หัวเว่ย ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวโครงการ Huawei Authorized Information and Network Academy (HAINA) มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย เน้นการพัฒนาทักษะด้านไอซีทีแก่นักเรียน นักศึกษา
HAINA เป็นโครงการความร่วมมือที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่หัวเว่ย มุ่งส่งเสริมให้สถาบันการศึกษา และนักศึกษาจากทั่วโลก เข้าร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทางของหัวเว่ย โดยโครงการนำร่องที่ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกอบด้วยหลักสูตร Routing and Switching Technology ครอบคลุมองค์ความรู้พื้นฐานด้านเครือข่าย และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย เช่น พื้นฐานสำหรับเชื่อมต่อเครือข่ายที่นิยมใช้โครงสร้างพื้นฐานของเครือข่าย การแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยในเครือข่าย ตลอดจนการติดตั้ง และการทดสอบการทำงานของระบบอุปกรณ์เราท์ติ้ง และสวิทชิ่งของหัวเว่ย
ความร่วมมือดังกล่าว หัวเว่ย ได้จัดทำห้องปฏิบัติการในโครงการ HAINA และมอบอุปกรณ์ระบบเครือข่ายที่สามารถรองรับการทำงาน Software-Defined Network (SDN) เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจากอุปกรณ์ที่ใช้งานจริงในอุตสาหกรรมไอซีที ส่วน สจล.จะจัดหาอาจารย์ผู้สอนเพื่อเข้าร่วมฝึกอบรมทั้งทางด้านทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อฝึกอบรมแก่นักศึกษา และจัดพิมพ์คู่มือตามโปรแกรมมาตรฐานของ HAINA และด้วยความรู้ และทักษะความชำนาญที่ได้จากการฝึกอบรมนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีขีดความสามารถในการหางานทั้งใน และต่างประเทศได้มากขึ้น
มร.โรบิน หลู รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกับ สจล.ในครั้งนี้จะนำความรู้ และเทคโนโลยีถ่ายทอดให้กับนักศึกษารุ่นใหม่ ช่วยให้มีทักษะในการแข่งขัน และสามารถทำประโยชน์ในอนาคต เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการบรรลุเป้าหมายการเป็นดิจิตอลฮับแห่งภูมิภาคอาเซียน อีกด้วย
ด้าน ผศ. ดร. สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สจล.เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่น และเป็นผู้นำหลักสูตรด้านไอซีทีของประเทศไทย โดยเล็งเห็นความสำคัญในการฝึกอบรมนักศึกษาให้กลายเป็นบุคลากรด้านไอซีทีรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญ โครงการ HAINA นี้จะช่วยส่งมอบทักษะความรู้ และเครื่องมือให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในสาขาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และหวังว่าจะได้ต่อยอดโครงการความร่วมมืออื่นๆ กับหัวเว่ย อีกในอนาคต โดยจะให้ความสำคัญทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อสร้างนักศึกษาที่มีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในสิบสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2020 และได้ชื่อว่าเป็น “Master of Innovation”
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านไอซีทีให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก หัวเว่ย ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกผ่านโครงการ HAINA แล้วมากกว่า 150 แห่ง ฝึกอบรม และจัดสอบวัดระดับความรู้ตามมาตรฐานให้แก่นักศึกษากว่า 5,000 คน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คน เพื่อให้พวกเขาได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทาง และกลายเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในสาขาไอซีทีต่อไป ภายใต้โครงการฝึกอบรมด้านไอซีทีระดับโลกนี้ หัวเว่ย ได้ส่งมอบโซลูชันการเรียนการสอนพร้อมกับเทคโนโลยีไอซีทีอันทันสมัยให้แก่สถาบันการศึกษาเหล่านี้ เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกสามารถก้าวทันการพัฒนาเติบโตของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว