครงการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ระหว่างปี 2555-2559 ที่ได้จัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ไว้แล้ว เป็นเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 34,806 ล้านบาท (ปัจจุบันมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 323 ล้านบาท ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งให้ชะลอโครงการ และทำข้อตกลงให้กระทรวงการคลังยืมเงินจากกองทุนจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท คงเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)

ดังนั้นการไม่ให้ USO ดำเนินการต่อ อาจขาดความชอบธรรมในการเก็บค่าธรรมเนียมกับเอกชน และอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ไม่ต้องส่งค่าธรรมเนียม USO ได้

3.การดำเนินตามร่างขอบเขตงาน (TOR) ก็ไม่เป็นตามขั้นตอน เนื่องจากมีการนำ TOR ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากผู้มีอำนาจไปจัดทำประชาพิจารณ์ ต่อมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง ทำให้ TOR แตกต่างกัน ผลประชาพิจารณ์ที่ได้รับจึงไม่อาจนำมาใช้ในการพิจารณาได้ นอกจากนี้ ในการติดตั้ง Free Wi-Fi หมู่บ้านละ 1 จุด แต่ไม่มีการกำหนดจุดที่แน่นอน อาจส่งผลให้โครงการล่าช้า และมีปัญหาการบริหารสินทรัพย์เหมือนการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT หรือการเตือนภัยพิบัติของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นหากยังดำเนินการโครงการนี้โดยไม่มีการทบทวนให้รอบคอบ อาจเกิดปัญหาเช่นโครงการที่ผ่าน ๆ มา

4.การกำหนดหมู่บ้านเป้าหมายจากจุดติดตั้ง Existing Node ของทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ไปยังหมู่บ้านในระยะทางไม่เกินกว่า 15 กิโลเมตร โดยนำโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะในส่วนของโครงข่ายใยแก้วนำแสง (OFC) นั้น มีการใช้วิธีคำนวณโดยการประมวลผลโดยระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ซึ่งเป็นการประมวลผลลงบนแผนที่ดิจิตอลในระบบ 2 มิติ ผลการคำนวณอาจไม่สะท้อนระยะทางการวางโครงข่าย OFC อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังไม่ทราบว่าหมู่บ้านเป้าหมายนั้นตั้งอยู่ในภูเขาหรือหุบเขาหรือไม่ หากเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในภูเขาหรือหุบเขาก็อาจไม่สามารถดำเนินการติดตั้งได้ หรือต้องดำเนินการด้วยต้นทุนที่สูงกว่ามาก เมื่อติดตั้งแล้วอาจไม่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดมาให้บริการเชื่อมต่อเข้าบ้านเรือนประชาชน เพราะไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะทำให้การลงทุนเดินสายเคเบิลใยแกวนำแสงไม่เกิดความคุ้มค่าและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

5. ไอซีทีรับทราบข้อจำกัดของพื้นที่ดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการลงไปสำรวจพื้นที่จริง เนื่องจากต้องเร่งดำเนินการ เพื่อก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2559 หากดำเนินการไม่ทันจะทำให้งบประมาณนี้ตกไป ไม่สามารถนำกลับมาใช้ในปี 2560 เนื่องจากไอซีทีได้งบประมาณในหมวดรายจ่ายอื่น ไม่ใช่หมวดงบทุน และหากไม่แล้วเสร็จตามแผนที่ได้ของบประมาณไว้ คือภายใน 12 เดือน ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ การเร่งรีบดำเนินการจึงขาดความรอบคอบ โดยไม่ได้ดำเนินการในส่วนที่สำคัญก่อนมีการก่อหนี้ผูกพัน

6.การคำนวณระยะ OFC เป็นการคำนวณระยะทางจาก Existing Node ไปยังหมู่บ้านเป้าหมายในลักษณะสายส่งของแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น แต่จะไม่รวมถึงระยะทางของสายกระจาย และสายเชื่อมต่อในระดับครัวเรือน ซึ่งการจะให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ต้องมีผู้ประกอบการดำเนินการลงทุนเชื่อมต่อจาก Existing Node ที่เป็น Node สุดท้ายในแต่ละหมู่บ้านไปยังบ้านเรือนของประชาชนที่จะใช้บริการ ซึ่งไอซีทียังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเพียงพอว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดและต้องใช้เวลานานเท่าใด ในขณะที่การสร้างสายส่งมีการเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน แสดงให้เห็นว่าแผนการดำเนินการไม่สอดคล้องกัน หากเร่งดำเนินการวางโครงข่าย OFC ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ มีอายุการใช้งานที่จำกัดและมีการเสื่อมสภาพ การลงทุนอาจสูญเปล่าหรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

7. ไอซีทีได้มอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านเป้าหมาย โดยใช้เป้าหมายจำนวนประมาณ 3 หมื่นราย เทียบกับหมู่บ้านทั่วไทยประมาณ 4 หมื่นหมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 750 คน ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวอาจไม่ใช่ตัวแทนที่ดีและเหมาะสมที่จะสำรวจความคิดเห็นมาใช้ในการกล่าวอ้าง อีกทั้งผลสำรวจสำคัญคือประชาชนเห็นด้วยกับนโยบาย และจะซื้อสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้ส่วนตัวถ้ามีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าสู่หมู่บ้าน มีเพียง 41.1 % แสดงให้เห็นว่า หากประชาชนไม่มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือไม่มีรายได้พอที่จะใช้งานได้ก็อาจทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดมาร่วมบริการ ซึ่งหากไอซีทีให้ ทีโอที และ CAT ดำเนินการ ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงมาก ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้

