xs
xsm
sm
md
lg

BlackBerry ปิดสายพาน ประกาศเอาต์ซอร์สส่งบริษัทอื่นผลิดสมาร์ทโฟนแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จอห์น เฉิน (John Chen) ซีอีโอ BlackBerry บอกใบ้ช่วงต้นปีว่าหากธุรกิจฮาร์ดแวร์ยังไม่อาจทำกำไรในกันยายนปีนี้ ก็ถึงเวลาที่บริษัทต้องตัดสินใจปิดสายพานการผลิต
ปิดฉากโมเดลธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของแบล็กเบอร์รี่ (BlackBerry Ltd.) ล่าสุด บริษัทประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะหยุดผลิตฮาร์ดแวร์สมาร์ทโฟน เพื่อหันไปให้ความสนใจกับซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง โดยยืนยันว่า แบรนด์ BlackBerry จะยังอยู่กับสมาร์ทโฟนที่ถูกเอาต์ซอร์สไปผลิตที่บริษัทอื่น

การออกแบบ และผลิตเองเป็นการภายในแบบครบวงจร เป็นหนึ่งในหลายสิ่งที่ทำให้ BlackBerry โด่งดังเป็นพลุแตกในช่วง 10 ปีที่แล้ว แต่ด้วยการแข่งขันสุดดุเดือดในตลาด ทำให้ BlackBerry ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอด โดยความเปลี่ยนแปลงนี้ถูก BlackBerry ประกาศในงานแถลงผลประกอบการไตรมาสล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 28 กันยายนี่ผ่านมา

การระบุว่า จะเอาต์ซอร์สงานผลิตสมาร์ทโฟนไปยังพันธมิตรของ BlackBerry นั้น สอดคล้องกับแผนปรับโครงสร้างบริษัทที่จอห์น เฉิน (John Chen) ซีอีโอ BlackBerry เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ เนื่องจากซีอีโอบอกใบ้ช่วงต้นปีว่า หากธุรกิจฮาร์ดแวร์ยังไม่อาจทำกำไรในกันยายนปีนี้ก็ถึงเวลาที่บริษัทต้องตัดสินใจปิดสายพานการผลิต

ซีอีโอเฉิน ดำเนินการตามคำที่พูดไว้ หลังจากกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์พกพา Mobility Solutions ประสบภาวะขาดทุน 8 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ผ่านมา (ราว 277 ล้านบาท)

นอกจากการเอาต์ซอร์สงานผลิตสมาร์ทโฟน BlackBerry ยังประกาศว่า ได้มอบไลเซนส์ให้บริษัทอินโดนีเซีย นำชื่อแบรนด์ BlackBerry ไปผลิต และจำหน่ายในประเทศแล้ว

หลังจากนี้ ธุรกิจหลักของ BlackBerry จะเป็นกลุ่มซอฟต์แวร์
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ถูกมองว่า เกิดขึ้นในวันที่ BlackBerry เสื่อมความนิยม แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มีคีย์บอร์ดดีที่สุดในตลาด และยังมีความปลอดภัยสูงเหมาะกับองค์กรธุรกิจ แต่ BlackBerry ก็สูญเสียตลาดที่สำคัญไป ที่เห็นชัด คือ กลุ่มวุฒิสภาสหรัฐฯ และประธานาธิบดี โอบามา ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของมือถือ BlackBerry อย่างเหนียวแน่น

หลังจากนี้ธุรกิจหลักของ BlackBerry จะเป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ สมาร์ทโฟนของบริษัทจะเน้นพัฒนาบนแอนดรอยด์ (Android) โดยบริการรับส่งข้อความบีบีเอ็ม (BBM) ยังมีความสำคัญ และแพลตฟอร์มคิวเอ็นเอ็กซ์ (QNX) จะถูกต่อยอดเพื่อใช้เป็นระบบปฏิบัติการในรถขับเคลื่อนตัวเองให้มากขึ้น ขณะที่ระบบปฏิบัติการที่บริษัทพัฒนาเองอย่าง BB10 OS จะค่อยๆ เลือนหายไป

ซีอีโอ BlackBerry ย้ำว่า ธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้บริษัทได้สูงที่สุด โดยไตรมาสล่าสุด รายได้จากธุรกิจซอฟต์แวร์ของ BlackBerry เติบโตมากกว่า 89% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยรายได้รวมของบริษัทช่วงมิถุนายน-สิงหาคม 2016 คือ 352 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น