8. เหตุผลหนึ่งในการขอความเห็นชอบดำเนินโครงการเนื่องจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคม ตามการจัดอันดับของดัชนีความพร้อมใช้ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปี 2558 ประเทศไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 67 เท่าเดิม จากทั้งหมด 148 ประเทศ เนื่องจากขาดความต่อเนื่องในด้านการลงทุนโครงข่าย ดังนั้นการมุ่งมั่นในการสร้าง Global Connectivity เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมมีระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการออนไลน์ จึงจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐต้องดำเนินการ

จากที่กล่าวข้างต้นว่า โครงการดังกล่าวเป็นเพียงการวางโครงข่าย OFC ของแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น การจะให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ต้องมีผู้ประกอบการมาลงทุนเชื่อมต่อโดยการเดินสายกระจาย และสายเชื่อมต่อในระดับครัวเรือน ซึ่งต้องมีการลงทุนอีกจำนวนมาก และต้องมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจนว่าการจะเข้ามาร่วมดำเนินการของผู้ประกอบการจะเป็นรูปแบบใด เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

แต่จากการติดตามสอบถามไอซีทีตอบชี้แจง สตง. ว่า ในระยะต่อไป เมื่อจัดตั้ง NetCo แล้ว โครงข่ายที่จัดสร้างจะเป็นโครงข่ายกลางของชาติบริการจัดการโดยรัฐวิสาหกิจ (ซึ่งอาจโอนส่วนโครงสร้างพื้นฐานของ ทีโอทีและ CAT) ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงข่ายและให้บริการขายส่งเท่านั้น โดยมีแนวทางในการจัดหาเงินลงทุนมาดำเนินการลงทุนขยายโครงข่ายต่อไปจากการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

จากการชี้แจงดังกล่าวจะเห็นว่า ไอซีที ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณารูปแบบของการจัดตั้งต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการ ดังนั้น จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเร่งดำเนินการวางโครงข่ายใยแก้วนำแสงให้เสร็จภายใน 12 เดือน จะไม่สอดคล้องกับระยะเวลาในการดำเนินการจัดตั้ง NetCo ซึ่งจะทำให้โครงข่ายใยแก้วนำแสงที่วางไว้ล่วงหน้าไม่ได้ใช้งาน การให้บริการอินเทอร์เน็ตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ จึงอาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าหรือไม่สอดคล้องกับแผนการต่าง ๆ

ดังนั้น สตง. เห็นว่า รมว.ไอซีที ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานปลัดไอซีที ควรสั่งการให้พิจารณาชะลอ และทบทวนความพร้อมของการดำเนินการตามแผนงานโครงการดังกล่าว โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องใน จ.พิษณุโลก และ จ.หนองคาย ที่ กสทช. ได้สำรวจพื้นที่แล้ว เพื่อนำประเด็นปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขที่ได้รับจาก 2 จังหวัดนำร่อง มาพิจารณาปรับใช้ต่อไป
จากข้อท้วงติงของสตง. ที่ดูเหมือนรัฐบาลก็ตอบรับ จนทำให้ช่วงปลายเดือนก.ย.คสช.สั่งกสทช.เดินหน้าโครงการ USOที่เดิมเคยสั่งให้ชะลอต่อไปได้ และ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงจะนำเงิน USO ไปใช้ก็ได้ โดยปลัดเองก็ยินดีและพร้อมตั้งคณะทำงานร่วมกัน

'ปัญหาโครงการนี้อยู่ที่ ทีโออาร์ ล้าสมัย ขณะที่สเปกของทีโอทีสูงกว่า ทีโอทีไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้ขาดคุณสมบัติ หรือส่งเอกสารไม่ครบ แต่คุณสมบัติไม่ตรงกับทีโออาร์ ที่สำคัญทีโออาร์ ควรเปิดปลายสายให้เอกชนสามารถมาเชื่อมต่อที่ปลายสายได้ง่าย แต่การที่กระทรวงต้องกลับมาทบทวนทีโออาร์ใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่คนทำยังไงก็ต้องเป็นทีโอที เพราะอย่างที่ทราบกันว่า ครม. ต้องให้ทีโอทีทำอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่า แก้เพราะกลัวสตง.หรือไม่ อันนี้ไม่รู้' แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงดีอี ให้ความเห็นน่าฟัง

สุดท้ายโครงการเน็ตหมู่บ้าน โครงการระดับ 1.3หมื่นล้านบาท น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดเจนว่ามือคนละชั้นกัน ระหว่างคนเขียนทีโออาร์ กับ คนยื่นข้อเสนอ เพราะทีโอทีถือว่าเพียบพร้อมมีประสบการณ์ทำโครงการขนาดใหญ่มายาวนานทั้งประสบการณ์ดีบ้างและเลวร้ายบ้าง รับกับยุคไทยแลนด์ 4.0 ในขณะที่ ผู้บริหารกระทวงดิจิทัลฯ แทนที่จะดิจิตอล แต่เป็นได้แค่ อนาล็อก 2.0 หลงยุคตกสมัย น่าสงสารคนในพื้นที่ห่างไกลแทนจะได้ใช้บรอดแบนด์ แต่กลับต้องนั่งบอดแบนด์กันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น